รีเซต

วัคซีนโควิด-19: เปิดแผนนำเข้าวัคซีนโควิดของ ม.ธรรมศาสตร์ กับเป้าหมายวัคซีนเข็มกระตุ้น

วัคซีนโควิด-19: เปิดแผนนำเข้าวัคซีนโควิดของ ม.ธรรมศาสตร์ กับเป้าหมายวัคซีนเข็มกระตุ้น
ข่าวสด
17 สิงหาคม 2564 ( 23:52 )
56

 

ผอ. โรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ เปิดเผยแผนดำเนินการนำเข้าวัคซีนโควิด-19 ของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) ว่าจะเป็นวัคซีนซึ่งใช้เทคโนโลยีใหม่ที่ไม่เคยมีการนำเข้าในประเทศไทยมาก่อน คาดว่าจะดำเนินการได้ในปีหน้าเพื่อเป็นวัคซีนสำหรับฉีดกระตุ้นภูมิ

 

 

"ในเข็มกระตุ้นนี้ จะเป็นวัคซีนเทคโนโลยีใหม่ หรือวัคซีนเจเนเรชันสอง หรือกระทั่งตัวที่ยังไม่เคยเข้าเมืองไทย เช่น โนวาแวกซ์ ตัวโปรตีนซับยูนิต เป็นสิ่งที่เราคาดหวังว่าเราจะเริ่มดำเนินการต่อจากนี้ ในการหาช่องทางต่าง ๆ"

 

 

รศ.นพ. พฤหัส ต่ออุดม ผอ. โรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ แถลงรายละเอียดของการจัดหาวัคซีน ยา เวชภัณฑ์ และอุปกรณ์ทางการแพทย์ของ มธ. วันนี้ (16 ส.ค.) ภายหลังสภามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มีมติออกข้อบังคับมหาวิทยาลัย ให้สามารถนำเข้า จำหน่าย หรือขออนุญาตและออกใบอนุญาตการขึ้นทะเบียนยา วัคซีน เวชภัณฑ์ อุปกรณ์ทางการแพทย์ได้เอง เช่นเดียวกับ ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ที่นำเข้าวัคซีนซิโนฟาร์มได้

 

 

ผู้บริหาร รพ. ธรรมศาสตร์ฯ ระบุด้วยว่าเนื่องจากงบประมาณของ มธ. มีจำกัด ทำให้ไม่สามารถนำเข้าวัคซีนในปริมาณมากเป็นหลักล้าน ๆ โดสได้ จึงมีความจำเป็นต้องดำเนินการร่วมกับองค์กรภายนอก ขณะนี้อยู่ระหว่างการหาพันธมิตร ซึ่งตอนนี้มีการพูดคุยกับกลุ่มโรงพยาบาลโรงเรียนแพทย์ เครือ/สมาคมของภาคเอกชน และส่วนของสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (สอท.)

 

 

"เจาะจงเป็นบริษัทไหนยังไง อาจจะเร็วเกินไปที่จะบอกตอนนี้" รศ.นพ.พฤหัส กล่าว

 

 

รศ.นพ. พฤหัสย้ำว่า การจัดหานำเข้าจะไม่ซ้ำซ้อนกับวัคซีนโควิด-19 ที่รัฐบาลและหลายหน่วยงานได้นำเข้ามา หรือว่ามีการทำสัญญาจองสั่งซื้อไปแล้ว ไม่ว่าจะเป็นซิโนแวค แอสตร้าเซนเนก้า ซิโนฟาร์มจากทางราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ โมเดอร์นาจากทางเครือ รพ.เอกชน หรือไฟเซอร์ที่รัฐบาลเพิ่งเซ็นสัญญาสั่งซื้อ แต่ทั้งนี้ หากในอนาคตวัคซีนที่ภาครัฐดำเนินการมาไม่เพียงพอในบางตัว มธ. อาจมีการพิจารณาจัดซื้อได้

 

 

เขายังยกตัวอย่างของวัคซีนที่จะมีการหารือเพื่อการนำเข้าว่าอาจเป็น วัคซีนชนิด mRNA รุ่นที่ 2 หรือโปรตีนซับยูนิต ซึ่งปัจจุบันมียี่ห้อโนวาแวกซ์ที่ใช้เทคโนโลยีนี้อยู่

 

 

"ปัญหามากที่สุดตอนนี้คือวัคซีน เราจะช่วยยังไงในเรื่องการได้รับวัคซีนในระดับประเทศได้บ้าง ต้องไปดูว่าสิ่งที่ภาครัฐทำมาและดำเนินการอยู่เราคงไม่อยากเข้าไปทำให้มันวุ่นวายกว่านี้"

 

 

ย้ำมีตัวแปรหลายอย่าง

ผอ.รพ.ธรรมศาสตร์ฯ กล่าวว่า การจัดหาวัคซีนยังขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายประการ ทั้งสถานการณ์ของตัวเชื้อไวรัสเองที่คาดว่าจะมีการเปลี่ยนแปลง เทคโนโลยีของวัคซีน หรือเงื่อนไขข้อกำหนดในการจัดหาที่บางบริษัทอาจจะมีเงื่อนไขว่าต้องจัดซื้อผ่านรัฐบาลกลาง เป็นปัจจัยที่อาจทำให้ดีลอาจไม่สำเร็จ อย่างไรก็ตาม ได้เน้นย้ำว่า อะไรที่ภาคส่วนอื่นไม่ได้ทำ มธ. จะเข้าไปดำเนินการ

 

 

"ระหว่างนี้ถ้าเกิดเหตุการณ์ใด ๆ ขึ้น เช่น เทคโนโลยีใหม่ยังไม่ออก หรือสิ่งที่ภาครัฐดำเนินการมาไม่เพียงพอในบางตัว เราอาจจะไปทำตรงนั้นให้ได้"

 

 

โมเดลกระจายวัคซีนแบบซิโนฟาร์ม

ผอ.โรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติอธิบายถึงแนวทางการกระจายวัคซีนที่ มธ. จะนำเข้ามาในอนาคตว่า องค์กรที่ร่วมเป็นพันธมิตรจะเป็นผู้เสียค่าใช้จ่าย

 

 

ในการแถลงมีการเปิดเผยรายละเอียดบางส่วนของชื่อหน่วยงานองค์กร เช่น สอท. มหาวิทยาลัย หรือกลุ่มบุคลากรทางการแพทย์

 

 

รูปแบบการจัดหาวัคซีนผ่านองค์กรร่วม หรือที่เรียกว่าวัคซีนทางเลือก เกิดขึ้นมาแล้วหลายหน่วยงาน ซึ่งข้อกำหนดในการนำเข้าวัคซีนในภาวะฉุกเฉินทั่วโลกจะต้องสั่งซื้อผ่านหน่วยงานของรัฐเท่านั้น สำหรับวัคซีนทางเลือกยี่ห้อแรก คือ ซิโนฟาร์ม นำเข้าโดยราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ เมื่อเดือน พ.ค. ที่ผ่านมา

 

 

ไทม์ไลน์วัคซีนทางเลือก

  • ซิโนฟาร์ม (เซ็นสัญญาเดือน พ.ค.) ผู้นำเข้าคือราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ (รจภ.) องค์กรที่ใช้งบฯ จัดซื้อผ่าน รจภ. เช่น สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น บริษัทเอกชน
  • โมเดอร์นา (เซ็นสัญญาเดือน ก.ค.) ผู้นำเข้าคือองค์การเภสัชกรรม และบริษัท ซิลลิค ฟาร์มา จํากัด นำเข้าให้เครือโรงพยาบาลเอกชน จำหน่ายแก่ประชาชน

 

 

เป้าหมายแรกจัดหาชุดตรวจ ATK

นอกจากวัคซีน ข้อบังคับของ มธ. ยังระบุเกี่ยวกับการจัดหาเวชภัณฑ์ อุปกรณ์ทางการแพทย์ ซึ่ง ผอ.รพ.ธรรมศาสตร์ฯ บอกว่า ในระยะเร่งด่วนตอนนี้ มธ. จะดำเนินการเรื่องการซื้อชุดตรวจแอนติเจน ตรวจหาเชื้อโควิด-19 หรือ ATK เพื่อแก้ปัญหาเรื่องประสิทธิภาพของชุดตรวจ สำหรับการใช้ในหน่วยงานของ มธ. ที่มีทั้งโรงพยาบาล โรงพยาบาลสนาม และการจัดบริการรักษาพยาบาลแบบกักตัวที่บ้าน (home isolation)

 

 

รศ.นพ. พฤหัสกล่าวว่า การจัดซื้อเองก็เพื่อแก้ปัญหาเรื่องราคา เพราะจะทำให้เห็นราคาที่แท้จริง โดยชุดตรวจด้วยตัวเองต้องเป็นราคาที่เข้าถึงได้

 

 

ส่วนเรื่องยา ปัจจุบันที่ยังไม่มียาตัวไหนพิสูจน์ได้ชัดเจนว่ามีผลการรักษาโควิดที่ได้ผลดีและเป็นตัวยาหลัก ปัจจุบันมีการใช้ทั้งฟ้าทะลายโจร ฟาวิพิราเวียร์ และแอนติบอดี้ค็อกเทลที่ มธ. จัดหาผ่าน รจภ. ดังนั้น มธ. อาจจะจัดหาตัวยาใหม่ ๆ เพื่อนำมาศึกษา ค้นคว้า วิจัย ในระยะต่อไป

 

 

ครม. อนุมัติงบซื้อวัคซีนไซเฟอร์ 9.3 พันล้านบาท

นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ประจำวันนี้ 17 ส.ค. ว่า ที่ประชุม ครม. มีมติเห็นชอบอนุมัติงบประมาณเพื่อซื้อวัคซีนไฟเซอร์จำนวน 20 ล้านโดส เป็นเงิน 9,372 ล้านบาท โดยแบ่งเป็น การจัดหาวัคซีนมูลค่า 8,439 ล้านบาทและค่าบริหารจัดการอีก 933 ล้านบาท ซึ่งรัฐบาลได้ลงนามไปแล้ว และจะต้องมีการชำระเงินค่าวัคซีน โดยคาดว่าจะส่งมอบในไตรมาสที่ 4

 

 

นอกจากนี้คณะรัฐมนตรีได้รับทราบการจัดซื้อวัคซีนไฟเซอร์เพิ่มเติมอีก 10 ล้านโดส โดยมอบหมายให้กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข เป็นผู้ลงนามกับตัวแทนบริษัทไฟเซอร์ จะทำให้การจัดหาวัคซีนชนิด mRNA เพิ่มเติมจาก 20 ล้านโดสที่มีการอนุมัติกรอบวงเงินไปแล้ว คาดว่าจะวัคซีนดังกล่าวจะได้รับการส่งมอบในช่วงไตรมาส 4 เช่นกัน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง