จับตาธปท.-คลังจัดงบเยียวยาโควิดเพิ่ม หลัง IMF แจกเงินไทย 4.4 พันล้านดอลลาร์
ในช่วง 5 ปี ที่ผ่านมาเงินทุนสำรองระหว่างประเทศของธนาคารแห่งประเทศไทย (Foreign Reserves) จะมีแนวโน้มปรับตัวขึ้นต่อเนื่อง ทว่าองค์ประกอบหนึ่งของ เงินทุนสำรองที่แทบไม่เคลื่อนไหวเลย คือ ยอดสิทธิพิเศษถอนเงิน (Special Drawing Rights หรือ SDRs) ซึ่งล่าสุดยอด SDRs กลับมาการเพิ่มขึ้นถึงกว่า 4.4 พันล้านดอลลาร์ ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่าน จึงเกิดเป็นคำถามว่า ยอดดังกล่าวเพิ่มขึ้นมาจากสาเหตุอะไร? และทางการเพิ่มขึ้นของยอด SDRs จะมีส่งกระทบอะไรต่อเศรษฐกิจ หรือ ตลาดการเงินบ้างหรือไม่?
เพื่อหาคำตอบให้กับคำถามดังกล่าว เราอาจจะต้องทำความเข้าใจว่า SDRs นั้นคืออะไรเสียก่อน
SDRs นั้นเป็นสกุลเงินที่ถูกสร้างขึ้นโดย IMF เพื่อใช้สำหรับเป็นทุนสำรองของประเทศนั้นๆ โดยมูลค่าของ SDR จะถูกคำนวณจากตะกร้าของสกุลเงินหลักๆ 5 สกุลเงิน ตามขนาดเศรษฐกิจ อาทิ USD 41.73%, Euro 30.93%, Chinese Yuan 10.92%, Japanese Yen 8.33% และ Pound Sterling 8.09%
ถึงแม้ว่า SDRs จะเป็นสกุลเงินของ IMF แต่ก็ไม่สามารถใช้ได้โดยตรง เนื่องจากจะต้องเป็นการใช้จ่ายในระดับประเทศ หรือ ประเทศ A จะต้องทำการนำเงิน SDRs ไปแลกกับประเทศ B เป็นสกุลเงินอื่นๆ เช่น ดอลลาร์, ยูโร หรือ หยวน ก่อนที่ประเทศ A จะสามารถนำเงินดังกล่าวไปใช้จ่ายได้
โดยแต่ละประเทศจะได้รับ SDRs มากน้อย ตามขนาดเศรษฐกิจ ซึ่งปัจจุบันประเทศไทยมี สัดส่วน SDRs 0.67% แล้วยอด SDRs ของ ธปท. ที่เพิ่มขึ้นกว่า 4.4 พันล้านดอลลาร์ นั้นมีที่มาอย่างไร? ทำไมถึงอยู่ๆ จึงเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก?
หากติดตามข่าวในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา จะเห็นว่า ทาง IMF ได้เตรียมประกาศช่วยเหลือบรรดาประเทศสมาชิก โดยเฉพาะ ประเทศในกลุ่มกำลังพัฒนา หรือ มีรายได้ต่ำ ที่กำลังเผชิญวิกฤติการระบาดของ COVID-19 อย่างรุนแรง เนื่องจากหลายประเทศไม่สามารถเข้าถึงวัคซีนประสิทธิภาพสูงได้อย่างเพียงพอ
ดังนั้น เพื่อเป็นการเสริมสภาพคล่องในการรับมือกับวิกฤติการณ์ระบาดครั้งใหญ่ให้กับบรรดาประเทศสมาชิก ทาง IMF จึงมีมติอนุมัติ เงิน SDRs มูลค่ากว่า 650 พันล้านดอลลาร์ให้กับประเทศสมาชิก
โดยทาง IMF หวังว่า บรรดาประเทศสมาชิกจะนำเงิน SDRs ดังกล่าว มาบริหารจัดการปัญหาการระบาด อาทิ จัดซื้อวัคซีนประสิทธิภาพสูง รวมถึงนำเงินมาพัฒนาระบบสาธารณสุข และสำรองเงินบางส่วนไว้เสริมความแข็งแกร่งของเงินทุนสำรอง
ซึ่งหากพิจารณา สัดส่วน SDRs ของไทย 0.67% จะพบว่า ประเทศไทยก็จะได้รับเงินกว่า 4.4 พันล้านดอลลาร์เช่นกัน จึงสามารถสรุปได้ว่า ยอดเงินทุนสำรองของไทยที่เพิ่มขึ้นมามากนั้นมาจาก เงิน SDRs ที่ทาง IMF ช่วยเหลือประเทศสมาชิก
ดังนั้น จึงเป็นที่น่าจับตามองว่า ทางรัฐบาลและธปท. จะร่วมมือประสานงานกันอย่างไร ในการบริหารจัดการเงินดังกล่าว ที่ IMF ให้มาแบบฟรี ๆ เพื่อจัด การปัญหาการระบาด COVID-19
โดยหนึ่งในแนวทางที่ทางรัฐบาลและธปท. อาจจะใช้เงินดังกล่าวก็คือ นำไปใช้ในการเจรจาต่อรองแบบ Govern ment to Government (GTG) เพื่อจัดหาวัคซีนประสิทธิภาพสูง รวมถึง อุปกรณ์ทางการแพทย์ และ ยา อาทิ Remdesivir, Monoclonal Antibody ที่ทางเยอรมนีได้บริจาคมา ซึ่งหากเราสามารถดำเนินการใช้เงิน SDRs ดังกล่าวได้อย่างคุ้มค่า เชื่อว่าสถานการณ์การระบาด COVID-19 ก็มีแนวโน้มดีขึ้นได้ และหนุนให้เศรษฐกิจทยอยฟื้นตัวได้ในเร็ววัน