รีเซต

หมอเลี๊ยบ ปลุกคนไทย เลิกกลัวโควิด เผยเรื่องที่หนักกว่า อีก 150 วัน!

หมอเลี๊ยบ ปลุกคนไทย เลิกกลัวโควิด เผยเรื่องที่หนักกว่า อีก 150 วัน!
ข่าวสด
19 มิถุนายน 2563 ( 10:10 )
166

 

วันนี้ (19 มิ.ย.) แฟนเพจ CARE คิด เคลื่อน ไทย เผยแพร่บทความ ซึ่งถอดมาจากสปีชของ น.พ.สุรพงษ์ สืบวงค์ลี อดีตรองนายกรัฐมนตรี และ รมช.สธ. ที่กล่าวบทเวทีการเปิดตัวของกลุ่มแคร์ เมื่อวันที่ 17 มิ.ย. โดยบทความดังกล่าวดังกล่าว ชี้ให้เห็นถึงสภาวะประเทศไทย ในอีก 150 วันต่อจากนี้ ซึ่งหนัก พร้อมทั้งยกสถิติตัวเลขของการแพร่ระบาดโควิด ในแต่ละประเทศ ซึ่งมีความแตกต่างกันอย่างมาก โดยมีใจความ ดังนี้

 

เส้นตาย 150 วัน ที่เพื่อนร่วมชาติสิ้นเนื้อประดาตัว จากความกลัวโรคๆหนึ่ง? : มีคีย์เวิร์ดอยู่ 5 คำ คำแรก คือความเศร้า คำที่สอง คือความกลัว คำที่สาม คือความหวัง คำที่สี่ คือความเชื่อมั่น คำสุดท้าย คือปัญญา

 

ผมคิดว่าวันนี้เราไม่รู้ว่าอะไรจะเกิดขึ้นใน 150 วันข้างหน้า ซึ่งจะชี้ชะตาประเทศไทย เพราะว่าไม่เคยมีใครเจอวิกฤตครั้งไหนเลย ที่เกิดขึ้นกับทั้งการเมือง เศรษฐกิจ สุขภาพ และสังคม ซึ่งมาโดยมิได้นัดหมายพร้อมๆ กัน เราอาจจะเคยมีปัญหาทางการเมือง ที่แตกแยกมากกว่า 10 ปี เราอาจจะมีปัญหาเศรษฐกิจที่เหลื่อมล้ำมา 5-6 ปี แต่ปัญหาสุขภาพอย่างโควิด เราอาจจะไม่เคยเจอมาก่อนในรอบ 100 ปี ซึ่งหลายท่าน อาจมึนงง

 

เมื่อ 102 ปีที่แล้ว พ.ศ.2461 ประเทศไทยมีประชากรเพียง 8.4 ล้านคน เราเป็นไข้หวัดสเปน โดยมีคนที่ป่วยจากไข้หวัดสเปน 2.3 ล้านคน หรือ 28% ของประชากรทั้งประเทศ มีคนเสียชีวิตกว่า 80,000 คน หรือประมาณ 3.46%

และนี่คือสิ่งที่เราเจอมาก่อนเมื่อ 102 ปีที่แล้ว ตอนนั้นปัญหาหลักที่เราเจอ อาจจะเป็นเรื่องความยากลำบากในการดำรงชีวิต แต่เรื่องเศรษฐกิจ ณ เวลานั้น เรื่องการส่งออก เรื่องการท่องเที่ยว ยังไม่ได้เป็นปัจจัยหลักในการพัฒนาเศรษฐกิจของไทย

แต่ ณ วันนี้ วิกฤตโควิด มันถูกตามมาด้วย วิกฤตเศรษฐกิจซึ่งรออยู่ข้างหน้าอีก 150 วัน และไม่ใช่ปัญหาของประเทศเราเพียงประเทศเดียว ผมเชื่อว่าหลายประเทศส่วนใหญ่ ยังวนอยู่ในเขาวงกต ยังมึนงงว่าไม่รู้จะไปอย่างไรต่อไป

 

เพราะเรื่องโควิด เรารู้กันมาเพียงแค่ 8 เดือน ตั้งแต่เดือน พ.ย. ปลายปี 2562 ช่วง 8 เดือนที่ผ่านมา เราเรียนรู้ขึ้นเรื่อยๆ ว่า ไม่มีใครรู้จริงเรื่องโควิด ไม่มีใครเชื่อว่าสิ่งที่ตัวเองพูด เป็นความจริง หรือสัจธรรม ฉะนั้น ผมอยากจะทบทวนว่า เราเจออะไรกับโควิด ในช่วง 8 เดือน ที่ผ่านมา

อันแรก คือ อัตราการตาย ไม่มีใครรู้แน่ชัดว่าจริงๆ แล้วอัตราตายของโควิดเป็นเท่าไหร่ อัตราตายของทั้งโลกตอนนี้อยู่ที่ 9 % แต่อัตราตายในยุโรปบางประเทศ เช่น อังกฤษ และ อิตาลี่ มีถึง 14% อัตราการตายของประเทศไทยนั้น อยู่ที่ 1.8%

แต่มีบางประเทศ เช่น สิงคโปร์ และ การ์ต้า สิงคโปร์มีผู้ป่วยโควิดกว่า 40,000 คน แต่มีผู้เสียชีวิตเพียง 26 คน คิดเป็น 0.06% การ์ต้ามีผู้ป่วยประมาณ 82,000 คน แต่มีผู้เสียชีวิต 80 คน หรือ 0.09% เกิดอะไรขึ้นกับโรคโรคหนึ่ง ที่อัตราการตาย ต่างกันมากเป็นร้อยเท่า

 

อันที่สองก็คือการแพร่กระจายของโควิด วันนี้ไม่มีใครรู้ว่า การแพร่กระจายของโควิดในประเทศไหน ที่แพร่กระจายได้มากขนาดนั้น แต่ในขณะที่บางประเทศกลับแพร่กระจายได้น้อย ปัญหาเกี่ยวกับเรื่องอุณหภูมิความร้อน เรื่องความชื้นสูง เรื่องความร้อนสูง เรื่องรังสี UV การฉีดวัคซีน BCG หรือไม่ เรื่องกรุ๊ปเลือด สารพัดเรื่อง เต็มไปหมดเลย ไม่มีใครรู้จริงๆ แต่สิ่งหนึ่งที่รู้แน่ๆ คือ หากเราป้องกันไม่ให้มีการติดเชื่อโควิด เข้าสู่ ตา จมูก และ ปาก โดยการใส่หน้ากากอนามัย หรือ Face child และล้างมือสม่ำเสมอ นั่นเป็นหลักประกันที่เราเชื่อว่าน่าจะเป็นไปได้

การรักษา วันนี้ก็ไม่มีใครรู้ว่ายาตัวไหนได้ผลบ้าง มีทั้งฟาวิพิราเวียร์ มีเรมเดซีเวียร์ ล่าสุดมียาต้านการอับเสบ รักษาเกี่ยวกับเซลล์ ในเส้นเลือด หรือเมื่อเช้านี้ ก็มีเรื่องเกี่ยวกับ สเตียรอยด์ เดกซาเมทาโซน เรากำลังงงว่า ตกลงไวรัสโควิด มันไปทำลายปอด หรือไปทำลายเซลล์ในเส้นเลือด เพราะฉะนั้น หากในวันในวันหนึ่ง เราพบตัวยาที่ทำให้อัตราการตายมันน้อยมาก ความกลัวเรื่องโควิด ก็จะหมดไป เหมือนกับเรื่องไข้หวัดนก ซึ่งพอเราเจอ โอเซลทามิเวียร์ เราก็ไม่กลัวไข้หวัดนกอีก

 

วัคซีน ไม่มีใครรู้ว่าวันนี้มันจะเกิดขึ้นหรือไม่ หรือมันอาจจะไม่เกิดขึ้นเลยก็ได้ มีการพูดกันมากมายในเรื่องของการระบาดรอบ 2 ซึ่งผมอยากจะเรียนว่า ณ วันนี้ ไม่มีประเทศไหน มีการระบาดรอบ 2 อย่างจริงจัง ถ้าเรานิยามว่าการระบาดรอบแรก คือการระบาดแบบฉับพลัน หรือ Exponential และ สุดท้ายสามารถควบคุมได้ และกลับสู่สภาวะโลกสงบ และ สัก 3-4 เดือน ก็เกิดใหม่ อันนั้นคือนิยามของไข้หวัดสเปน เมื่อ 102 ปีที่แล้ว และ 102 ปีที่ผ่านมา ไม่มีโรคระบาดใด ที่ระบาดรอบ 2 และรุนแรงเท่าไข้หวัดสเปน

ซึ่งสมมติฐานของกรณีนี้ มีอยู่ว่า ไข้หวัดสเปนที่ระบาดมาก เพราะเป็นภาวะการกระจายข้อมูลข่าวสาร มีน้อยมาก ในภาวะที่เกิดสงครามโลก ครั้งที่ 1 เพราะว่าคนที่ติดเชื้ออย่างรุนแรง ถูกเคลื่อนย้าย เนื่องจากอยู่ในภาวะสงคราม ทำให้มีการแพร่กระจายในระหว่างเคลื่อนย้าย

แต่ ณ เวลานี้ คนที่ติดเชื้อรุนแรงจาก โควิด19 เราเก็บไว้ในโรงพยาบาล เพราะฉะนั้น ปัจจัยระบาดรอบ 2 อาจจะไม่เกิดขึ้นเลย เพราะเรากำลังเรียนรู้ว่า เราควบคุมโควิด19 ได้อย่างไร เราสามารถจะสร้างเครือข่าย อสม. เราสามารถจะสร้างโรงพยาบาล ให้รองรับผู้ป่วยที่เกิดขึ้นได้

เพราะฉะนั้น เราจะกลัวอะไร หากมีการระบาดในรอบต่อไป?

เคยมีการคำนวณว่า ผู้ป่วยโควิด19 มี 5% ที่อาศัยอยู่ใน ICU แล้วถ้าอยู่ใน ICU 6 สัปดาห์ หากไม่เสียชีวิต ก็สามารถจะออกจาก ร.พ.ได้ ถ้าคำนวณหลักการอย่างนั้น หากวันนี้เรามี ICU 100 เตียง เราสามารถที่จะรองรับผู้ป่วยใหม่ได้วันละ 50 คนต่อวัน ใน กทม./ปริมมณฑล เรามี ICU 200 กว่าเตียง เพราะฉะนั้น หากระบาดใหม่ ก็ไม่เกินความสามารถของแพทย์ไทยเราที่สามารถจะทำได้ งั้นคำถามก็คือว่า "วันนี้เรากลัวอะไร?"

ตอนนี้เรามีผู้ป่วยโควิด (17 มิ.ย.) 3,135 คน เสียชีวิต 58 คน รักษาใน ร.พ. 58 คน และมีคนที่มีอาการรุนแรงเพียง 1 คนเท่านั้น นี่คืออาการของโรคโควิด ถ้าหากเราใช้ค่ารักษาพยาบาลต่อคน 1 ล้านบาท 3,000 คนก็ประมาณ 3,000 ล้าน ซึ่งจริงๆ ไม่ถึงหรอก เพราะ 1 ล้านบาท คือผู้ป่วยหนักแบบ ICU ผู้ป่วยที่ไม่หนัก 80% จะใช้เงินน้อยกว่านั้นมาก แต่เรากำลังจะบอกว่า เราใช้เงิน 3,000 ล้านในการรักษาพยาบาล และ 3,000 ล้านสำหรับหาผู้ป่วยโควิด รวมๆ แล้วผมให้ไม่เกิน 10,000 ล้าน

แต่สิ่งที่เราแลกมาก็คือ เศรษฐกิจจากการท่องเที่ยว 20% ของ GDP แต่ละเดือน เมื่อการท่องเที่ยวหยุด เราเสียงบประมาณจากการท่องเที่ยว 260,000 ล้านบาท ในเดือนนั้น เราปิดการท่องเที่ยวมา 2-3 เดือน คำนวนมาแล้วเป็นเท่าไหร่ ฉะนั้น ผมอยากเรียนว่า 150 วันข้างหน้า สิ่งที่เราจะเห็นนอกจากเศรษฐกิจตกต่ำ ร้านค้า โรงแรมปิด การท่องเที่ยวชะงัก คนตกงาน คนที่ให้เช่า ก็ไม่ได้ค่าเช่าอีก ธนาคารอาจมีคนไม่มาจ่ายเงินกู้ให้อีก NPL อาจจะเกิดขึ้น

คำถามเราคือ "ควรจะทำอย่างไร?"

ปัญหาสำคัญที่สุดของเราวันนี้ คือ "เรากลัว" ทุกคนกลัว ทุกคนบอกให้กลัว กลัวโรคๆ หนึ่ง ที่วันนี้มีผู้ติดเชื้อ 3,000 กว่าคน โรคๆ หนึ่งซึ่งเสียชีวิตเพียง 58 คน โรคๆ หนึ่งที่วันนี้มีคนที่อาการหนักใน รพ.เพียงแค่คนเดียว ความกลัวตอนนี้ ไม่ใช่มีอยู่ในแค่ประเทศไทย แต่ถูกแพร่กระจายไปทั่วทั้งโลกด้วย แต่มีประเทศหนึ่ง คือ โปรตุเกส ซึ่งมีผู้ป่วยใหม่เป็นร้อยคน แต่เปิดรับนักท่องเที่ยว โดยไม่มีเงื่อนไขเลย ในการกักตัว 14 วัน ตั้งแต่วันที่ 1 มิ.ย. และผ่านมา 17 วัน ไม่มีการเพิ่มขึ้นของผู้ป่วยอย่างมีนัยยะสำคัญ

ตัวเลขเหล่านี้ ทำให้เราต้องมาคิดต่ออีกว่า "เรากำลังทำอะไรกันอยู่?"

ผมว่าวันนี้เรามี "กับดัก" อยู่ 3 ตัว ตัวแรกคือความกลัว ตัวที่สองคือความเชื่อแบบผิดๆ ตัวที่สามคือการเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน และเอาความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านนั้น มาเป็นตัวกำหนด ให้ทุกๆ คนต้องเชื่อตามนั้น ผมอยากจะไปถึง Dunning-Kruger Effect คือทฤษฎีทางจิตวิทยาที่ได้รับความเชื่อถือมากที่สุดทฤษฎีหนึ่ง

เขาบอกว่าคนที่ไม่รู้ มักจะเชื่อมั่นตัวเองมาก เมื่อไม่รู้ เชื่อมั่นตัวเอง ก็จะทำในสิ่งที่ตัวเองเชื่อ สุดท้ายแล้ว ความเชื่อสูงมาก แต่รู้น้อย อยู่บน "ยอดเขาแห่งความโง่เขลา" เมื่อไหร่ที่ตกลงมาแล้วเจ็บ มีผลสะเทือน เราจะกลับมาสู่ "หุบเหวแห่งความสิ้นหวัง" จากนั้น จะค่อยๆ สรุปได้ว่า "เราไม่รู้อะไรอีกมาก" และค่อยๆไต่ ค่อยๆหาความรู้ ผ่าน "เนินแห่งความรู้แจ้ง" เพื่อไปสู่ "ที่ราบสูงแห่งความยั่งยืน"

ผมอยากเรียนว่า สิ่งที่เราต้องทำวันนี้คือ ต้องเลิกกลัว เลิกที่จะเชื่อความเชื่อผิดๆ และก็ต้องพยายามที่จะหาทางออกใหม่ๆ

ผมคิดว่าทางออกใหม่ๆ ตอนนี้ ไม่มีสูตรสำเร็จหรอกว่า เราจะแก้อะไรภายใน 150 วันข้างหน้า เพราะเรื่องราวทั้งหมดนี้ มันก็จะเหมือนโควิด วิกฤตเศรษฐกิจ ที่จะเกิดขึ้นใน 150 วันข้างหน้า ไม่เคยผ่านอะไรมาก่อน อย่างน้อยก็ในรุ่นของเรา เราไม่รู้ว่ามันจะเกิดอะไรขึ้น เพราะฉะนั้น ถ้าหากทำแบบเดิม

ไอสไตล์เคยบอกไว้ว่า "ถ้าหากทำซ้ำแบบเดิมๆ แล้วพลาด นั่นคือความเบาปัญญา" เช่นการใช้เงินหลายแสนล้าน กระตุ้นเศรษฐกิจ แล้วไม่เคยได้ผล ก็อย่าคิดว่าครั้งนี้มันจะได้ผลอีก สิ่งที่เราควรทำก็คือ ทำให้เกิดความเชื่อมั่น และท้าทายความคิดใหม่ตลอดเวลา

ยุคนี้อาจจะต้องว่องไว ปราดเปรี่ยว กับการที่จะหาทางออก จะต้องมีความยืดหยุ่น พร้อมที่จะรับเงื่อนไขใหม่ๆ อยู่ตลอดเวลา เราอาจจะต้องตั้งคำถามว่า เงินที่ใช้ 1 ล้านล้าน พอมั้ย? ถึงวันนี้อาจจะไม่พอ ทำไมวันนี้เราต้องตั้งหนี้สาธารณะไว้ 60% ของ GDP ตัวเลข 60% มาจากไหน ทำไมเราจะต้องบอกว่า วันนี้เงินจาก 33 บาท แข็งมาแล้วเป็น 31 บาท แล้วการส่งออกจะเป็นอย่างไร ทำไมเราต้องใช้เงินเฟ้อเป็นเป้าหมาย แทนที่จะใช้อัตราแลกเปลี่ยนเป็นเป้าหมาย

มีความเชื่ออีกเยอะแยะมากมาย ที่เราจะท้าทายตัวเอง ว่าเราอาจจะต้องใช้เงินมากกว่านี้ เราอาจจะต้องเปลี่ยนหลายสิ่งอย่างเพื่อกระตุ้นการส่งออก เราจะต้องเปิดรับนักท่องเที่ยวอย่างปลอดภัย ให้นักท่องเที่ยวเกิดความมั่นใจว่า มาใช้บริการของเราแล้ว รู้สึกว่ามีแสง UV ดี มีอุณหภูมิความร้อนที่ดี มีความชื้นมาก และมีกระบวนการป้องกันที่ดี

ดังนั้น คนที่เป็นนักบริหาร นักวิชาการ วันนี้หลายๆ ท่าน อาจจะยังไม่ตกลงมาในสู่หุบเหวของความสิ้นหวัง แต่ประชาชนทั่วไป เราสิ้นหวัง เราเศร้า ฉะนั้น อาจจะเรียกร้องให้คนที่รับผิดชอบ ออกจาก "หอคอยงาช้าง" แล้วลงมาพบกับความเป็นจริง ของเพื่อนร่วมชาติว่า วันนี้เขาเผชิญกับอะไรบ้าง และต้องคิดว่าจะระดมความเห็นให้ได้มากที่สุดอย่างไร เพื่อไม่ให้เกิดความรู้สึกว่าตัวเองคิดไปเอง และก็ไม่เข้าใจว่า คนที่มีความรู้ความสามารถอีกมากมายในสังคมนี้ สามารถพร้อมช่วยกันอย่างเต็มที่

ฉะนั้น วันนี้ เราต้องก้าวข้ามจากความกลัว ไปสู่ความหวัง ทำให้เกิดความเชื่อมั่นที่แท้จริง ไม่ใช่ความเชื่อมั่นแบบผิดๆ แล้วมีปัญญาเกิดขึ้นให้ได้ครับ


 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง