เจาะภัยคุกคามกัมมันตรังสี หวั่นซ้ำรอยเชอร์โนบิล หลังโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ใหญ่สุดในยุโรปถูกโจมตี
---โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ใหญ่สุดในยุโรป---
อาคารของซาโปริซห์เซีย ซึ่งเป็นโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ใหญ่ที่สุดในยุโรปเกิดความเสียหาย หลังจากถูกโจมตีจากการระดมยิง
หน่วยเฝ้าระวังนิวเคลียร์ของ UN, ทบวงการพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ หรือ IAEA กล่าวว่า ระบบความปลอดภัยของโรงไฟฟ้ายังไม่ได้รับผลกระทบ และไม่มีการปล่อยวัตถุกัมมันตภาพรังสีออกมา แต่สถานการณ์ยังคงมีความเสี่ยงสูงมาก
“เป็นครั้งแรก...ที่ฉันรู้สึกวิตกมาก” ศาสตราจารย์แคลร์ คล็อกฮิลล์ ผู้เชี่ยวชาญวัตถุนิวเคลียร์ มหาวิทยาลัยเชฟฟิลด์ กล่าวกับสำนักข่าว BBC
เช่นเดียวกับโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ซาโปริซห์เซีย รัสเซียได้เข้าควบคุมโรงไฟฟ้านิวเคลียร์เชอร์โนบิล ที่ได้ปลดประจำการไปแล้ว เนื่องจากเป็นพื้นที่ที่เกิดภัยพิบัตินิวเคลียร์เลวร้ายที่สุดในประวัติศาสตร์
---ซ้ำรอยเชอร์โนบิล?---
ผู้เชี่ยวชาญหลายคน เน้นย้ำว่า โรงไฟฟ้านิวเคลียร์สองแห่งนี้แตกต่างกัน โดยดร.มาร์ค เวนแมน จากราชวิทยาลัยลอนดอน กล่าวว่า โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ซาโปริชห์เซียมีความปลอดภัยกว่ามาก
เครื่องปฏิกรณ์อยู่ในอาคารคอนกรีตเสริมเหล็ก ที่สามารถต้านทานต่อเหตุการณ์รุนแรงจากภายนอกได้ ทั้งจากภัยธรรมชาติและฝีมือมนุษย์ เช่น การโจมตีทางอากาศ หรือ ระเบิด
ทั้งนี้ โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ซาโปริซห์เซีย ยังไม่ได้บรรจุกราไฟต์ในเตาปฏิกรณ์ เนื่องจากกราไฟต์ที่เชอร์โนบิล เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดเพลิงไหม้ และเป็นแหล่งกำเนิดของกัมมันตภาพรังสี ที่แพร่กระจายไปทั่วยุโรป
อย่างไรก็ตาม นักวิทยาศาสตร์ บอกว่า การโจมตีทางทหารกับเตาปฏิกรณ์ อาจไม่ใช่ภัยคุกคามเพียงอย่างเดียว แต่ยังมีความเสี่ยงจากการหยุดจ่ายไฟฟ้า ที่อาจทำให้เกิดสถานการณ์ร้ายแรงได้
“คุณไม่จำเป็นต้องโจมตีโรงไฟฟ้านิวเคลียร์โดยตรง เพื่อให้เกิดปัญหา” โอลีซิ ปาซีอุค รองผู้อำนวยการของ Ecoaction กล่าว
---ภัยคุกคามต่อกัมมันตภาพรังสี---
เจ้าหน้าที่ยูเครนอยู่ในขั้นตอนใช้ปิดการทำงานเตาปฏิกรณ์ ตอนนี้ มีเตาปฏิกรณ์แค่ 1 เครื่อง จากทั้งหมด 6 เตา ที่คาดว่ายังทำงานอยู่
เตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์ไม่สามารถปิดได้ทันที เหมือนกับแหล่งพลังงานทั่วไป เพราะต้องทำให้เย็นลงช้า ๆ เป็นเวลา 30 ชั่วโมงก่อน ดังนั้น ต้องจ่ายไฟฟ้าให้กับตัวโรงงานอย่างสม่ำเสมอ หากหยุดจ่ายไฟฟ้าเพื่อดำเนินการหล่อเย็น ก็จะนำไปสู่สารกัมมันตภาพรังสีรั่วไหลได้
การสูญเสียความเย็นเช่นนี้ เคยเกิดขึ้นในเหตุการณ์โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะของญี่ปุ่น หลังสึนามิเมื่อปี 2011 ในกรณีดังกล่าว การสูญเสียพลังงาน ทำให้เกิดการพังทลายของเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์ 3 เตา
ถ้าหากผู้คนได้รับกัมมันตภาพรังสี จะทำให้เกิดอาการรุนแรงได้ทันที และมีผลกระทบต่อสุขภาพในระยะยาว รวมไปถึงทำให้เกิดโรคมะเร็งด้วย อย่างเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในปี 1986 ที่เชอร์โนบิล
“รัสเซียอาจพยายามจำกัดขีดความสามารถด้านพลังงานของยูเครน” ศ.คล็อกฮิลล์ กล่าว
“พวกเขากำลังปิดเตาปฏิกรณ์ ซึ่งหมายความว่ารัสเซียกำลังทำการปิดปฏิกิริยานิวเคลียร์ และทำให้อยู่ในสถานะที่ปลอดภัยและมีเสถียรภาพ”
---โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ทั้งหมดในยูเครน---
ยูเครนมีโรงไฟฟ้านิวเคลียร์หลักอยู่ทั้งหมด 4 แห่ง ส่วนโรงไฟฟ้านิวเคลียร์เชอร์โนบิลได้ทำการปลดระวางแล้ว
รัสเซียได้เข้าควบคุมซาโปริซห์เซีย และเชอร์โนบิล และกำลังเข้าถึงโรงไฟฟ้านิวเคลียร์แห่งที่ 3 ซึ่งอยู่ทางตอนใต้ของยูเครน
นอกจากนี้ ยังมีโรงงานขนาดเล็กกว่า และสถานที่กำจัดกัมมันตภาพรังสี ซึ่งเป็นสถานที่เก็บวัสดุเหลือใช้จากการดำเนินงานนิวเคลียร์ทั่วยูเครน
---ผู้นำโลกออกประณาม---
เมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ มีรายงานว่า รัสเซียยังได้โจมตีด้วยขีปนาวุธไปยังสถานที่กำจัดขยะกัมมันตภาพรังสีในกรุงเคียฟด้วย
ผู้ตรวจสอบนิวเคลียร์ของยูเครน กล่าวว่า ไม่มีรายงานรังสีรั่วไหลออกมา และโรงงานไม่ได้ถูกโจมตีโดยตรง
ปัจจุบัน กองกำลังรัสเซีย ได้กล่าวว่าการโจมตีโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ล่าสุด มาจากกลุ่มก่อวินาศกรรมชาวยูเครน และได้อนุญาตให้เจ้าหน้าที่ที่ยังอยู่ในห้องควบคุมที่ซาโปริห์เซียดำเนินการต่อไปได้
แต่ผู้นำโลกหลายคน ได้ออกมากล่าวประณาม การกระทำที่ ‘ไร้ความรับผิดชอบ’ ของรัสเซีย นายกรัฐมนตรีบอริส จอห์นสัน ของสหราชอาณาจักร กล่าวว่า การกระทำดังกล่าว เป็นภัยคุกคามต่อยุโรปโดยตรง ส่วนโวโลดิมีร์ เซเลนสกี ประธานาธิบดียูเครน กล่าวว่า เป็นการ ‘ก่อการร้ายนิวเคลียร์’ ของรัสเซีย
ราฟาเอล มาริอาโน กรอสซี ผู้อำนวยการ IAEA กล่าวว่า เราไม่ควรที่จะรอให้เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นอีกครั้ง โดยเขาวางแผนที่จะเดินทางไปยูเครนเพื่อเจรจากับกองกำลังรัสเซีย เพื่อการดำเนินการด้านความปลอดภัยต่อโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ทั้งหมดของยูเครน
—————
แปล-เรียบเรียง: พรวษา ภักตร์ดวงจันทร์
ภาพ: Reuters