รีเซต

สศก.ชี้รับจ้างด้านการเกษตรต้องมีใบอนุญาต

สศก.ชี้รับจ้างด้านการเกษตรต้องมีใบอนุญาต
มติชน
11 มกราคม 2564 ( 07:15 )
109
สศก.ชี้รับจ้างด้านการเกษตรต้องมีใบอนุญาต

สศก.ชี้รับจ้างด้านการเกษตรต้องมีใบอนุญาต หวังสร้างมาตรฐานลดปัญหาแรงงาน-ผู้จ้างโก่งราคา

 

นายฉันทานนท์ วรรณเขจร เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เปิดเผยว่า จากการสำรวจแรงงานภาคการเกษตร หากไม่รวมบริการด้านการเกษตร ที่รับจ้างในแรงงาน มีจำนวนรวมทั้งหมดประมาณ 8 ล้านครัวเรือนทั่วประเทศ ตามจำนวนครัวเรือนเกษตรกรทั่วประเทศ ส่วนจำนวนแรงงานต่างชาติที่เข้ามารับจ้างทำการเกษตร มีประมาณ 4 ล้านคน อาทิ เข้ามารับจ้างทำงานในสวนกล้วยไม้ และประมง เป็นต้น ซึ่งแรงงานเกษตรส่วนใหญ่เป็นกลุ่มผู้สูงอายุเป็นส่วนใหญ่ ส่งผลให้จำนวนแรงงานและเกษตรกรมีปริมาณลดลง ดังนั้น กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จึงต้องเพิ่มอาชีพบริการด้านการเกษตรให้อยู่ในระบบอย่างถูกต้อง โดยเกษตรกรต้องมีการขึ้นทะเบียนตามประเภทการทำเกษตร มีการกำหนดอัตราค่าจ้างซึ่งคำนวนจากต้นทุนที่เกิดขึ้นจริง เพื่อให้เกิดมาตรฐาน ป้องกันการโก่งราคาจากแรงงาน หรือผู้รับจ้างกรณีแรงงานมีน้อย และไม่มีการกดราคาจากผู้จ้างในกรณีมีแรงงานจำนวนมากอีกด้วย

 

นายฉันทานนท์ กล่าวว่า นอกจากนี้ อีกหนึ่งปัจจัยที่ทำให้บริการด้านการเกษตรมีอัตราที่ลดลง คือการแพร่ระบาดของโควิด-19 ส่งผลให้ภาคเกษตรที่ส่วนหนึ่งใช้แรงงานต่างชาติ ไม่สามารถเดินทางเข้ามาทำงานในไทยช่วงนี้ได้ จึงเป็นที่มาของบริการด้านการเกษตรโดยมืออาชีพประจำตำบล อำเภอ ที่มีเกษตรตำบลและอำเภอประจำอยู่ ทั้งนี้ สำหรับแนวโน้มอาชีพบริการด้านการเกษตรเชื่อว่าต้องมีเพิ่มขึ้น เพราะบางขั้นตอนต้องอาศัยคนที่มีความชำนาญ รัฐจึงพยายามสนับสนุนให้มีการทำการเกษตรแปลงใหญ่ จึงเลี่ยงไม่ได้ที่ต้องใช้เครื่องจักรการเกษตรมาช่วย ซึ่งอาชีพไถพรวนดิน โดยใช้เครื่องจักรต้องอบรมการใช้เครื่องจักร อาชีพเกี่ยวข้าวด้วยเครื่องจักร ต้องอบรมการใช้เครื่องจักรเกี่ยวข้าว อาชีพหว่านปุ๋ยเคมี โดยใช้เครื่องจักร ก็ต้องอบรมการใช้เครื่องพ่นหว่ายปุ๋ย ดังนั้นอาชีพบริการด้านการเกษตรเหล่านี้จึงจำเป็นต้องมีใบอนุญาตในการให้บริการ

 

“บริการด้านการเกษตรที่ผ่านมาไทยก็มีอยู่แล้ว แต่ไม่มีการทำให้เป็นระบบ อาทิ แรงงานไถนา เกี่ยวข้าว ผสมเทียม แรงงานไถพรวนดิน แรงงานดำนา รับจ้างเก็บดอกกล้วยไม้และดูแลสวน และแรงงานในเรือประมง เป็นต้น ดังนั้น ทั้งหมดต้องขึ้นทะเบียนให้ถูกต้อง อย่างคนเกี่ยวข้าว ไถนา ให้ขึ้นทะเบียนกับกรมส่งเสริมการเกษตร เจ้าหน้าที่ผสมเทียมสัตว์ ขึ้นทะเบียนกับกรมปศุสัตว์ ทั้งหมดต้องมีการอบรมให้ถูกต้อง มีใบอนุญาต มีราคากลางเป็นมาตรฐานในการรับจ้างแต่ละครั้ง เพื่อไม่ให้มีการเอาเปรียบแรงงานหรือเกษตรกร” นายฉันทานนท์ กล่าว

 

นายฉันทานนท์ กล่าวว่า สำหรับการบริการทางการเกษตร จำแนกกลุ่มการให้บริการทางการเกษตรออกเป็น 4 กลุ่ม ดังนี้ 1.บริการเตรียมดิน-ปลูก เช่น บริการเตรียมดิน-ปลูกจำแนกออกเป็นกิจกรรมบริการรถไถ บริการล้าง บ่อปลา และล้างบ่อกุ้ง เป็นต้น 2.บริการดูแลรักษา กรณีรถไถที่ให้บริการกำจัดวัชพืชนี้อาจเป็นคันเดียวกับที่ให้บริการในกิจกรรมการเตรียมดิน ดังนั้น การคำนวณมูลค่าบริการของกิจกรรมใดจะต้องคิดเฉพาะมูลค่าและค่าใช้จ่ายที่เกิดจากการให้บริการชนิดนั้นเท่านั้น 3.บริการเก็บเกี่ยว-นวด อาทิ กิจกรรมบริการเครื่องเก็บเกี่ยว เครื่องนวดข้าว และบริการลิงเก็บมะพร้าว และ 4.บริการหลังเก็บเกี่ยว ประกอบด้วย กิจกรรมบริการรถบรรทุกผลผลิตเกษตรบริการเก็บรักษาผลผลิต

ข่าวที่เกี่ยวข้อง