รีเซต

โควิด-19 : ผ่อนคลายมาตรการระยะ 5 ผับ-บาร์-คาราโอเกะ-อาบอบนวด เปิดได้แต่ต้องปิดเที่ยงคืน

โควิด-19 : ผ่อนคลายมาตรการระยะ 5 ผับ-บาร์-คาราโอเกะ-อาบอบนวด เปิดได้แต่ต้องปิดเที่ยงคืน
บีบีซี ไทย
24 มิถุนายน 2563 ( 16:11 )
214
โควิด-19 : ผ่อนคลายมาตรการระยะ 5 ผับ-บาร์-คาราโอเกะ-อาบอบนวด เปิดได้แต่ต้องปิดเที่ยงคืน

ศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) เตรียมประกาศผ่อนคลายมาตรการระยะที่ 5 เริ่มวันที่ 1 ก.ค.นี้ ซึ่งจะเปิดให้สถานบันเทิงประเภทผับ บาร์ คาราโอเกะ อาบอบนวด และโรงน้ำชากลับมาเปิดบริการได้ รวมทั้งผ่อนคลายการเดินทางเข้ามาในราชอาณาจักรของชาวต่างชาติ

ขณะที่สภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) จะประชุมในวันพรุ่งนี้เพื่อพิจารณาว่าจะต่ออายุ พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินที่จะมีผลบังคับใช้จนถึง 30 มิ.ย.นี้ หรือไม่

 

นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษก ศบค. รายงานสถานการณ์ประจำวันนี้ (24 มิ.ย.) ว่าจนถึงขณะนี้ไทยไม่พบผู้ติดเชื้อภายในประเทศ 30 วันติดต่อกันแล้ว มีเพียงการพบผู้ติดเชื้อที่เป็นคนที่เดินทางกลับจากประเทศและพักอยู่ในสถานกักกันของรัฐ ซึ่งในวันนี้พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ 1 คนเป็นชายไทยอายุ 31 ปีที่เดินทางมาจากประเทศฟิลิปปินส์เมื่อวันที่ 17 มิ.ย.

 

ขณะนี้ประเทศไทยมีผู้ป่วยสะสม 3,157 ราย เสียชีวิต 58 ราย

Getty Images

ปลดล็อคสถานประกอบการที่เหลือ

นพ.ทวีศิลป์กล่าวว่าที่ประชุม ศบค.ชุดเล็กในวันนี้ ได้ยกร่างมาตรการผ่อนปรนสำหรับภาคธุรกิจที่ยังไม่ได้รับอนุญาตให้กลับมาเปิดบริการในช่วงการผ่อนปรนมาตรการระยะที่ 1-4 ได้แก่ ผับ บาร์ คาราโอเกะ โรงอาบน้ำ โรงน้ำชา ร้านเกมและอินเทอร์เน็ต โดยจะเสนอที่ประชุมใหญ่ ศบค. พิจารณาในวันที่ 29 มิ.ย. นี้ซึ่งหากเห็นชอบ ก็จะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 ก.ค.

อย่างไรก็ตาม สถานประกอบการที่จะกลับมาเปิดให้บริการในช่วงการผ่อนปรนมาตรการระยะที่ 5 จะต้องปฏิบัติตามมาตรการที่ทาง ศบค. เช่น

 

  • กำหนดเวลาเปิดปิดระหว่าง 17.00 - 24.00 น.
  • ผู้ใช้บริการต้องอยู่ห่างกันคนละ 1 เมตรเป็นอย่างน้อย
  • สถานบริการต้องจัดให้มีพื้นที่อย่างน้อย 4 ตารางเมตรต่อหนึ่งโต๊ะ และต้องอยู่ห่างกันอย่างน้อยโต๊ะละ 2 เมตร
  • นั่งร่วมโต๊ะกันได้ไม่เกินโต๊ะละ 5 คน
  • ห้ามไม่ให้มีการร้องเพลงและเต้นนอกพื้นที่โต๊ะของตัวเอง
  • ห้ามใช้บริการนานเกินกว่า 2 ชั่วโมงต่อหนึ่งรอบ (สำหรับร้านเกมและอินเทอร์เน็ต)

นอกจากนี้สถานประกอบการจะต้องปฏิบัติตามมาตรการเช่นเดียวกับภาคธุรกิจต่าง ๆ ที่อนุญาตให้เปิดไปก่อนหน้านี้ เช่นการใส่หน้ากากอนามัยตลอดเวลา เช็คอินด้วยแอปพลิเคชันไทยชนะ และการรักษาความสะอาด

สำหรับสถานบริการอาบอบนวดและโรงน้ำชา ต้องให้ผู้ใช้บริการสวมหน้ากากตลอดเวลายกเว้นเวลาอาบน้ำ และรักษาระยะห่างกันระหว่างผู้ให้บริการและผู้ใช้บริการอย่างน้อย 1 เมตร ยกเว้นเวลาอาบน้ำ นอกจากนี้กรมควบคุมโรคยังเน้นย้ำเรื่องการตรวจหาเชื้อโควิด-19 และเชื้ออื่น ๆ ในกลุ่มผู้ให้บริการอย่างเคร่งครัดทุกวัน

 

Getty Images

ผ่อนคลายการเดินทางเข้าประเทศ

นพ.ทวีศิลป์กล่าวว่า ศบค.ได้จัดโคว้ตามสำหรับชาวต่างชาติที่มีความประสงค์และความจำเป็นในการเดินทางเข้าไทย สามารถเดินทางเข้ามาได้ทันที แต่ต้องเข้ากักตัวในสถานที่ของรัฐ 14 วัน โดยจะต้องลงทะเบียนก่อน แบ่งเป็นกลุ่ม ดังนี้

 

  • กลุ่มนักธุรกิจ/นักลงทุน 700 คน
  • แรงงานฝีมือ/ผู้เชี่ยวชาญ 15,400 คน
  • คนต่างด้าวกรณีเป็นครอบครัวของคนไทยและมีถิ่นที่อยู่ในไทย 2,000 คน
  • ครู อาจารย์ บุคลากรทางการศึกษาและนักเรียน 2,000 คน
  • กลุ่มนักท่องเที่ยวแบบ Medical and wellness tourism 30,000 คน

ส่วนกลุ่มนักลงทุนที่เข้ามาในระยะสั้นและแขกของรัฐบาลหรือส่วนราชการต่าง ๆ ไม่จำเป็นต้องอยู่ในสถานกักกันของรัฐครบ 14 วัน แต่ต้องมีการตรวจร่างกายเพื่อยืนยันว่าไม่ติดเชื้อโรคโควิด-19 จากประเทศต้นทางเมื่อมาถึงไทย และมีทีมแพทย์หรือเจ้าหน้าที่สาธารณสุขติดตามตรวจสอบ

กลุ่มสุดท้ายคือกลุ่มนักท่องเที่ยวในโครงการ Travel bubble ซึ่งเบื้องต้นกำหนดเริ่มดำเนินการนันที่ 1 ส.ค.

 

ครม.พิจารณาต่อหรือไม่ต่ออายุ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน 30 มิ.ย.

นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ถึงการพิจารณาขยายเวลาการประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินต่อหรือไม่ว่า จะพิจารณาร่วมกับ 4 ฝ่าย สาธารณสุข เศรษฐกิจ ปกครอง และฝ่ายมั่นคง จากนั้นจะเสนอ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และ รมว.กลาโหม เพื่อนำเข้าที่ประชุม ศบค. วันที่ 29 มิ.ย. และนำเข้าที่ประชุมครม.วันที่ 30 มิ.ย.

นายวิษณุยอมรับว่ามีความกังวลว่าหากยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉินแล้ว จะส่งผลกระทบต่อมาตรการควบคุมโรค

 

"ยอมรับว่ามีผลกระทบจริงๆ ใน 3 ประเด็น คืออำนาจในการกักตัว สถานที่ที่ใช้ในการกักตัว และค่าใช้จ่าย เพราะตอนประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉินเราจะคุมใน 3 เรื่องนี้ได้ แต่ถ้าไม่ใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน แล้วไปใช้ พ.ร.บ.โรคติดต่อ ต้องไปดูว่าสั่งการเรื่องต่าง ๆ ได้หรือไม่" นายวิษณุกล่าว

"หากไปสั่งแล้วมีการขัดขืนคัดค้านก็จะไปถึงศาล แต่ถ้าอยู่ในช่วงประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ก็ไม่ต้องไปที่ศาล ส่วนประเด็นเรื่องสถานที่ หากในอนาคตมีเครื่องบินมาลงจำนวนมาก เช่น มีคนลงมา 200 กว่าคนจะทำอย่างไร และจะพาไปไหน และเรื่องค่าใช้จ่ายที่ต้องดูแลคนเข้าสถานกักกัน 14 วัน คนละ 3 หมื่นกว่าบาท หากต้องรักษาต้องใช้ค่าใช้จ่ายคนละ 1 ล้านใครจะรับผิดชอบ"

"วันนี้เราใช้ทั้ง พ.ร.ก.ฉุกเฉิน และ พ.ร.บ.โรคติดต่อควบคู่กันไป ลำพังใช้แต่ พ.ร.ก.ฉุกเฉินไม่ได้ เพราะไม่ได้ออกแบบไว้ใช้สำหรับป้องกันโรคติดต่อโดยเฉพาะ แต่ใช้สำหรับภัยพิบัติ และได้สอบถามไปยังอธิบดีกรมควบคุมโรคว่าภายใต้ พ.ร.บ.โรคติดต่อ พนักงานตาม พ.ร.บ.โรคติดต่อ พนักงานเจ้าหน้าที่ที่ออกตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉิน จะบูรณาการกันได้อย่างไร " รองนายกฯ ตั้งคำถาม พร้อมกับบอกว่าเหตุที่ประชาชนให้ความร่วมมือกับมาตรการควบคุมโรคเพราะ "กลัว พ.ร.ก.ฉุกเฉิน"

"ทุกคนให้ความร่วมมือดีเพราะมี พ.ร.ก.ฉุกเฉินเข้าไปกำกับ เขาไม่ได้กลัวรัฐมนตรีสาธารณสุข แต่กลัว พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ที่นายกฯ ผู้บัญชาการทหารสูงสุดและปลัดกระทรวงมหาดไทยมีอำนาจกำกับตามกฎหมาย"

ข่าวที่เกี่ยวข้อง