รีเซต

ไทยสูญรายได้หมื่นล้านต่อปี ละเมิดลิขสิทธิ์ช่องทางออนไลน์

ไทยสูญรายได้หมื่นล้านต่อปี   ละเมิดลิขสิทธิ์ช่องทางออนไลน์
TNN ช่อง16
26 สิงหาคม 2567 ( 14:14 )
76

การละเมิดลิขสิทธิ์ในปัจจุบันมีการพัฒนาการรูปแบบการกระทำผิดตามความก้าวหน้าของเทคโนโลยี โดยผู้กระทำผิดส่วนใหญ่ไม่ได้อาศัยอยู่ในประเทศไทย และมีกระบวนการกระทำผิดที่ซับซ้อนมากขึ้นกองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง ร่วมกับ สมาคมทรัพย์สินทางปัญญาแห่งประเทศไทย จัดอบรม “การสืบสวนอาชญากรรมทางอินเทอร์เน็ต” เพื่อสร้างเครือข่ายระหว่างเจ้าหน้าที่ตำรวจสอบสวนกลางและหน่วยงานภาคเอกชน ยกระดับความเข้มข้นการป้องกันและปราบปรามการละเมิดลิขสิทธิ์เว็บไซต์ออนไลน์


สมาคมทรัพย์สินทางปัญญาแห่งประเทศไทย ระบุว่า การละเมิดลิขสิทธิ์ทางปัญญา ทุกรูปแบบ โดยเฉพาะการละเมิดลิขสิทธิ์บนอินเตอร์เน็ต ซึ่งส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจภาพรวมของไทยสูญเสียรายได้โดยรวมประมาณ 7,000-10,000 ล้านบาทต่อปี การสร้างเครือข่ายระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จะช่วยยกระดับการสืบสวนสอบสวนให้มีความละเอียดและเท่าทันต่อรูปแบบที่เปลี่ยนไป และถือเป็นกลไกสำคัญช่วยลดความเสียหายจากปัญหาการละเมิดลิขสิทธิ์เว็บไซต์ออนไลน์ที่กำลังเกิดขึ้น 


ข้อมูลจาก กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บก.ปอท.) ด้านมืดของระบบนิเวศการละเมิดลิขสิทธิ์ดิจิทัล การศึกษาในปี 2563 พบว่าร้อยละ 29 ของผู้ที่เข้าถึงคอนเทนต์ออนไลน์อย่างผิดกฎหมายติดไวรัสมัลแวร์หรือแรนซัมแวร์  ส่วนการศึกษาในปี 2564  พบว่าร้อยละ 92 ของเว็บไซต์ละเมิดลิขสิทธิ์กีฬา ที่วิเคราะห์แล้วมีการหลอกลวงและมีมัลแวร์  และในปี 2565 จากการศึกษา พบว่า เว็บไซต์ละเมิดลิขสิทธิ์ประมาณ 8 ใน 10 เว็บไซต์ที่ถูกตรวจสอบ มีโฆษณาที่เต็มไปด้วยมัลแวร์ให้กับผู้ใช้ โดยเฉลี่ยแล้วการเข้าชมเว็บไซต์ละเมิดลิขสิทธิ์ 1 ใน 6 ครั้งนำไปสู่ความพยายามที่จะปล่อยมัลแวร์ให้กับผู้ใช้ 


ขณะที่ สถานการณ์การละเมิดลิขสิทธิ์ ในปัจจุบัน พบว่า ในทวีปเอเชียแปซิฟิก 4 ใน 5 ของเว็บละเมิดลิขสิทธิ์ระดับโลก  มีฐานอยู่ในเวียดนาม คิดเป็นร้อยละ 48 รองลงมาคือ ไต้หวัน อินเดีย  อินโดนีเซีย ส่วนเว็บละเมิดลิขสิทธิ์ในประเทศไทย คิดเป็นร้อยละ 40 ซึ่งข้อมูล 6 เดือนแรกปี 2567 พบ 44 จาก 100 เว็บไซต์สตรีมมิ่งยอดนิยมเป็นเว็บไซต์ละเมิดลิขสิทธิ์ 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง