รีเซต

ไอคิวทะลุฟ้า - ตู้ฆ่าเชื้อโควิด-19 ผลงาน มทร.ธัญบุรี

ไอคิวทะลุฟ้า - ตู้ฆ่าเชื้อโควิด-19 ผลงาน มทร.ธัญบุรี
ข่าวสด
9 มีนาคม 2564 ( 11:19 )
106
ไอคิวทะลุฟ้า - ตู้ฆ่าเชื้อโควิด-19 ผลงาน มทร.ธัญบุรี

ตู้ฆ่าเชื้อโควิด-19 ผลงาน มทร.ธัญบุรี - เพื่อป้องกันและยับยั้งการแพร่เชื้อโควิด-19 ให้คณาจารย์ บุคลากร และนักศึกษา มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี (มทร.ธัญบุรี) ผศ.ดร.มานพ แย้มแฟง อาจารย์ภาควิชาวิศวกรรมเครื่องกล คณะวิศวกรรมศาสตร์ และ นายภาณุพงศ์ ภู่แพร นายจงใจ ชัยจันดี นายสายัณห์ ชำนาญเวช นักศึกษาภาควิชาวิศวกรรมเครื่องกล คณะวิศวกรรมศาสตร์ สร้างตู้ฆ่าเชื้อโควิด-19 ด้วยรังสี UV-C

 

 

ผศ.ดร.มานพ แย้มแฟง กล่าวว่าตู้ฆ่าเชื้อโควิด-19 ด้วยรังสี UV-C ใช้สำหรับฆ่าเชื้อที่หน้ากากอนามัยซึ่งปัจจุบันเป็นสิ่งจำเป็นที่ทุกคนต้องใช้ รวมถึงของใช้ส่วนตัว เช่น กระเป๋า หรืออุปกรณ์ที่ใช้ในโรงอาหาร เช่น ช้อน จาน ถ้วย ตะเกียบ เพื่อเพิ่มความปลอดภัยและยับยั้งการแพร่เชื้อสำหรับผู้ที่จะใช้อุปกรณ์และภาชนะในโรงอาหาร มทร.ธัญบุรี ตู้ฆ่าเชื้อจะใช้หลอดรังสี UV-C เพื่อผลิตรังสี UV-C มาใช้ยับยั้งหรือฆ่าเชื้อในวัสดุและอุปกรณ์ภายในตู้ ชั้นวางอุปกรณ์ภายในตู้สามารถถอดประกอบและปรับเปลี่ยนได้เพื่อสะดวกต่อการใช้งาน

 

 

หลักการทำงานของตู้ฆ่าเชื้อ นำหน้ากากอนามัยแขวนที่ราวชั้นบนสุดหรือวางบนชั้นวาง โดยชั้นวางในแต่ละชั้นสามารถนำของใช้ส่วนตัว อุปกรณ์ที่ใช้ในโรงอาหาร มาวางเมื่อต้องการฆ่าเชื้อก่อนนำไปใส่หรือสัมผัสอาหารเพื่อรับประทาน การควบคุมการทำงานของตู้ฆ่าเชื้อจะใช้ระบบควบคุมอัตโนมัติที่สามารถตั้งเวลาการทำงานได้ เมื่อตู้ฆ่าเชื้อทำงานเสร็จจะมีไฟแสดงที่กล่องควบคุมการทำงานเพื่อให้ผู้ใช้งานทราบ

 

 

“ตู้ฆ่าเชื้อใช้รังสี UV-C จากหลอดรังสี UV-C ที่ติดตั้งไว้ภายในตู้ในการฆ่าเชื้อ โดยนับเวลาถอยหลังซึ่งจะมีตัวเลขแสดงอยู่ที่กล่องควบคุมการทำงาน ระยะเวลาการทำงานสามารถตั้งได้ เมื่อตู้ฆ่าเชื้อทำงานเสร็จจะมีไฟแสดงให้ทราบ การฆ่าเชื้อใช้เวลาอย่างน้อย 15 วินาที” ผศ.ดร.มานพกล่าว

มทร.ธัญบุรี ยื่นจดอนุสิทธิบัตรตู้ฆ่าเชื้อโควิด-19 ด้วยรังสี UV-C หน่วยงานหรือองค์กรใดสนใจติดต่อได้ที่ ผศ.ดร.มานพ แย้มแฟง ภาควิชาวิศวกรรมเครื่องกล คณะวิศวกรรมศาสตร์ โทร.08-6663-4562

ข่าวที่เกี่ยวข้อง