รีเซต

ระบบบำนาญ เงินผู้สูงอายุ 'ไทยรั้งท้ายโลก'

ระบบบำนาญ เงินผู้สูงอายุ 'ไทยรั้งท้ายโลก'
TNN ช่อง16
2 พฤศจิกายน 2563 ( 09:36 )
290
ระบบบำนาญ เงินผู้สูงอายุ 'ไทยรั้งท้ายโลก'

แนวโน้มสังคมสูงอายุเป็นหนึ่งในกระแสหลัก (Megatrend) และเป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นทั่วโลก หลายประเทศรวมถึงไทยจึงเตรียมพร้อมรับมือกับสังคมสูงอายุ ซึ่งหนึ่งในเครื่องชี้วัดที่สะท้อนถึงความพร้อมในการรับมือกับสังคมสูงอายุคือ ระบบบำนาญ เงินผู้สูงอายุ ว่ามีความมั่นคง เพียงพอ หรือไม่ 

 


เรามาเจาะลึกว่า ประเทศไหนมีระบบบำนาญ เงินผู้สูงอายุ ดีที่สุดในโลก และของไทยอยู่ดับที่เท่าไร  จากการจัดอันดับดัชนีระบบบำนาญโลก ของ  Mercer CFA Institute   

 

เมอร์เซอร์ (Mercer) บริษัทที่ปรึกษาด้านทรัพยากรมนุษย์สัญชาติอเมริกัน ร่วมกับ ซีเอฟเอ (CFA Institute) สถาบันวิเคราะห์ด้านการเงินระดับโลก และ Monash Business School  แห่งมหาวิทยาลัยโมนาช (Monash University) ในออสเตรเลีย เผยรายงานดัชนีระบบบำนาญ เงินผู้สูงอายุ ทั่วโลกประจำปี 2020 ที่ทำการสำรวจ ระบบรายได้ยามเกษียณของ 39 ประเทศ ซึ่งครอบคลุมประชากร 2 ใน 3 ของโลก ตั้งแต่เดือนพฤษภาคมถึงกรกฎาคมที่ผ่านมา 

 


ในรายงานฉบับนี้ ระบุว่า เนเธอร์แลนด์  ยังคงครอบแชมป์เป็นประเทศที่ได้คะแนนมากที่สุดถึง 82.6 คะแนน รองลงมาคือ เดนมาร์ก (81.4 คะแนน) และอิสราเอล (74.7 คะแนน) 

 


ส่วนประเทศกลุ่มสแกนดิเนเวียหลายประเทศ ไม่ว่าจะเป็น เดนมาร์ก ฟินแลนด์ สวีเดน และนอร์เวย์ ก็ล้วนแต่ติด 10 อันดับแรกทั้งนั้น

 

ขณะที่ ในกลุ่มประเทศอาเซียน "สิงคโปร์"  ถือเป็นประเทศที่มีระบบบำนาญ เงินผู้สูงอายุ ดีที่สุดอยู่ในอันดับ 7 (71.2 คะแนน) รองลงมาคือ มาเลเซีย ได้อันดับที่ 19 (60.1 คะแนน) อินโดนีเซีย ได้อันดับที่ 30 (51.4 คะแนน) ฟิลิปปินส์ ได้อันดับที่ 36  (43 คะแนน) และ "ไทย" ได้อันดับสุดท้ายที่ 39  หรือมีคะแนน แย่ที่สุด” เพียง 40.8 คะแนน  แต่เพิ่มขึ้นจากคะแนน 39.4 ในปี 2019 

 

สำหรับ ระบบบำนาญ เงินผู้สูงอายุ ที่ใช้ในการวัดดัชนีครอบคลุมถึง  เบี้ยยังชีพ  ระบบประกันสังคม  กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (Provident Fund : PVD)  และกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) เป็นต้น

 

โดยเกณฑ์ในการคำนวนดัชนีระบบบำนาญนี้  Mercer CFA ประเมินจากปัจจัยหลักๆ 3 ด้าน ได้แก่ ความเพียงพอ (adequacy), ความยั่งยืน (sustainability) และ ความยึดมั่นในหลักการ (Integrity)

 

สำหรับด้านแรก คือ ความเพียงพอ (adequacy) จะมุ่งตรวจสอบ ผลประโยชน์ที่ผู้เกษียณได้รับ  การออกแบบระบบบำนาญ  ระดับการออม  การเป็นเจ้าของบ้าน และ การเติบโตของสินทรัพย์ รวมถึงปัจจัยอื่นๆ เพื่อพิจารณาความสามารถในการจัดหารายได้หลังเกษียณว่าเพียงพอหรือไม่

 

ด้านที่ 2 ความยั่งยืน (sustainability) ได้แก่ สินทรัพย์สุทธิ  ประชากรศาสตร์  การใช้จ่ายของภาครัฐ  หนี้สาธารณะ  และ การเติบโตทางเศรษฐกิจ เป็นต้น

 

ด้านที่ 3  ความยึดมั่นในหลักการ (Integrity) จะคำนึงถึงปัจจัยต่างๆ อย่างเช่น กฎระเบียบ  การกำกับดูแล   ธรรมาภิบาล  การคุ้มครอง /การสื่อสาร และต้นทุนการดำเนินงาน


โดยประเทศที่ได้คะแนนด้าน ความเพียงพอ (adequacy)  อันดับ 1 คือ เนเธอร์แลนด์  ขณะที่ ด้านที่ 2 ความยั่งยืน (sustainability) ผู้ที่ได้คะแนนมากที่สุด คือ เดนมาร์ก  ด้านที่ 3  ความยึดมั่นในหลักการ (Integrity) อันดับ 1 คือ ฟินแลนด์


ทั้งนี้ ในการคำนวณดัชนีระบบบำนาญ  Mercer CFA ให้น้ำหนักด้านความพอเพียงมากที่สุด 40%  รองลงมาเป็นด้านความยั่งยืน  35% และความยึดมั่นในหลัการ  25%   


สำหรับการประเมินในปี 2020 ประเทศไทย เมื่อแยกตามเกณฑ์ 3 ด้าน พบว่า ด้านความเพียงพอที่มีน้ำหนักมากที่สุด ไทยได้คะแนนแย่ที่สุดอยู่ที่ 36.8 คะแนน  หรือยู่อันดับที่ 38  ขณะที่ด้านความยั่งยืนได้คะแนนค่อนข้างดี  40.8 คะแนน อยู่อันดับที่  29 และ ด้านความยึดมั่นในหลักการอยู่ที่ 47.3 คะแนน อยู่อันดับที่  35


เพราะฉะนั้นสาเหตุที่ทำให้ไทยได้คะแนนระบบบำนาญ เงินผู้สูงอายุ รั้งท้าย เป็นผลมาจากได้คะแนนต่ำในด้านความเพียงพอซึ่งมีน้ำหนักมากที่สุดในการคำนวณดัชนีระบบบำนาญ

 

เมื่อดูเข้าไปรายละเอียดพบว่า คะแนนด้านความพอเพียงของไทยต่ำ เนื่องจากได้คะแนนในหัวข้อเงินบำนาญขั้นต่ำของค่าแรงเฉลี่ยต่อคนไม่มีการปรับเพิ่ม และและอัตราค่าจ้างไม่ได้ปรับตามเงินเฟ้อ  

 

ทั้งนี้ ปัจจุบันคนที่อยู่ในระบบประกันสังคมจะได้รับ เงินบำนาญชราภาพ หรือ เงินผู้สูงอายุ สูงสุดที่เดือนละ 6,375 บาท  (กรณีส่งเงินสมทบ 30 ปี) เนื่องจากเงินชราภาพกำหนดเพดานเงินนำส่งอยู่ที่ 3% ของฐานเงินเดือนไม่เกิน 15,000 บาท หมายความว่า หากผู้ประกันตนจะจ่ายเงินสมทบในอัตราสูงสุดที่ 750 บาทต่อเดือนเท่านั้น  ทำให้บำนาญขั้นต่ำของไทยไม่มีการปรับเพิ่มขึ้น  ทั้งที่เงินเดือนที่ได้รับอาจสูงกว่า 15,000 บาท 

 

สำหรับระบบบำนาญ เงินผู้สูงอายุ ที่ควรจะเป็น  ซึ่งเป็นเป้าหมายที่ Mercer CFA ต้องการให้ระบบบำนาญทั่วโลกเป็น  หรือ "ระบบบำนาญในอุดมคติ ของ Mercer CFA"  มีดังนี้

 

หนึ่ง ด้าน ความเพียงพอ (adequacy)  ต้องมีเงินบำนาญขั้นต่ำให้แก่ผู้มีรายได้น้อย ในระดับที่สมเหตุสมผล มีอัตราทดแทนรายได้หลังเกษียณ (Replacement Rate) อยู่ที่ 70% ของค่ากลางรายได้ก่อนเกษียณ   มีกระแสรายได้ (income stream) จากผลประโยชน์ยามเกษียณสะสมอย่างน้อย 60 เปอร์เซนต์

 

ด้านที่สอง  ความยั่งยืน (sustainability)  ต้องมีประชากรวัยทำงานอย่างน้อย 80เปอร์เซนต์ เป็นสมาชิกระบบบำนาญเอกชน  สินทรัพย์ของกองทุนบำนาญต้องมีสัดส่วนเกิน 100 เปอร์เซนต์ของ GDP   และอัตราการมีส่วนร่วมในกำลังแรงงาน (Labour Force Participation Rate) ของผู้สูงอายุควรอยู่ที่อย่างน้อย 80 เปอร์เซ็นต์และด้านที่สาม  ความยึดมั่นในหลักการ (Integrity)  จะต้องมีการตรวจตราและควบคุมระบบบำนาญเอกชนอย่างเข้มงวด  มีการสื่อสาร เช่น การจัดทำรายงานประจำปี และรายงานคาดการณ์รายได้ยามเกษียณ เป็นต้น อย่างสม่ำเสมอ

 

สำหรับระบบบำนาญของไทย ตามการจัดของธนาคารโลก ซึ่งมี 5 เสาหลัก (The Five Pillar Framework) ต้องยอมรับว่า ยังห่างไกลระบบบำนาญในอุดมการณ์ของ Mercer CFA ทั้งนี้ในแง่ของความพอเพียง ความยั่งยืน และความยึดมั่นในหลักการ

 

โดยเสาหลักที่ 0 หรือ สวัสดิการขั้นพื้นฐาน เป็นระบบการดูแลจากภาครัฐ ใช้เงินงบประมาณจากภาษีของประชาชน และผู้ที่ได้รับความคุ้มครองไม่ต้องมีส่วนร่วมในการออมเพื่อให้ได้รับสวัสดิการจากภาครัฐ ซึ่งสวัสดิการภายใต้เสาหลักนี้ประกอบด้วย ระบบบำนาจข้าราชการ และเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ 

 

เสาหลักที่ 1 คือ หลักประกันทางสังคมที่รัฐจัดให้แก่แรงงานในระบบ หรือการออมภาคบังคับสำหรับแรงงานในระบบ  คือ  กองทุนประกันสังคม มาตรา 33,39

 

เสาหลักที่ 2  เป็นการออมภาคบังคับ เพื่อให้แรงงานได้มีรายได้หลังเกษียณ เมื่อรวมกับ เสาหลักที่ 1 แล้ว อยู่ในระดับที่เพียงพอต่อการมีคุณภาพชีวิตที่ดี ที่ ร้อยละ 50-60 ของเงินเดือนเดือนสุดท้าย ประกอบด้วย กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ(กบข.)กองทุนสงเคราะห์ครูเอกชน

 

เสาหลักที่ 3 เป็นการออมภาคสมัครใจ เพื่อให้ แรงงานที่มีความสามารถออมเงินและต้องการเพิ่มรายได้หลังเกษียณเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นเพิ่มเติมจาก เสาหลัก 1และเสาหลักที่ 2 โดยมีนโยบายการลงทุนที่เปิดโอกาสให้สมาชิกมีหลายทางเลือกในการลงทุน มีการกำหนดอัตราการจ่ายเงินสะสมเข้ากองทุน บริหารจัดการลงทุนโดยภาคเอกชน ประกอบด้วย กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (PVD) กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) ประกัน  กองทุนประกันสังคมมาตรา 40 และกองทุนการออมแห่งชาติ(กอช.) 

 

เสาหลักที่ 4 คือ ระบบการใช้ทรัพย์สินอื่นมารองรับการใช้ชีวิตช่วงหลังเกษียณ รวมถึงการสนับสนุนในรูปแบบที่ไม่เป็นทางการอื่นๆ เช่น การดูแลสุขภาพ ที่อยู่อาศัย และทรัพย์สินส่วนบุคคลอื่น ๆ  อาทิ บ้าน ซึ่งนํามาใช้ขอสินเชื่อสําหรับผู้สูงอายุ หรือที่เรียกว่า reverse mortgage ได้ 

 

จะเห็นว่าภายใต้ระบบบำนาญของไทย มีวงเงินรวมกว่า 3.85 ล้านล้านบาท  หากเมื่อเทียบกับมูลค่าจีดีพีของไทย 16.7 ล้านล้านบาท (ปี2562)  ถือว่าความพอเพียงต่ำมาก ถ้าเทียบกับที่ Mercer CFA แนะนำว่าควรจะมีมูลค่าสินทรัพย์ของระบบบำนาญเกินกว่า 100% ของจีดีพี   

 

อย่างไรก็ดี Mercer CFA  แนะนำให้ประเทศไทยยกระดับระบบบำนาญ เงินผู้สูงอายุ ทุกด้าน ไม่ว่าจะเป็น การเพิ่มความคุ้มครอง การยกระดับการสนับสนุนขั้นต่ำให้แก่ผู้สูงอายุที่มีรายได้ต่ำ  เพิ่มข้อกำหนดสำหรับระบบบำนาญของเอกชน 

 

ซึ่งประเด็นดังกล่าวนั้น ทั้งภาครัฐและภาคเอกชนที่เกี่ยวข้องเข้าใจถึงปัญหาและข้อจำกัด ขณะนี้กำลังอยู่ในการศึกษาและพิจารณาปรับหลักเกณฑ์ให้เหมาะสมมากขึ้นโดยเฉพาะทั้งด้านความพอเพียง ความครอบคลุม และความยั่งยืน

 

นอกจากนี้ Mercer CFA  ยังวิเคราะห์ถึงผลกระทบจากไวรัสโควิด-19 ซึ่งถือเป็นอีกหนึ่งภัย คุกคามใหม่” ต่อระบบบำนาญทั่วโลก ซึ่งทำให้มูลค่าสินทรัพย์กองทุนบำนาญลดลงอย่างมีนัยยะสำคัญในไตรมาสแรกของปี 2020 นอกจากนี้ Mercer CFA  ยังคาดด้วยว่า มูลค่าสินทรัพย์ตลอดทั้งปี 2020 ของหลายประเทศจะลดลง เมื่อเทียบกับต้นปี เนื่องจาก ระดับรายได้ที่ลดลง อัตราดอกเบี้ยระดับต่ำที่สุดเป็นประวัติการณ์ การลดเงินปันผลของบริษัทต่างๆ และ การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของนักลงทุนจากสินทรัพย์ที่เติบโตได้ไปสู่การถือเงินสดแทน  

 

นอกจากนี้ การว่างงานในหลายอุตสาหกรรม อาจทำให้เม็ดเงินที่จะสนับสนุนการจัดการเงินบำนาญทั้งภาครัฐและเอกชนลดลงด้วย ขณะที่ พนักงานอีกหลายคนก็เผชิญกับความยากลำบากในการจ่ายเงินสมทบ

 

ขณะที่ หนี้สาธารณะที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เนื่องจาก มาตรการเยียวยาและกระตุ้นเศรษฐกิจจากการระบาดของโควิด-19 ก็อาจทำให้รัฐบาลลดการสนับสนุนระบบบำนาญในอนาคต


จะเห็นว่า เรื่องระบบบำนาญก็เป็นอีกหนึ่งความท้าทายของรัฐบาลทั่วโลก โดยเฉพาะภายใต้การคุกคามใหม่จากโควิด-19 ยิ่งบั่นทอนเรื่องความพอเพียง และความยั่งยืนของระบบบำนาญทำให้มีความเสี่ยงมากยิ่งขึ้นหากไม่รีบปรับปรุงแก้ไขโดยเร็ว โดยเฉพาะประเทศที่มีประชากรสูงวัยเพิ่มขึ้นมากและเข้าสู่สังคมสูงวัยเร็ว อย่างประเทศไทย ต้องให้ความสำคัญกับประเด็นปัญหานี้อย่างจริงจัง 

  

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง