รีเซต

ภาครัฐจับมือเอกชน ฟื้นท่องเที่ยวไทย ‘ออมสิน’ ปล่อยเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ วงเงิน 10,000 ลบ.

ภาครัฐจับมือเอกชน ฟื้นท่องเที่ยวไทย ‘ออมสิน’ ปล่อยเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ วงเงิน 10,000 ลบ.
มติชน
27 มีนาคม 2563 ( 19:14 )
65
ภาครัฐจับมือเอกชน ฟื้นท่องเที่ยวไทย ‘ออมสิน’ ปล่อยเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ วงเงิน 10,000 ลบ.

วันที่ 27 มีนาคม 2563 ที่กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ได้มีพิธีลงนามในบันทึกข้อตกลงโครงการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ สำหรับผู้ประกอบธุรกิจท่องเที่ยวที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19” เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยว โดยมีธนาคารออมสินร่วมกับการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) สภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (สทท.) และบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) ในการดำเนินการตามมาตรการเร่งด่วนของรัฐบาล ซึ่งจะอำนวยความสะดวกในการเข้าถึงแหล่งทุนสำหรับการเสริมสภาพคล่อง ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อผู้ประกอบการอุตสาหกรรมท่องเที่ยวของไทยให้เข้าถึงสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำต่อไป

นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กล่าวในฐานะประธานในพิธีลงนามว่าปัจจุบันสถานการณ์การระบาดของเชื้อไวรัสโค-19 ส่งผลกระทบในวงกว้างในหลายประเทศทั่วโลกรวมถึงประเทศไทยทำให้ภาคธุรกิจภาคอุตสาหกรรมได้รับผลกระทบ โดยเฉพาะอุตสาหกรรมท่องเที่ยวของไทย ซึ่งรัฐบาลได้ติดตามและให้ความสำคัญอย่างต่อเนื่องและใกล้ชิด ซึ่งนำไปสู่การออกมาตรการดูแลและเยียวยาทั้งทางตรงและทางอ้อม โดยเฉพาะมาตรการบรรเทาผลกระทบและเสริมสภาพคล่องให้ผู้ประกอบการ ซึ่งครอบคลุมการให้ความช่วยเหลือแก่ผู้ประกอบการธุรกิจในอุตสาหกรรมท่องเที่ยว เพื่อให้สามารถดำเนินธุรกิจและคงสภาพการจ้างงานต่อพนักงานหรือลูกจ้างต่อไปได้

นายยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้ว่าการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) กล่าวว่า ททท.เป็นกลไกสำคัญในการผลักดัน และสนับสนุนให้เกิดการขับเคลื่อนภาคอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว การยกระดับมาตรฐานการบริการ ส่งเสริมการตลาดซึ่งจากสภาวะการณ์ที่เกิดขึ้นนี้ ททท.ได้ปรับนโยบายการดำเนินงานอย่างเร่งด่วน โดยมุ่งเน้นช่วยเหลือผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตการแพร่ระบาดโควิด-19 โดยได้แสวงหาความร่วมมือกับสถาบันการเงินต่างๆ เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการได้ดำเนินกิจกรรมการพัฒนามาตรฐานการให้บริการ ด้วยแนวคิดซ่อมสร้างเพื่อเตรียมความพร้อมการกลับมาของนักท่องเที่ยวหลังวิกฤตการณ์นี้ผ่านพ้นไป และส่งเสริมให้อุตสาหกรรมท่องเที่ยวยังคงทำหน้าที่เป็นเสาหลักของภาคเศรษฐกิจ สร้างรายได้หลักให้แก่ชาติ สร้างงาน สร้างอาชีพและสร้างความภาคภูมิใจในความเป็นไทยในฐานะแหล่งท่องเที่ยวยอดนิยมอย่างยั่งยืนต่อไป

ด้านนายชัยรัตน์ ไตรรัตนจรัสพร ประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (สทท.) กล่าวว่า จากวิกฤตการณ์โควิด-19 ส่งผลต่อกลุ่มธุรกิจอุตสาหกรรมท่องเที่ยวของไทยอย่างมาก ซึ่งสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยในฐานะตัวแทนของผู้ประกอบการ และผู้มีอาชีพเกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมท่องเที่ยวรวม 13 สาขา ตลอดจนผู้ประกอบการและผู้มีอาชีพเกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยว ได้รับความช่วยเหลือจากรัฐบาลเป็นอย่างดี โดยการลงนามในครั้งนี้จะเป็นจุดเริ่มต้นที่จะได้ประสานความร่วมมือกับธนาคารออมสิน และบสย. ที่จะช่วยเหลือผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวให้ผ่านช่วงเวลาแห่งความยากลำบากเช่นนี้ไปได้

นายชาติชาย พยุหนาวีชัย ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน กล่าวว่า คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบมาตรการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (ซอฟท์โลน) เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบ ทั้งทางตรงและทางอ้อมจากโรคระบาด โดยธนาคารออมสินเร่งดำเนินการสนับสนุนวงเงินโครงการรวม 150,000 ล้านบาท เพื่อให้สถาบันการเงินปล่อยสินเชื่อแก่ผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบดังกล่าว ภายในวงเงิน 135,000 ล้านบาท และให้ธนาคารออมสินให้สินเชื่อโดยตรงในวงเงินอีก 15,000 ล้านบาท โดยกำหนดวงเงินกู้สูงสุดต่อรายไม่เกินรายละ 20 ล้านบาท อัตราดอกเบี้ยคงที่ 2 ปี ในอัตรา 2% ต่อปี ระยะเวลากู้เงินสูงสุดไม่เกิน 10 ปี ทั้งนี้ ผู้ประกอบการสามารถใช้บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) มาร่วมค้ำประกันเงินกู้ได้ด้วย สามารถยื่นขอสินเชื่อได้จนถึงวันที่ 30 ธันวาคม 2563

นายวิเชษฐ วรกุล รองผู้จัดการทั่วไปอาวุโส สายงานบริหารช่องทางและพัฒนาผู้ประกอบการ บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) กล่าวว่า ถือเป็นข่าวดีของผู้ประกอบการเอสเอ็มอีกลุ่มท่องเที่ยว ที่จะสามารถเข้าถึงแหล่งทุนได้ง่ายขึ้น หลังจากที่ภาคีเครือข่ายด้านการท่องเที่ยว หลายหน่วยงานได้ร่วมกันผลักดัน ขับเคลื่อน ภายใต้ความร่วมมือ โครงการดังกล่าว โดยความร่วมมือระหว่าง บสย. และธนาคารออมสินครั้งนี้ ธนาคารออมสิน จะเป็นผู้ปล่อยสินเชื่อ บสย. จะค้ำประกันสินเชื่อผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ในส่วนที่ยังขาดหลักประกัน เพื่อเติมเต็ม เพิ่มสภาพคล่อง ประคองให้ธุรกิจสามารถอยู่รอดได้ โดยบสย. ตั้งเป้าหมายช่วยค้ำประกันสินเชื่อให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีกลุ่มท่องเที่ยว 4,000 ราย วงเงินค้ำประกันสินเชื่อกว่า 5,000 ล้านบาท ผ่านโครงการค้ำประกันสินเชื่อพีจีเอส ระยะที่ 8 ฟรีค่าธรรมเนียมค้ำประกันสินเชื่อ 2 ปี สิ้นสุดโครงการวันที่ 30 ธันวาคม 2563 หรือจนกว่าวงเงินจะหมด

ข่าวที่เกี่ยวข้อง