รีเซต

ปัตตานี ติดเชื้ออาจแตะหลักพันต่อวัน หมอ-พยาบาลห้องผ่าตัดป่วย เกือบ 30 ราย

ปัตตานี ติดเชื้ออาจแตะหลักพันต่อวัน หมอ-พยาบาลห้องผ่าตัดป่วย เกือบ 30 ราย
ข่าวสด
12 ตุลาคม 2564 ( 09:44 )
57

รองนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดปัตตานี เผยสถานการณ์โควิดพีคสุด ติดเชื้ออาจแตะหลักพันต่อวัน แพทย์-พยาบาลในห้องผ่าตัดป่วย เกือบ 30 ราย

 

เมื่อวันที่ 12 ต.ค.64 ผู้สื่อข่าวรายงาน สถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อโควิด 19 ในพื้นที่จังหวัดปัตตานี ยังคงพบผู้ติดเชื้อรายใหม่เป็นจำนวนมาก โดยล่าสุด พบผู้ติดเชื้อรายใหม่อีก 423 ราย ทำให้ยอดผู้ติดเชื้อสะสมในขณะนี้อยู่ที่ 27,115 ราย และยังคงพบผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้นอีก 4 ราย ทำให้ขณะนี้ยอดผู้เสียชีวิตสะสมอยู่ที่ 331 ราย

 

 

ขณะเดียวกัน พบว่ามีการระบาดในกลุ่มของบุคลากรทางการแพทย์ ทำให้ต้องปิดห้องผ่าตัดของโรงพยาบาลปัตตานีชั่วคราว หลังพบว่าเจ้าหน้าที่ช่วยเหลือคนไข้ ที่ทำงานในห้องผ่าตัด ติดเชื้อจากครอบครัว หลังจากตรวจสอบแล้วพบว่าติดหมดทั้งบ้าน จากนั้นตรวจหาเชื้อผู้ที่ใกล้ชิดที่อยู่ห้องผ่าตัดปรากฏว่า ติดเชื้อกันเกือบ 30 คน จากทั้งหมดรวมทั้งหมดแล้วห้องผ่าตัดมีเจ้าหน้าที่อยู่ 50 คน ทำให้ต้องปิดห้องผ่าตัดเป็นการชั่วคราว

 

 

นพ.อุดมเกียรติ พูนสวัสดิ์ รองนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดปัตตานี เผยสถานการณ์จังหวัดปัตตานี อาจพีคสุดของการติดเชื้อโควิด 19 ในพื้นที่มากถึง 1,000 รายต่อวันหากพฤติกรรมของประชาชนยังการ์ดตก อีกทั้งชี้ 1-2 เดือน จะต้องดูสถานการณ์อย่างใกล้ชิด เนื่องจากขณะนี้ยังเป็นช่วงขาขึ้นของการระบาด และยังไม่ถึงจุดพีคสุด ซึ่งสถานการณ์เช่นนี้อาจส่งผลให้การเปิดภาคเรียนเทมอ 2 ของนักเรียนอาจใช้ระบบออนไลน์อย่างต่อเนื่อง

 

นอกจากนี้ สถานการณ์ของปัตตานีใกล้เคียง 3 จังหวัด จ.ปัตตานี เป็นพื้นที่ที่มีผู้ป่วยค่อนข้างมาก เราไม่เคยมีผู้ป่วยมากถึงขนาดนี้ เดือนต.ค. 1 สัปดาห์ที่ผ่านมา ตัวเลขการติดเชื้อ 400-500 รายตลอด

 

"จากการสอบสวนโรคพบว่า เป็นกลุ่มติดเชื้อแบบครอบครัว มีกิจกรรมในชุมชน เช่น งานศพ กิจกรรมรวมกลุ่ม งานเลี้ยง พอเราเริ่มคลายล็อกมา เดือนก.ย. มันก็เริ่มการ์ดตก บ้านเราคนลำบากมีมาก ทำให้การอยู่ร่วมกันจำนวนหลายคนในบ้านเล็กๆ ซึ่งเป็นคลัสเตอร์ในปัจจุบัน เป็นคลัสเตอร์ กระจายเกือบทุกหมู่บ้านทุกตำบล การควบคุม มีความยากกว่าคลัสเตอร์ใหญ่ เพราะไม่รู้ต้นต่อที่มาจากไหน การที่ไม่รู้ว่าติดจากไหน มันจะเป็นกระจ่ายไปทั่ว

 

ทางออกจะต้องใช้วิธีการปูพรมฉีดวัคซีน ให้เกิดภูมิคุ้มกันหมู่ พื้นที่ แต่เป็นเรื่องยาก เพราะชาวบ้านจะเลือกวัคซีนต้องไฟเซอร์ พอซิโนแวคเขาไม่เอา ซึ่งอาจมีความเข้าใจไม่ถูกต้องอยู่ เราอยากให้ฉีดวัคซีน 50 เปอร์เซ็นต์ สิ้นเดือนได้ 70 เปอร์เซ็นต์ เพราะตอนนี้ได้ 35 เปอร์เซ็นต์ ทำควบคู่การตรวจหาเชิงรุกด้วย ATK เป็นการแยกปลาออกจากน้ำ ปัตตานีไม่เคยมีใครเสียชีวิตจากการฉีดวัคซีน และขอให้พี่น้องประชาชนยกการ์ดให้สูง ป้องกันแบบครอบจักรวาล" นพ.อุดมเกียรติ กล่าว

 

นพ.อุดมเกียรติ กล่าวต่อว่า โรงเรียนขณะนี้ให้นักเรียนอายุ 12 ปีขึ้นไป ฉีดวัคซีน แต่เด็กเล็กอาจมีปัญหา การเปิดเรียนอาจต้องรอ อาจช้ากว่าที่อื่น และการเรียนออนไลน์อาจมีต่ออีกนิด ส่วนระดับมัธยม เมื่อฉีดวัคซีนแล้ว ถ้าโรงเรียนไหนที่สามารถจะควบคุมอย่างเข็มงวด ตามมาตรที่กำหนดเปิดแล้วปลอดภัย ควบคุมเด็กเข้าออกได้ก็ต้องดูเป็นรายๆไป

 

สำหรับการปิดห้องผ่าตัดโรงพยาบาลปัตตานีนั้น เนื่องจากผู้ช่วยเหลือคนไข้ ทำงานห้องผ่าตัด ติดเชื้อจากครอบครัว ตรวจแล้วพบว่าติดหมดทั้งบ้าน จากนั้นก็ตรวจค้นใกล้ชิดที่อยู่ห้องผ่าตัดปรากฏว่า ติดเชื้อกัน 20-30 คน จากทั้งหมดรวมทั้งหมดแล้วห้องผ่าตัดมีเจ้าหน้าที่อยู่ 50 คน พอกลุ่มนี้ติดเชื้อ ก็ไปรักษาไปกักตัว ก็ต้องไปใช้ห้องผ่าตัดของโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชสายบุรีแทน ส่วนที่โคกโพธิ์ บุคลากรติดภารกิจ และขอกำลังจากจังหวัดอื่นมาด้วย น่าจะเปิดใช้บริการประชาชนได้เร็วๆนี้

 

"ขวัญกำลังใจบุคลากรทางการแพทย์ ยังดีอยู่ แม้จะล้าเต็มที แต่ขอสู้เพื่อพี่น้องประชาชน ขอให้ประชาชนช่วยกัน มาฉีดวัคซีน มาทำให้ปัตตานี รอดปลอดภัย ด้วยกัน ยกการ์ดให้สูง ก็ถือว่าเป็นการช่วยทีมแพทย์แล้ว ทางกระทรวงที่มอบขวัญกำลังใจ มีเงินเพิ่มเติมบ้าง จัดส่งเครื่อง High-flow มาที่ตั้งโรงพยาบาลสนามทำให้สามารถยกระดับ โรงพยาบาลสนามให้สามารถดูแล

 

ผู้ป่วยสีเหลืองที่มีอาการรุนแรงมากขึ้น สามารถลดงานในโรงพยาบาลได้ อีกทั้งเรากระจายยาฟาวิพิราเวียร์ไปให้พื้นที่มากขึ้น ซึ่งบุคลากรจะไม่เหนื่อยมากนัก ถ้าเราช่วยกัน ทุกอย่างมีทางออก และเราจะสำเร็จด้วยกัน" รองนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดปัตตานี กล่าว

ข่าวที่เกี่ยวข้อง