รีเซต

ชื่นมื่น "2 สมาคมสื่อไทย" เสริมทักษะ "สื่อ สปป.ลาว" ครั้งที่ 3

ชื่นมื่น "2 สมาคมสื่อไทย" เสริมทักษะ "สื่อ สปป.ลาว" ครั้งที่ 3
TNN ช่อง16
3 สิงหาคม 2565 ( 08:31 )
69





ผู้สื่อข่าวรายงานว่าเมื่อวันที่ 24-26 กรกฎาคม 2565 มีการจัดอบรม “โครงการอบรมเชิงปฏิบัติการเพื่อพัฒนาทักษะการเพิ่มรายได้ผ่าน Online Platform สำหรับสื่อมวลชนลาว” ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย (TJA), สมาคมผู้ผลิตข่าวออนไลน์ (SONP) และสมาคมนักข่าวแห่ง สปป.ลาว (LJA)  ณ เมืองวังเวียง แขวงเวียงจันทน์ สปป.ลาว จำนวน 30 คน จาก 10 องค์กร/สำนัก โดยมีท่านสะหวันคอน ราซมนตรี ประธานสมาคมนักข่าวแห่ง สปป.ลาว ให้เกียรติเป็นประธานในพิธีเปิดและปิดการอบรม





นายชวรงค์ ลิมป์ปัทมปาณี ที่ปรึกษาสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทยและสมาคมผู้ผลิตข่าวออนไลน์ กล่าวว่า โครงการนี้เป็นงานที่ 2 องค์กรวิชาชีพสื่อของไทย คือ TJA และ SONP ที่ร่วมมือกับสมาคมนักข่าวแห่ง สปป.ลาว ซึ่งมีความสัมพันธ์ระดับทวิภาคีกับสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทยมากว่า 30 ปี จัดขึ้นตามบันทึกความเข้าใจที่ทำกันไว้ในเรื่องความร่วมมือทางวิชาการ


 

 


ตลอดระยะเวลาหลายปีที่ผ่านมา ได้มีความร่วมมือในลักษณะนี้หลายครั้ง อาทิ การจัดการอบรมเชิงปฏิบัติการเรื่อง "การใช้ Social Media ในงานข่าวสำหรับสื่อมวลชนลาว" ที่เวียงจันทน์ เมื่อ 12-13 พฤศจิกายน 2558 และการอบรมเรื่อง "เนื้อหาและการตลาดสำหรับเว็บไซต์ข่าว" ที่เวียงจันทน์ เมื่อ 20-21 กรกฎาคม 2562 ดังนั้น การอบรมครั้งนี้ จึงเป็นการต่อยอดจากการอบรมในครั้งก่อน ๆ เพื่อเพิ่มศักยภาพในการหารายได้ให้กับสื่อมวลชนลาว


  


"การอบรมครั้งนี้ มีทีมงานการตลาด เนื้อหาและเทคนิคจากสื่อมวลชนลาว 10 องค์กรเข้าร่วมการสัมมนาที่ลงลึกถึงการสร้างแผนการหารายได้ให้สอดคล้องกับการผลิตเนื้อหา เพื่อนำไปสู่เป้าหมายการสร้างรายได้ให้มากขึ้นจนสามารถพึ่งพาเงินอุดหนุนจากรัฐให้น้อยที่สุด"นายชวรงค์ กล่าว


ด้าน น.ส.ชุตินธรา วัฒนกุล ผู้ช่วยกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ ฝ่ายสื่อใหม่สถานีโทรทัศน์พีพีทีวี ในฐานะที่ปรึกษาสมาคมผู้ผลิตข่าวออนไลน์ กล่าวเพิ่มเติมว่า การอบรมเชิงปฏิบัติการพัฒนาทักษะการเพิ่มรายได้ผ่าน Online Platform ให้กับสื่อมวลชนลาวครั้งนี้ เรียกว่าเป็น "วังเวียงโมเดล" เป็นระยะเวลา 3 วัน ที่สร้างมิตรภาพดี ๆ ระหว่างผู้สอนกับผู้ฟัง มีการสื่อสารจากภาษาที่ใกล้ชิดกัน บทเรียนที่นำไปบรรยายและ Workshop ให้กับสื่อมวลชนลาว อาจจะเป็นการจุดประกายเริ่มต้นให้เกิดไอเดียในการนำเสนอเนื้อหารูปแบบใหม่ที่แตกต่างไปจากเดิม เพื่อสร้างโมเดลธุรกิจใหม่ให้กับองค์กรสื่อลาว ถึงแม้จะมีรัฐบาลสนับสนุนแต่ก็ต้องหารายได้ด้วย 


"พวกเราเชื่อว่า การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วในยุคดิจิทัล ไม่มีใครสามารถอยู่ตัวคนเดียวได้ แม้แต่คู่แข่งก็ยังมีบางมุมที่ร่วมมือกัน แลกเปลี่ยนความรู้ ประสบการณ์ จะช่วยให้ประสบความสำเร็จได้ในทิศทางที่วางไว้"





ทั้งนี้การอบรม ดังกล่าวได้รับการสนับสนุนจาก บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) (SCG), บริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) (OR), บริษัท ช.การช่าง จำกัด (มหาชน), บริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน), การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) และบริษัท บิ๊กบลูเอเจนซี่ลาว จำกัด

ข่าวที่เกี่ยวข้อง