รีเซต

ยะลายังอ่วม บ้านท่าสาป น้ำเพิ่มสูงต่อเนื่อง รถเล็กสัญจรผ่านไม่ได้ - นราธิวาสท่วมหนัก

ยะลายังอ่วม บ้านท่าสาป น้ำเพิ่มสูงต่อเนื่อง รถเล็กสัญจรผ่านไม่ได้ - นราธิวาสท่วมหนัก
มติชน
8 มกราคม 2564 ( 10:54 )
87

ยะลายังอ่วม บ้านท่าสาป ระดับน้ำเพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่อง รถเล็กสัญจรผ่านไม่ได้ – นราธิวาสฝนตกต่อเนื่อง 6 วัน น้ำท่วมหนัก ปชช. ต้องขนของหนี

 

วันนี้ 8 ม.ค 64 สถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่จังหวัดยะลา เริ่มขยายเป็นวงกว้าง ในพื้นที่ลุ่มต่ำริมแม่น้ำปัตตานี ที่ ต.ท่าสาป ต.ยุโป ต.ตาเซะ ในเขตอ.เมืองยะลา น้ำได้เอ่อล้นเข้าท่วมพื้นที่บ้านเรือนของชาวบ้าน พื้นที่ทางการเกษตร และเส้นทางที่จะเข้าสู่ตัวเมืองยะลา ทำให้รถเล็กไม่สามารถผ่านได้ บริเวณถนนสายยะลา-บ้านเนียง เนื่องจากน้ำมีระดับที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ต้องเบี่ยงใช้เส้นทางลัด ยะลา-ลำใหม่ ขณะที่ชาวบ้านในพื้นที่ ต.ท่าสาป หมู่ที่ 1,2,3,4,5,6 ได้รับความเดือดร้อน ชาวบ้านต้องอพยพมาอยู่ริมถนนสาย 418 หน่วยงานภาครัฐ สำนักงานสรรพากรจังหวัดยะลา ได้ทำครัวอาหาร ข้าวกล่อง ไข่เจียว แจกชาวบ้านเพื่อบรรเทาความเดือดร้อน จำนวน 200 กล่อง

 

กองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดยะลา ได้สรุปรายงานพื้นที่ประสบอุทกภัยน้ำท่วม ดินสไลด์ ตั้งแต่วันที่ 5-7มกราคม 2564 จังหวัดยะลามีพื้นที่ประสบอุทกภัย จำนวน 8 อำเภอ 52 ตำบล 26 หมู่บ้าน 7 ชุมชน ประชาชนได้รับผลกระทบ 12,139 ครัวเรือน 48,909 คน (อพยพ40ครัวเรือน 118 คน) เสียชีวิต 1 ราย ที่อำเภอรามัน บ้านเรือนได้รับความเสียหายบางส่วน 8 หลัง สิ่งสาธารณะประโยชน์ได้รับความเสียหาย ถนน 51 สาย สะพาน 11แห่ง ฝ่าย 1 แห่ง ท่อระบายน้ำ 6 แห่ง พื้นที่การเกษตร 1,528 ไร่ ปศุสัตว์ 1,501 ตัว และบ่อปลา 10 บ่อ (สถานการณ์คลี่คลายแล้ว 1 อำเภอ คือ อำเภอกาบัง 2 ตำบล 19 หมู่บ้าน)

 

 

ขณะเดียวกัน ผู้สื่อข่าวรายงานสถานการณ์น้ำท่วมที่จังหวัดนราธิวาส หลังอิทธิพลของลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือ กำลังแรงพัดปกคลุมอ่าวไทยและพื้นที่ จ.นราธิวาส ตั้งแต่วันที่ 2 มกราคม 63 ส่งผลทำให้มีสภาวะฝนตกลงมาอย่างหนักในพื้นที่ทั้ง 13 อำเภอ ของ จ.นราธิวาส เป็นเวลา 6 วันติดต่อกัน อาจทำให้เกิดน้ำป่าไหลหลากในพื้นที่ราบเชิงเขาน้ำท่วมขังในพื้นที่ลุ่มต่ำ และแม่น้ำ 3 สายแม่น้ำสายบุรี แม่น้ำสุไหงโก-ลกและแม่น้ำบางนรา เอ่อล้นตลิ่งเพิ่มขึ้น ระดับน้ำในแม่น้ำสุไหงโกลก ที่สะพานสุไหงโกลกเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องทำให้น้ำสูงกว่าตลิ่ง 2.05 ม. แม่น้ำสายบุรี ที่บ้านท่าเรือ อ.รือเสาะ ระดับน้ำสูงกว่าตลิ่ง 0.04 ม. และแม่น้ำบางนรา ที่บ้านตันหยงมัส อ.ระแงะ ระดับน้ำสูงกว่าตลิ่ง 1.01 ม.

 

ส่วนพื้นที่บ้านศาลาวดี ต.ละหาร อ.ยี่งอ จ.นราธิวาส ซึ่งเป็นที่มีสภาวะน้ำท่วมขังสูงเป็นประจำทุกปี ชาวบ้านต้องลุยน้ำเข้าออกในหมู่บ้านรถจักรายนต์ไม่สามารถไปได้ และยังมีน้ำเข้าบ้านชาวบ้านต้องต้องเข้าของไว้ที่สูง

แต่ถึงอย่างไรก็ตามสภาวะน้ำท่วมขังบ้านเรือนของประชาชนในครั้งนี้ ยังมีทีท่าและแนวโน้มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง หากมีสภาวะฝนตกลงมาอย่างหนักในช่วงระยะนี้

 

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง