รีเซต

อีก 'ข้อเสนอ' แนะทางออก ในยุควิกฤตศก.

อีก 'ข้อเสนอ' แนะทางออก ในยุควิกฤตศก.
มติชน
28 มีนาคม 2565 ( 06:48 )
54
อีก 'ข้อเสนอ' แนะทางออก ในยุควิกฤตศก.

สถานการณ์ที่ประดังเข้ากดดันเศรษฐกิจทั่วโลกไม่ได้มีเพียงแค่โรคโควิด-19 ระบาดเสียแล้ว เพราะขณะนี้เกิดสงครามรัสเซียบุกยูเครน ทำให้มีปัญหาตามมามากมาย ประเทศไทยก็ตกอยู่ในสถานการณ์ไม่แตกต่างกัน

 

ขณะที่ รัฐบาลพยายามหาหนทางทุกวิถี เพื่อรับมือกับวิกฤตที่เกิดขึ้น บรรดานักเศรษฐศาสตร์สำนักต่างๆ ก็ตั้งวงเสวนา และนี่คืออีกความคิดหนึ่งที่นำเสนอ เพื่อเป็นทางรอดของประเทศ นำเสนอด้วยแนวคิด นโยบายเศรษฐกิจของไทยในช่วงที่นักเศรษฐศาสตร์เรียกว่า stagflation

 

สำหรับ stagflation คือสภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว และเงินเฟ้อพุ่ง โรคโควิด-19 ระบาดมา 2 ปี เกิดสงคราม
3 เดือนมาแล้ว ทั่วโลกผลิตไม่ทันแรงซื้อทั่วไทยไม่มีนักท่องเที่ยว หนี้ครัวเรือนสูง รัฐบาลใช้เวลาในการแก้ปัญหาเศรษฐกิจมานาน แต่ปัญหายังมี เงินเฟ้อสูง ค่าแรงไม่ขยับ แนวโน้มยังไม่ดี และอาจแย่ลงโดยเฉพาะระดับราคาสินค้าและบริการ

 

รัฐบาล หรือผู้ทำนโยบาย มีทางเลือกในการ แก้ปัญหาอย่างไร อาหารแพง น้ำมันแพง ค่าเดินทางแพง รายจ่ายขึ้น อย่างที่ทุกคนทุกอาชีพสามารถรู้สึกได้จริงๆ เรื่องนี้เป็นปรากฏการณ์ที่ไม่ใช่แค่ไทย แต่เกิดขึ้นทั่วโลก รายจ่ายที่เคยคุมไว้ที่ วันละ 100 วันละ 200 หรือวันละ 1,000 2,000 วันนี้ไม่พอ อย่างน้อยๆ 10-20% สูงขึ้น


ในเมืองไทย และหลายๆ ประเทศทั่วโลก ค่าแรงและรายได้โดยเฉพาะมนุษย์เงินเดือน พนักงานรายวัน รายอาทิตย์ หรือแม้กระทั่งเจ้าของกิจการบางอย่างไม่ได้ปรับตัวขึ้น เหมือนรายจ่าย คือ เงินเหลือเก็บ น้อยลง หรือเงินเดือน รายได้ ไม่พอรายจ่ายติดลบ ต้องใช้เงินเก็บ ต้องลดรายจ่าย ต้องกู้ รายจ่ายขึ้นเร็วกว่ารายรับ และแนวโน้มจะยังไปแบบนี้ต่อ

 

ไม่ต้องให้นักเศรษฐศาสตร์ระดับโลกหรือระดับประเทศมาคาดการณ์ว่าเกิดเศรษฐกิจแบบ stagflation ประชาชนสามารถรู้สึกได้จากความลำบากมากขึ้นโดยทั่วไป ในสถานการณ์แบบนี้ รัฐบาลมีทางออกแบบไหนและควรไปทางไหน ปัญหา 2 เรื่องใหญ่ๆ ที่สุด 1.ของแพง ค่าครองชีพสูง เงินเฟ้อ ติดกันหลายปี 2.รายได้หด ไม่ขึ้นตาม หากให้ยาแรงเงินเฟ้อมากเกินไป เช่นขึ้นดอกเบี้ยเยอะๆ ลดแรงซื้อก็จะทำให้รายได้หายอีก และไม่มีอะไรยืนยันว่าของจะถูกลง

 

หากให้การกระตุ้นเศรษฐกิจมากเกินไป ขึ้นค่าแรงเยอะๆ ก็อาจส่งผลให้เกิดสภาพ easy money chasing too few goods และเกิดเงินเฟ้ออีก เป็นทางเลือกที่ยาก และต้องคิดและทำให้ดี ให้สมดุล

 

มีข้อเสนอว่า เงินเฟ้อของไทย คราวนี้มาจากด้านอุปทาน (ปริมาณสินค้าที่น้อยลงด้วยเหตุผลใดๆ ก็ตาม) มากกว่ากำลังซื้อที่แรง ขณะที่ไทยไม่แรง และมาจากเหตุการณ์ภายนอกมากกว่าภายใน เช่น สงครามรัฐบาลไทยจะทำนโยบายได้ผลดีต่อประชาชนและประเทศมากกว่า หากให้น้ำหนักมากขึ้น ในด้านการกระตุ้น แรงซื้อ เพิ่มรายได้ การกระตุ้นเศรษฐกิจที่ดี และได้ผล ต้องอาศัยข้อมูลและยาแรง และให้ยาถูกที่ ถูกจุด เราควรมาเริ่มที่เครื่องยนต์ของเศรษฐกิจไทยดู

 

1) การลงทุนภาคเอกชนในช่วงเงินเฟ้อสูง ดอกเบี้ยขาขึ้น หวังได้ยากว่าจะดี เรื่องนี้รัฐบาลพอทำได้บ้าง เช่น ลงทุนโครงสร้างพื้นฐานในระยะยาว ตรึงดอกเบี้ยให้ขึ้นน้อยที่สุด ช่วยเรื่องสิ่งแวดล้อมด้านภาษี และการทำธุรกิจให้มีแรงจูงใจมากขึ้น

 

2) การส่งออก อาจไม่ดีเท่าที่คิด เพราะ global demand peaking and falling แต่ยังเป็นเครื่องยนต์สำคัญ
ภาคส่งออก ต้องมีการจ้างงานมากขึ้นกว่านี้ และน่าจะจ่ายค่าแรงที่มากขึ้นได้บ้าง อย่างน้อยมากกว่าภาคอื่น
เครื่องยนต์สำคัญที่สุด ที่เหลืออยู่ คือการใช้จ่ายภาครัฐ การกู้เพิ่มเพื่อมาลงทุน โครงสร้างพื้นฐานต่างๆ เป็นทางใช้เงินที่ดีมาก ในช่วงนี้และจำเป็น

 

รัฐบาลอย่าไปกลัวการกู้ เพราะรัฐบาลกู้ได้ถูก (กู้ในประเทศ) และการกู้อาจทำให้ต้นทุนการเงินของกิจการใหญ่สูงขึ้นเช่นการออกพันธบัตร อย่าไปกังวลมากเพราะเขามีความแข็งแรงมากพอ จะช่วยให้คนได้เงินออมสูงขึ้นและให้คนตัวเล็กไปพึ่งธนาคารมากขึ้น ซึ่งรัฐและ ธปท.สามารถมีอิทธิพลได้ระดับหนึ่ง

 

สำคัญคือการใช้เงินของรัฐ ต้องใช้ให้ถูกและให้มี productivity ทั้งระยะสั้น (จ้างงาน) และระยะยาว (ความสามารถในการแข่งขัน) และสร้างรายได้และสร้างเสถียรภาพในระยะยาว แต่ต้องสามารถวัดผลได้ การกู้จึงจะมี credibility หรือความน่าเชื่อถือ เชื่อว่าเป็นสิ่งที่รัฐบาลควรทำอย่างมาก ทำมากกว่านี้ กู้ให้ถึงเพดาน 70%


อย่าไปกังวลเรื่องหนี้สาธารณะ (debt to GDP ) มากเกินไป เพราะเงินเฟ้อ และเศรษฐกิจที่โต จะทำให้ nominal GDP หรือผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศที่เป็นตัวเงิน โตเร็วกว่าหนี้ และโดยเฉพาะเร็วกว่าดอกเบี้ยจ่าย

 

สำคัญที่สุด 100% คือ อีกเครื่องมือหนึ่งที่มองว่าจำเป็นเร่งด่วนที่สุด คือ การสนับสนุน โปรโมตท่องเที่ยวอย่างจริงจังที่สุด เป็นทางออกระยะสั้นที่ดีที่สุดในการกระตุ้นเศรษฐกิจ และเพิ่มรายได้

 

ไทยมี hardware (infrastructure เช่น โรงแรม สถานที่ท่องเที่ยว การเดินทางในประเทศ) มี software คือภาคบริการ คน ดีที่สุด พร้อมที่สุด และไม่น่าจะมี supply disruption มากนัก แต่อาจมีบ้างว่าคนไม่พอ
ยุทธศาสตร์ที่ดีที่สุด คือ การทำการตลาดอย่างเข้มข้นกับ จีน ฮ่องกง สิงคโปร์ ประเทศในเอเชียและยุโรป
จีนมีโอกาสเปิดมากในอีก 6 เดือนข้างหน้า ทำอย่างไรให้ไทยเป็นตัวเลือกแรก ที่หมายแรก ยุโรป เปิดแล้ว ทำอย่างไรให้ไทยเป็น summer destination สำหรับปี 2022

 

ค่าเงินบาทอ่อน ราคาห้องพักยังไม่แพง (ยุโรป อเมริกา แพงมาก) โรคโควิด-19 น้อย ไม่มีสงคราม
รัฐบาทต้องทุ่มการลงทุน ส่งเสริมเต็มที่ท่องเที่ยว wellness ตรวจสุขภาพ ปลอดภัยประหยัดเงิน อาจแถมไม่เก็บภาษี วีซ่าทำงานระยะสั้น (3 เดือน มาทำงาน work from home ที่ไทย) ดึงนักท่องเที่ยวให้เต็มที่ จะช่วยเร่ง consumption ของไทยได้ในปีนี้ และช่วยธุรกิจท่องเที่ยวโรงแรม ธุรกิจนวด ให้ฟื้นได้เป็นยุทธศาสตร์ทางออกระยะสั้น short term strategy ที่ดีที่สุดทางหนึ่ง แต่รัฐบาลต้องทำให้ถูก ต้องปลดล็อก test and go ให้เข้ามาเสรีให้เร็วที่สุด

 

หากทำแบบนี้ คือ ให้น้ำหนัก กับการเพิ่ม nominal GDP ให้เร็ว ฐานภาษีก็โตตาม รายได้ ควรจะขึ้น ในขณะเดียวกันพยายามให้รายได้ตกไปกับคนตัวเล็กมากที่สุด การท่องเที่ยว สามารถช่วยตรงนี้ได้ในระยะสั้น การลงทุนโครงสร้างพื้นฐานใหญ่ๆ สามารถช่วยเราได้ในระยะยาว

 

ขณะเดียวกัน การใช้นโยบาย food / items substituted หรือสินค้าทางเลือก ร่วมกับการอุดหนุนราคาพลังงาน และสินค้าจำเป็น บางส่วน (เช่น ปุ๋ย อาหารสัตว์) สำหรับกิจการขนาดเล็ก และประชาชน ทั่วไปเป็นสิ่งจำเป็น อย่างมาก ที่รัฐต้องเอาเงินมาทำให้ ทำชั่วคราว ให้ประชาชนได้มีโอกาส เวลาในการปรับตัว

 

อีกด้านที่สำคัญเช่นกัน คือ ต้องลดภาระประชาชนที่จ่ายหนี้ ราคาสินค้าแพง หนี้นอกระบบ เดือนละ 10-20% หนี้ในระบบกับบริษัทจดทะเบียนในตลาด ราคา 18-25% ต่อปี รัฐบาลต้องกดดันให้มาก และให้ทางเลือกที่ถูกลงให้ได้ หากสังเกตดีๆ บริษัทปล่อยหนี้ในตลาด กำไรดี NPL ต่ำ กำไรส่วนต่างดอกเบี้ยสูงเกินไป แสดงว่าน่าจะมีโอกาสในการลดดอกเบี้ยให้มาก อยากเห็นรัฐบาลให้ความสำคัญเรื่องนี้มากขึ้น มากเหมือนการหาเสียง

 

โดยสรุป มองว่า รัฐไทย น่าจะใช้นโยบายขยายตัวมากกว่าหดตัว และพยายามคุมเงินเฟ้อให้ได้ในกรอบที่สูงขึ้นอย่างมีวินัย ไม่ลดดอกเบี้ย แต่ไม่ขึ้น ไปลดเฉพาะดอกเบี้ยคนจน เน้นการใช้นโยบายการคลังมาตรึงภาระรายจ่าย และกระตุ้นรายได้ และเน้นการเปิดประเทศให้มีนักท่องเที่ยวเข้าให้มากที่สุด

 

ในระยะสั้นๆ น่าจะมีสมดุลที่ดีในการต่อสู้กับ stagflation ที่ไม่ต้องให้นักเศรษฐศาสตร์มาบอกเรา แต่ให้ใช้เสียงประชาชนมาเป็นที่ตั้งประเทศไทยมีเสถียรภาพ การเงิน การคลังที่ดีมาก เราควรใช้ให้เป็นประโยชน์

 

อ่านแล้วจับเนื้อหาชัดๆ นี่อาจเป็นข้อเสนอแนะที่เป็นทางรอดของไทยในยามที่ต้อง
เผชิญหน้ากับวิกฤต

ข่าวที่เกี่ยวข้อง