การบินไทยยิ้ม! ศาลล้มละลายกลางไต่สวนแผนฟื้นฟูนัดแรก เจ้าหนี้ยื่นคัดค้านน้อย
การบินไทยยิ้ม ศาลล้มละลายกลางไต่สวนแผนฟื้นฟูนัดแรก เจ้าหนี้ยื่นคัดค้านน้อย - มากกว่า 50% ของมูลหนี้ 3 แสนล้าน ยกมือสนับสนุนแผน มั่นใจศาลรับคำร้องขอฟื้นฟู คาด 2 สัปดาห์รู้ผล
การบินไทยยิ้มได้ - เมื่อวันที่ 17 ส.ค. 2563 เวลาประมาณ 09.00 น. ที่ศาลล้มละลายกลาง แจ้งวัฒนะ ศาลฯ ได้นัดไต่สวนคำร้องขอฟื้นฟูกิจการ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) โดยฝ่ายลูกหนี้คือ บริษัทการบินไทย มีนายชาญศิลป์ ตรีนุชกร รักษาการแทนกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ (ดีดี) นายปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ และนายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค กรรมการบริษัทฯ และ นางชุติมา ปัญจโภคากิจ กรรมการการและบริษัท อีวาย คอร์ปอเรท แอดไวซอรี่ เซอร์วิสเซส ในฐานะผู้ทำแผนฟื้นฟูนั้น ได้เดินทางเข้าร่วม ขณะที่ฝ่ายเจ้าหนี้ได้เดินทางเข้าร่วมเป็นจำนวนมาก โดยมีเจ้าหนี้ที่ประสงค์คัดค้านจำนวนรวมทั้งสิ้น 16 ราย เช่น เจ้าหนี้รายย่อยที่ขอคืนบัตรโดยการ, สหกรณ์ออมทรัพย์วชิรพยาบาล จำกัด และบริษัท ทิพยประกันชีวิต จำกัด (มหาชน) เป็นต้น
ทั้งนี้ การไต่สวนเริ่มขึ้นเมื่อเวลา 10.30 น. โดยมีเจ้าหนี้ที่ประสงค์คัดค้านรวมทั้งสิ้น 16 ราย และมีพยานฝ่ายลูกหนี้ จำนวน 3 คน เข้าเบิกความต่อศาลฯ ประกอบด้ว นายชาญศิลป์ นายปิยสวัสดิ์ และนางชุติมา ประเด็นที่หลักๆ ทนายฝ่ายเจ้าหนี้มีการถามซักค้าน คือ ขั้นตอนการคัดเลือก และประสบการณ์ในการทำแผนฟื้นฟูกิจการการบินของบริษัท อีวายฯ ซึ่งมีการกล่าวหาในวงกว้างว่าเป็นบริษัทที่ไม่มีประสบการณ์ในการทำแผนฟื้นฟูกิจการเกี่ยวกับธุรกิจด้านการบิน, มีทุนจดทะเบียนในการจัดตั้งเพียง 5 ล้านบาท, กรรมการบริษัทที่ส่งเข้ามาเป็นตัวแทนทำแผนฟื้นฟูการบินไทยยังไม่เคยมีประสบการณ์ในการทำงานในบริษัทมหาชน รวมทั้ง ถูกกล่าวหาว่าได้รับการจัดจ้างเข้ามาเป็นที่ปรึกษาโดยมิชอบด้วยกฎหมาย เนื่องจากการบินไทยไม่ได้ทำตามขั้นตอนระเบียบการจัดซื้อจัดจ้างตามระเบียบราชพัสดุหลังจากบริษัทจากเปลี่ยนฐานะจากรัฐวิสาหกิจมาเป็นเอกชน
นอกจากนี้ ยังมีการซักค้านกล่าวหาว่าเป็นการจัดจ้างราคาแพงเกินจริงไม่สอดคล้องกับเนื้องาน รวมทั้งยังมีการซักค้านถามถึงแหล่งเงินทุนที่จะนำมาฟื้นฟูกิจการ และมาตรการชดเชยค่าบัตรโดยสารอีกด้วย
นายชาญศิลป์ ได้ชี้แจงกรณีบริษัทอีวายฯ ว่า การคัดเลือกบริษัทอีวาย ทำมาก่อนที่ตนจะรับตำแหน่ง และดำเนินการด้วยความโปร่งใสทุกขั้นตอน และเป็นบริษัทชั้นนำของโลก รวมทั้งเจ้าหนี้รายใหญ่ของการบินไทยยังให้การสนับสนุนบริษัทอีวายฯ ด้วย ส่วนประเด็นการชดเชยบัตรโดนสารบริษัทจะชดเชยเป็นบัตรกำนัลท่องเที่ยวแทนมีอายุมาสารถเดินทางได้ถึงสิ้นปี 2565
ด้านนายปิยะสวัส ชี้แจงกรณีเงินค่าจ้างบริษัทอีวายว่า บริษัทกำหนดค่าตอนแทนตามสัญญาว่าจ้างเป็นเงิน 22 ล้านบาท และยังจะมีการจ่ายค่าดำเนินการให้บริษัทอีวาย อีกเดือนละ 15 ล้านบาท เริ่มนับตั้งแต่วันที่ศาลแต่งตั้งให้เป็นผู้จัดทำแผนจนถึงวันที่ศาลรับแผนฟื้นฟู โดยขณะนี้ยังไม่ได้มีการขายเงินให้แก่บริษัทแต่อย่างใด ส่วนกรณีแหล่งเงินทุนในการฟื้นฟูกิจการนั้น เบื้องต้นได้หารือกับสถาบันการเงินในประเทศหลายแห่งแล้ว ซึ่งหากศาลรับคำร้องแผนฟื้นฟู สถาบันการเงินก็พร้อมสนับสนุนการบินไทย
ทั้งนี้ ศาลได้ยุติขบวนการไต่สวนในเวลา ประมาณ 13.40 น. และนัดให้มีการ ไต่สวนคำร้องเพิ่มเติมอีก 2 วัน คือ วันพฤหัสบดีที่ 20 ส.ค. 2563 และวันอังคารที่ 25 ส.ค. 2563 ซึ่งการบินไทยจะนำพยานเข้าเบิกความต่อศาลต่อไป
นายชาญศิลป์ เปิดเผยภายหลังขึ้นเบิกความต่อศาลฯ ว่า วันนี้ ศาลล้มละลายกลางได้พิจารณาไต่สวนใน 2 ประเด็น คือ ควรสั่งให้การบินไทยฟื้นฟูกิจการหรือไม่ และควรแต่งตั้งคณะผู้ทำแผนฟื้นฟูกิจการตามที่การบินไทยเสนอมาหรือไม่ ซึ่งคณะผู้ทำแผนฯ ที่การบินไทยเสนอประกอบด้วย 1. พลอากาศเอกชัยพฤกษ์ ดิษยะศริน 2. นายจักรกฤศฎิ์ พาราพันธกุล 3. นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค 4. นายบุญทักษ์ หวังเจริญ 5. นายปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ 6. นายชาญศิลป์ ตรีนุชกร 7. บริษัท อีวาย คอร์ปอเรทแอดไวซอรี่ เซอร์วิสเซส จำกัด
ทั้งนี้ กระบวนการไต่สวนคำร้องวันนี้เป็นไปโดยราบรื่นและมีแนวโน้มที่ดี มีทนายเจ้าหนี้รายย่อยเพียง 7 รายเท่านั้น ที่ยื่นคำคัดค้านคำร้องขอฟื้นฟู ประเด็นที่คัดค้านนั้น ไม่มีเรื่องใดน่าหนักใจเพราะเป็นประเด็นที่การบินไทยสามารถชี้แจงให้เกิดความเข้าใจที่ถูกต้องได้ ประกอบกับขณะนี้มีเจ้าหนี้รายใหญ่หลายราย รวมทั้งกระทรวงการคลัง ที่ได้ลงนามในหนังสือให้การสนับสนุนการฟื้นฟูกิจการของการบินไทยและไม่คัดค้านคณะผู้ทำแผนฯ ที่การบินไทยเสนอ ซึ่งคิดเป็นจำนวนรวมมากกว่า 50% ของจำนวนหนี้ตามงบการเงินไตรมาสที่ 2 ประจำปี 2563 ของการบินไทยซึ่งมีมูลค่ารวม 3 แสนล้านบาท
“มั่นใจว่าแผนฟื้นฟูการบินไทยจะผ่านการพิจารณา แต่ทั้งนี้ ก็ต้องขึ้นอยู่กับดุลพินิจของศาลล้มละลายกลางว่าจะมีคำสั่งอย่างไร คาดว่าราว 1-2 สัปดาห์ น่าจะทราบผล หากแผนผ่านการพิจารณาคาดว่าจะสามารถเชิญเจ้าหนี้กลุ่มต่างๆ มารับฟังการจัดทำร่างแผนฟื้นฟูกิจการ เพื่อให้เจ้าหนี้ได้รับทราบถึงความคืบหน้าของการจัดทำแผนฟื้นฟูกิจการได้ภาย 1-2 เดือน นับจากวันที่มีการประกาศคำสั่งตั้งผู้ทำแผนในราชกิจจานุเบกษา”
นายชาญศิลป์ กล่าวว่า หากศาลมีคำสั่งให้การบินไทยเข้าสู่การฟื้นฟูกิจการพร้อมตั้งคณะผู้ทำแผนฯ ได้ออกประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว กรมบังคับคดีจะดำเนินการแจ้งเจ้าหนี้ทุกรายให้ทราบถึงขั้นตอนการลงทะเบียนเพื่อยื่นคำขอรับชำระหนี้ ซึ่งท่านสามารถดำเนินการผ่านระบบออนไลน์ได้ด้วยตนเองที่บ้าน หรือจะนำเอกสารมาที่ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) สำนักงานใหญ่ ถนนวิภาวดีรังสิต เพื่อที่การบินไทยและเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จะช่วยเหลือและอำนวยความสะดวกแก่เจ้าหนี้ในการยื่นคำขอรับชำระหนี้ออนไลน์ โดยการบินไทยจะประชาสัมพันธ์รายละเอียดวัน เวลา และสถานที่ต่อไป
ส่วนสมาชิกโปรแกรมสะสมไมล์ Royal Orchid Plus (ROP) นั้น แม้ จะไม่ใช่เจ้าหนี้ที่อาจยื่นคำขอรับชำระหนี้ในกระบวนการฟื้นฟูกิจการได้ เพราะไมล์สะสมของสมาชิกเป็นการสะสมคะแนนเพื่อวัตถุประสงค์ในการแลกรางวัลต่างๆ นั้นการบินไทยได้ต่อายุไมล์สะสมออกไปให้จนถึงสิ้นปี 2564 แล้ว โดยที่ไม่ต้องยื่นคำขอรับชำระหนี้หรือดำเนินการทางกฎหมายภายใต้กระบวนการฟื้นฟูกิจการแต่อย่างใด