รีเซต

อีก 3 วัน โควิดไทยทะลุหมื่น! หมอประสิทธิ์ชี้โอมิครอนไม่แรง แต่อย่าวางใจ!

อีก 3 วัน โควิดไทยทะลุหมื่น! หมอประสิทธิ์ชี้โอมิครอนไม่แรง แต่อย่าวางใจ!
มติชน
5 มกราคม 2565 ( 14:00 )
69

เมื่อวันที่ 5 มกราคม ศ.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ให้สัมภาษณ์ถึงการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอน ในประเทศไทย ว่า ขณะนี้ทั่วโลกพบเชื้อโอมิครอนมากว่า 5 สัปดาห์แล้ว เชื่อว่าหลายประเทศรับรู้ธรรมชาติของโรคแล้วว่าอาการไม่รุนแรง โจมตีในระบบทางเดินหายใจส่วนบนมากกว่าปอด ดังนั้น หลายประเทศก็ใช้วิธีการรักษาที่บ้านมากกว่าในโรงพยาบาล (รพ.) ยกเว้น กรณีอาการรุนแรงจริงๆ ต้องเข้า รพ.เท่านั้น

 

ศ.นพ.ประสิทธิ์ กล่าวว่า เราเรียนรู้ความจริงของโอมิครอน 5 อย่าง คือ

1.กระจายเชื้อเร็ว อย่างน้อย 3 เท่าของเชื้อเดลต้า ตัวเลขติดเชื้อตอนนี้ก็ยืนยันแล้ว โดยเฉพาะหลังปีใหม่ที่มีนิวไฮท์ (New high) ในหลายประเทศ

 

2.อาการ ผู้ติดเชื้อส่วนใหญ่อายุไม่มาก อาการไม่รุนแรง หรือไม่มีอาการ เนื่องจากผู้สูงอายุส่วนใหญ่ทั่วโลกรับวัคซีนมากแล้ว โอกาสติดเชื้อแล้วเข้า รพ. หลายประเทศรายงานว่าอัตราอยู่ที่ 1 ใน 3 ถึง 1 ใน 2 ของการติดเชื้อเมื่อเทียบกับเชื้อเดลต้า

 

3.พยาธิสภาพของไวรัส เกิดการติดเชื้อระบบทางเดินหายใจส่วนบน โอกาสลงปอดน้อยกว่าเชื้อเดลต้า เป็นเหตุผลที่ความรุนแรงน้อยลง แต่แพร่เชื้อได้ดี เพราะติดเชื้อทางเดินหายใจส่วนบน ที่เกิดอาการไอ จาม ซึ่งแพร่เชื้อได้มากขึ้น

 

4.วัคซีนที่ฉีดทุกชนิดเพียง 2 เข็ม ไม่พอในการป้องกันเชื้อโอมิครอน ซึ่งทั่วโลกเริ่มออกมาประกาศเร่งฉีดเข็มกระตุ้น

 

5.ยารักษา ซึ่งมีรายงานออกมาว่า มียาบางตัวที่อาจตอบสนองเชื้อโอมิครอนได้ไม่ดีนัก แต่ยาส่วนใหญ่ยังได้ผลดี รวมถึงยาฟาวิพิราเวียร์ โมลนูพิราเวียร์ ซึ่งเป็นยาในตระกูลยาต้านไวรัสพิราเวียร์ ยังได้ผลดี

 

“ความน่ากังวลใจมากสุดตอนนี้คือ 1.ระบาดเร็ว ซึ่งต้องระวังการกลายพันธุ์ที่อาจไปพบในจุดที่ทำให้โรครุนแรงขึ้น แม้ตามหลักการแล้วจะมีโอกาสเกิดขึ้นได้น้อยลงไปเรื่อยๆ แต่ต้องระวัง 2.เมื่อติดเชื้อมาก ก็จะพบสัดส่วนผู้อาการรุนแรงมากขึ้น และต้องเข้ารักษาใน รพ. ก็จะเริ่มกลับมากระทบระบบสาธารณสุขของประเทศนั้นๆ ดังนั้น เราไม่อยากให้แพร่กระจายมาก” ศ.นพ.ประสิทธิ์ กล่าว

 

ศ.นพ.ประสิทธิ์ กล่าวว่า ไม่อยากให้สังคมตื่นตระหนก แต่ก็ไม่อยากให้ผ่อนคลายมากเกินไป เชื่อว่าไม่เกิน 1 สัปดาห์นี้ ไทยจะพบการติดเชื้อใหม่ทะลุหมื่นรายแน่นอน และภายในปลายเดือนนี้ จะเห็นตัวเลขวันละ 2-3 หมื่นราย

 

“อีก 3-4 วัน เราก็เกินหมื่นรายต่อวัน แต่บางคนอาจมองว่าไม่เห็นตัวเลขเสียชีวิตจะเพิ่ม อาจประมาท นี่เป็นสิ่งอันตราย ซึ่งคิดแบบนี้ไม่ได้ เพราะไม่รู้ว่าตัวเองจะติดเชื้อแล้วเสียชีวิตหรือไม่ ที่สำคัญคือ คนรอบข้างที่อาจติดเชื้อจากตัวเอง แล้วเสียชีวิตได้เช่นกัน” ศ.นพ.ประสิทธิ์ กล่าว

 

ศ.นพ.ประสิทธิ์ กล่าวต่อไปว่า ตัวอย่าง 2 ประเทศ คือ สหราชอาณาจักร พบว่า ประชากรได้รับวัคซีนเข็มแรกร้อยละ 90 ได้รับ 2 เข็ม ร้อยละ 83 และได้รับ 3 เข็มอีก ร้อยละ 60 แล้วแต่ปรากฏว่าพบติดเชื้อวันละกว่า 2 แสนราย ขณะที่ แอฟริกาใต้ ฉีดวัคซีนน้อยแต่เริ่มคุมสถานการณ์ดีขึ้น ผู้ติดเชื้อลดลง ฉะนั้น สิ่งที่ต้องย้ำคือวัคซีนมีประโยชน์แต่ต้องคู่กับมาตรการสังคม การป้องกันตัวเอง สวมหน้ากากอนามัย เว้นระยะห่าง และล้างมือ เป็นสิ่งที่ยังต้องทำ ยังจำเป็น เพราะสถานการณ์ตอนนี้ยังวางใจไม่ได้เด็ดขาด

 

“ไม่มีใครรู้ว่า เมื่อตัวเองรับเชื้อเข้าไปแล้ว จะไม่เสียชีวิต ดังนั้น ไม่ควรเสี่ยง เพราะตัวเราสามารถลดโอกาสเสี่ยงนั้นได้ ด้วยการฉีดวัคซีนและป้องกันตัวเอง เพื่อให้เราปลอดภัย” ศ.นพ.ประสิทธิ์ กล่าว

 

ผู้สื่อข่าวถามว่า ในขณะนี้มีบางประเทศกำหนดแนวทางรักษาผู้ป่วยโควิด-19 หากรับวัคซีนอย่างน้อย 2 เข็ม แล้ว ไม่จำเป็นจะต้องเข้ารักษาในระบบ รพ. ศ.นพ.ประสิทธิ์ กล่าวว่า เราก็อยู่ในรูปแบบนี้เช่นกัน เนื่องจากเชื้อโอมิครอนแพร่เร็ว หากทุกรายต้องเข้า รพ. เตียงจะรองรับไม่พอ เพราะสถิติติดเชื้อถูกทำลายทุกวัน เมื่อวันที่ 4 มกราคม 2565 ทั่วโลกพบผู้ติดเชื้อ 2.5 ล้านราย มากเกือบ 2 เท่า ในสมัยเชื้อเดลต้าแพร่กระจาย โดยส่วนใหญ่ผู้ติดเชื้อมีอาการน้อยหรือไม่มีอาการ ฉะนั้น เราสามารถดำเนินการในระบบแยกกักที่บ้าน (Home Isolation) หรือ ศูนย์พักคอยในชุมชนได้ (Community Isolation) เพื่อให้ รพ.รักษาผู้ป่วยโรคอื่นได้ใกล้เคียงปกติมากที่สุด

 

“ย้ำว่า หากตรวจ ATK แล้วให้ผลบวก ก่อนจะรักษาเองที่บ้าน ต้องรายงานข้อมูลเข้าระบบของกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ทั้งสายด่วน 1330 หรือช่องทางต่างๆ เพื่อให้มีระบบส่งต่อหากอาการรุนแรงขึ้นภายหลัง โดยเฉพาะผู้ยังไม่รับวัคซีนหรือยังรับไม่ครบ ก็มีความเสี่ยงที่เมื่อติดเชื่อแล้วอาการของโรคจะรุนแรง”

 

“เพราะต้องเข้าใจว่าเชื้อในไทยส่วนใหญ่ยังเป็นเชื้อเดลต้า ที่มีผลตรงกับปอดอาการรุนแรงได้ ผู้รับวัคซีนครบ ตรวจ ATK พบว่าติดเชื้อ แต่ไม่มีอาการอะไร ก็ไม่มีความจำเป็นต้องรักษาใน รพ. แม้กระทั่งครั้งที่เราเจอเชื้อเดลต้า ตรวจ ATK บวก เราก็ยังทำ HI ไม่ต้องทำ RT-PCR ด้วยซ้ำ เพียงแต่ต้องแจ้งเข้าระบบมาเท่านั้น” ศ.นพ.ประสิทธิ์ กล่าว

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง