รีเซต

ไรเดอร์ – ผู้เชี่ยวชาญ ชี้ หมวกกันน็อกตกมาตรฐาน ต้องเก็บออกจากตลาดทันที

ไรเดอร์ – ผู้เชี่ยวชาญ ชี้  หมวกกันน็อกตกมาตรฐาน  ต้องเก็บออกจากตลาดทันที
TNN ช่อง16
1 ตุลาคม 2566 ( 19:00 )
87
ไรเดอร์ – ผู้เชี่ยวชาญ ชี้  หมวกกันน็อกตกมาตรฐาน  ต้องเก็บออกจากตลาดทันที

สุภาภรณ์ พันธ์ประสิทธิ์ มอเตอร์ไซค์รับจ้าง หรือไรเดอร์เสื้อหลากสี ย่านรัชดา กรุงเทพฯ กล่าวว่า อาชีพไรเดอร์จำเป็นต้องสวมหมวกกันน็อกนานถึง 12 ชั่วโมงต่อวันทำให้เพื่อนร่วมอาชีพหลายคนมีปัญหาเรื่องสุขภาพเส้นเลือดตีบในสมองและหลายคนรวมทั้งสุภาภรณ์เองเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุบนท้องถนนทำให้เห็นว่าการใส่หมวกกันน็อกที่ได้มาตรฐานจะช่วยป้องกันชีวิตได้

 

“เคยเกิดอุบัติเหตุ ตัวลอย ศีรษะกระแทกแล้วสลบทั้งหมวกกันน็อกประมาณ 5 นาที มีพลเรือนดีเข้ามาช่วยเหลือและแกะหมวกกันน็อกออกทำให้ฟื้นขึ้นมา ถ้าวันนั้นไม่ได้ใส่หมวกกันน็อกที่มีมาตรฐานคงจะเสียชีวิตไปแล้วและไม่ได้มานั่งอยู่ตรงนี้ ขนาดหมวกกันน็อกเต็มใบยังทำให้เรามึนได้ แต่ถ้าไม่ใส่คงถึงชีวิต” สุภาภรณ์ กล่าว


 

สุภาภรณ์ กล่าวว่า การใช้หมวกกันน็อกที่ได้มาตรฐานมีความสำคัญมาก ดังนั้นการเลือกซื้อหมวกกันน็อกของไรเดอร์จึงเลือกใช้หมวกกันน็อกที่มีมาตรฐาน แต่ก็มีของปลอมระบาดจำหน่วยในช่องทางออนไลน์อย่างเฟซบุ๊กหรือติกตอกซึ่งไม่สามารถรู้ได้ว่าของจริงหรือของปลอม แม้จะมีตราสัญลักษณ์มาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (มอก.) ก็ตาม


ดังนั้นจึงอยากฝากถึงผู้ประกอบการและร้านค้า ให้มีความซื่อสัตย์ต่อลูกค้าผลิตหรือขายหมวกกันน็อกที่ได้มาตรฐาน เพราะการนำเข้าของปลอมที่ราคาถูกมาจำหน่ายในราคาปกติถือเป็นการเอาเปรียบผู้บริโภค และทำให้เสี่ยงถึงขั้นเสียชีวิตได้ จึงอยากให้หน่วยงานที่มีส่วนเกี่ยวข้องเข้าไปตรวจสอบร้านค้า ตรวจสอบแหล่งผลิต และออกกฎหมายเข้มงวดกับของปลอมและของหนีภาษีนำเข้า

 

ขณะที่ ศุภชัย พูนพิมะ ไรเดอร์ กล่าวว่า เคยประสบอุบัติเหตุบนท้องถนนเช่นกัน แต่โชคดีที่ใส่หมวกกันน็อกจึงทำให้ไม่ได้รับบาดเจ็บมาก โดยตอนนั้นรถเสียหลักและล้มแต่ใส่หมวกกันน็อกเต็มใบที่มีเครื่องหมาย มอก.จึงรอดมาได้ ตั้งแต่นั้นมาคิดว่าการใส่หมวกกันน็อกสำคัญมาก ถ้าไม่ได้ใส่อาจกระทบกระเทือนที่สมองได้



ส่วนการเลือกซื้อหมวกกันน็อกนั้น ศุภชัย กล่าวเสริมว่า อยากให้ไรเดอร์คนอื่น ๆ ดูที่สัญลักษณ์ มอก. มาคู่กับคิวอาร์โค้ดที่อยู่ด้านหลังของหมวกกันน็อก แต่ก็ต้องตรวจสอบให้ดี ๆ เพราะบางร้านค้ายังจำหน่ายหมวกกันน็อกที่ไม่ได้มาตรฐานมีทั้งของปลอมและของแท้ซึ่งต้องใช้โทรศัพท์มือถือในการสแกนคิวคาร์โค้ดเพื่อตรวจสอบข้อมูลในระบบให้มั่นใจแล้วค่อยซื้อ


อย่างไรก็ตามอยากให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องสุ่มตรวจสอบตามร้านค้าต่าง ๆ ว่าจำหน่ายหมวกกันน็อกที่ผ่านมาตรฐานหรือไม่และอยากให้มีบทลงโทษด้วย ไม่เช่นนั้นก็จะยังนำเอาหมวกกันน็อกที่ตกมาตรฐานหรือของปลอมมาจำหน่ายอยู่เรื่อย ๆ

 

สุภาภรณ์ และศุภชัย ได้มาเปิดใจในรายการ “เราไม่ได้บริโภคหญ้าเป็นอาหาร” จัดโดยสภาผู้บริโภคในหัวข้อ “ถูกและดีมีจริง” : เลือกหมวกกันน็อกได้มาตรฐานใช้ป้องกันชีวิต” ร่วมกับนักวิชาการ เศรษฐลัทธ์ แปงเครื่อง ผู้เชี่ยวชาญจากสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ และรศ.นพ.อดิศักดิ์ ผลิตผลการพิมพ์คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี

 

สารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการสภาผู้บริโภค กล่าวว่า สภาผู้บริโภคให้ความสำคัญกับเรื่องความปลอดภัยเพราะเป็นสิทธิพื้นฐานตามกฎหมาย แต่ขณะนี้ความไม่ปลอดภัยก็ยังเกิดขึ้นอยู่เป็นประจำ อย่างเช่น เรื่องอุบัติเหตุบนท้องถนนที่พบว่าแต่ละวันมีผู้เสียชีวิตมากกว่า 70 เปอร์เซ็นต์จากการขับขี่จักรยานยนต์  ดังนั้นจึงเห็นว่าหากหมวกกันน็อกได้มาตรฐานจะช่วยรักษาชีวิตได้


ในช่วงต้นปี 2566 สภาผู้บริโภคได้ร่วมกับนักวิชาการจากศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติทดสอบมาตรฐานของหมวกกันน็อกที่จำหน่ายในท้องตลาดจำนวน 25 ตัวอย่างและพบว่ามีหมวกกันน็อก 11 ตัวอย่างตกมาตรฐานและหมวกน็อกเด็กจำนวน 5 รุ่นตกมาตรฐานทั้งหมด


ทั้งนี้หลังจากที่ทดสอบแล้ว สภาผู้บริโภคได้ส่งผลการทดสอบให้สำนักงานมาตรฐานอุตสาหกรรม (สมอ.) ที่กำกับเรื่องนี้และนำข้อมูลดังกล่าวส่งต่อให้ผู้ประกอบการและขอความร่วมมือจากผู้ประกอบการให้เรียกเก็บหมวกกันน็อกที่ตกมาตรฐานออกจากท้องตลาดทั้งหมด


 “ที่ผ่านมาสภาผู้บริโภคได้ขอความร่วมมือจากสมาคมอุตสาหกรรมยานยนต์ไทย หรือแม้แต่หน่วยงานต่าง ๆ รวมทั้งบริษัทกลางจัดหาหมวกกันน็อกที่ได้มาตรฐานให้กับผู้บริโภค ซึ่งได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดี โดยเฉพาะจากสำนักงานมาตรฐานอุตสาหกรรมที่นำข้อมูลไปให้ผู้ประกอบการดำเนินการปรับปรุงคุณภาพสินค้าที่ตกมาตรฐานและเอาสินค้าที่ตกมาตรฐานออกจากท้องตลาด ทำให้การคุ้มครองผู้บริโภคยกระดับมากขึ้นและเข้มแข็งมากขึ้น” สารีกล่าว

 

เศรษฐลัทธ์ ผู้เชี่ยวชาญศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ กล่าวว่า ทีมวิจัยที่ดำเนินการทดสอบหมวกกันน็อกได้หารือกับสำนักงานมาตรฐานอุตสาหกรรม (สมอ.) และมีข้อเสนอให้เพิ่มกระบวนการในการตรวจสอบหลังจากสินค้าได้รับมาตรฐานแล้ว แม้ สมอ.มีขั้นตอนนี้อยู่แล้วแต่ด้วยข้อจำกัดงบประมาณต่าง ๆ ทำให้สมอ.ใช้วิธีการสุ่มตรวจจากบริษัทผู้ผลิตแล้วนำมาทดสอบซ้ำ แต่ทีมวิจัยอยากจะเสนอให้มีการสุ่มตรวจโดยการเลือกซื้อจากชั้นวางสินค้าของร้านค้าเพราะจะทำให้เห็นว่ามีหมวกกันน็อกไม่ได้มาตรฐานในท้องตลาดมากน้อยเพียงใด


 

นอกจากนี้ทีมวิจัยยังเสนอในเรื่องของระยะเวลาในการปรับปรุงมาตรฐานของหมวกกันน็อกให้สั้นลงและบ่อยขึ้นซึ่งจะทำให้ผู้บริโภคได้หมวกกันน็อกที่มีมาตรฐานมากยิ่งขึ้นในระยะเวลาทันท่วงที เนื่องจากปกติมาตรฐานที่ใช้อยู่นั้นเป็นการใช้มาตรฐานที่อ้างอิงกับมาตรฐานสากลจากต่างประเทศและมีการปรับปรุงมาตรฐานตามช่วงเวลาที่กำหนดไว้ซึ่งใช้ระยะเวลานานในการปรับปรุงมาตรฐานของหมวกกันน็อกจนทำให้การผลิตหมวกกันน็อกตกมาตรฐานได้

 

ขณะที่ รศ.นพ.อดิศักดิ์ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยเพื่อสร้างเสริมความปลอดภัยและป้องกันการบาดเจ็บในเด็ก คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า ไม่เห็นด้วยกับการตรวจสอบมาตรฐานของ สมอ.ที่มีการตรวจสอบมาตรฐานก่อนวางตลาดแล้วออกเครื่องหมายมาตรฐานเพียงครั้งเดียวแล้วสามารถใช้ได้ตลอดไป  



นอกจากนี้ในส่วนสินค้าที่ติดเครื่องหมายมอก. แต่ไม่ผ่านการทดสอบและนำมาหลอกหลวงผู้บริโภค หากมีความเสียหายเกิดขึ้นโดยประชาชนที่ได้รับบาดเจ็บหรือประสบอุบัติเหตุจากการใช้หมวกกันน็อกก็ต้องเรียกร้องตามกฎหมายความรับผิดทางผลิตภัณฑ์ซึ่งจะช่วยกระตุ้นความเข้มแข็งของระบบความปลอดภัยให้มากขึ้น


ส่วนมาตรฐานของหมวกกันน็อกเด็ก รศ.นพ.อดิศักดิ์ กล่าวว่า ปัจจุบันยังไม่มีกฎหมายกำหนดอายุขั้นต่ำของผู้โดยสารจักรยานยนต์จึงยังไม่มีมาตรฐานหมวกกันน็อกสำหรับเด็ก โดยหมวกกันน็อกที่จำหน่ายในท้องตลาดทุกวันนี้ไม่มีหมวกกันน็อกสำหรับเด็กอายุน้อยสุดที่พอจะใส่ได้และเป็นหมวกที่ผ่านมาตรฐานอุตสาหกรรมของบางบริษัทอยู่ที่อายุ 2 ปี ต่ำกว่านั้นไม่มีและมีเพียงบางบริษัทที่ผลิตหมวกขนาดเล็ก ทำให้เด็กที่อายุต่ำกว่า 6 ปีหาซื้อหมวกกันน็อกยาก ดังนั้นกฎหมายที่ไม่ได้กำหนดอายุขั้นต่ำ รวมทั้งการยอมรับว่าคนจน คนรายได้น้อยต้องใช้รถจักรยานยนต์และต้องเอาเด็กขึ้นจักรยานยนต์ จึงเสี่ยงอันตรายอย่างมาก


ข่าวที่เกี่ยวข้อง