ข่าวปลอมอันดับ 1 ปปง.เร่งออกกฎหมายใหม่ คืนเงินจากแก๊งคอลเซนเตอร์ ติดต่อขอเงินคืนผ่านเฟซบุ๊ก
นายเวทางค์ พ่วงทรัพย์ รองปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม หรือ ดีอี ในฐานะโฆษกกระทรวงฯ กล่าวถึงผลการมอนิเตอร์และรับแจ้งข่าวปลอมของศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม ระหว่างวันที่ 6 – 12 กันยายน 2567 พบข้อความที่เข้ามาทั้งหมดกว่า 840,000 ข้อความ โดยมีข้อความที่ต้องดำเนินการตรวจสอบ (Verify) ทั้งสิ้น 179 ข้อความ
สำหรับช่องทางที่มีการพบเบาะแสมากที่สุด คือ ข้อความที่มาจากหารดเฝ้าฟังทางโซเชียล (Social Listening) ตามมาด้วยการแจ้งเบาะแสผ่าน Line Officialและช่องทาง Facebook โดยในจำนวนนี้มีข่าวปลอมที่เกี่ยวข้องกับอาชญากรรมออนไลน์ที่ประชาชนให้ความสนใจมากที่สุด จำนวน 10 อันดับ ได้แก่
อันดับที่ 1 : เรื่อง คณะกรรมการ ป.ป.ง. เร่งออกกฎหมายใหม่ คืนเงินจากแก๊งคอลเซนเตอร์ ติดต่อขอเงินคืนผ่านเฟซบุ๊ก
อันดับที่ 2 : เรื่อง เปิดช่องทางให้ทดลองลงทุนสำหรับกองทุนผู้สูงอายุ อายุตั้งแต่ 35 ปีขึ้นไป กำกับดูแลโดย ก.ล.ต.
อันดับที่ 3 : เรื่อง ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยเปิดเว็บไซต์ใหม่ชื่อ SET STATION
อันดับที่ 4 : เรื่อง สำนักงานปลัดกระทรวงยุติธรรมเปิดเพจเฟซบุ๊ก ชื่อว่า สำนักงานช่วยเหลือ
อันดับที่ 5 : เรื่อง ผู้นำด้านทองคำให้โอกาสเข้าเทรดหุ้นทองคำ เริ่มต้น 1,000 บาท ปันผล 390 บาทต่อวัน รับรองโดย ก.ล.ต.
อันดับที่ 6 : เรื่อง กรมประชาสัมพันธ์ เปิดเพจเฟซบุ๊ก ประชาสัมพันธ์-แจ้งเตือน เหยื่อมิจฉาชีพทางออนไลน์
อันดับที่ 7 : เรื่อง แนะนำเจ้าหน้าที่ให้บริการด้านการลงทุน SET THAILAND รับรองโดย ก.ล.ต.
อันดับที่ 8 : เรื่อง กรมพัฒนาฝีมือแรงงานเปิดเพจเฟซบุ๊ก กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน ฝ่ายประชาสัมพันธ์
อันดับที่ 9 : เรื่อง สำนักงานกิจการยุติธรรมเปิดลงทะเบียนผ่านเพจเฟซบุ๊ก เพื่อรับการชดใช้คืนทรัพย์สินแก่ผู้เสียหายจากแก๊งคอลเซนเตอร์
อันดับที่ 10 : เรื่อง กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดช่องทางติดต่อผ่านไลน์
ซึ่งข่าวปลอมที่เกี่ยวกับอาชญากรรมออนไลน์ ยังคงพบว่า ส่วนใหญ่เป็นข่าวการทำธุรกรรมที่มีการแอบอ้างถึงหน่วยงานรัฐ โดยเฉพาะอันดับแรกที่แอบอ้างว่า “คณะกรรมการ ปปง. เร่งออกกฎหมายใหม่ คืนเงินจากแก๊งคอลเซนเตอร์ ติดต่อขอเงินคืนผ่านเฟซบุ๊ก ซึ่งจากการประสานงานตรวจสอบร่วมกับปปง.พบว่าข้อมูลที่มีการอ้างในเพจเฟซบุ๊กดังกล่าวไม่เป็นความจริง การปรับปรุงกฎหมายเพื่อให้ฝ่ายบริหารสามารถนำเงินไปคืนแก่ผู้เสียหายให้รวดเร็วยิ่งขึ้นยังอยู่ระหว่างการจัดทำร่างฯ และยังต้องผ่านกระบวนการรับฟังความคิดเห็นจากผู้มีส่วนเกี่ยวข้องก่อน ทั้งนี้ สำนักงาน ปปง. ไม่เคยมีการเปิดให้ผู้เสียหายทุกรายคดียื่นคำร้องหรือส่งหลักฐานการถูกหลอกผ่านสื่อสังคมออนไลน์แต่อย่างใด
ทั้งนี้ประชาชนสามารถตรวจสอบข้อเท็จจริงของข่าวหรือลิงก์เว็บไซต์ให้แน่ชัด โดยสามารถสอบถามผ่าน สายด่วน 1111 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อป้องกันกันถูกหลอกลวงผ่านช่องทางออนไลน์ พร้อมกันนี้ขอให้ประชาชน ยึด หลัก 4 ไม่ คือ ไม่กดลิงก์ ไม่เชื่อ ไม่รีบ และ ไม่โอน หากประชาชนโดนหลอกออนไลน์ โทรแจ้งดำเนินการ ระงับ อายัดบัญชี สายด่วน AOC 1441