รีเซต

เตือน! เฝ้าระวังน้ำทะเลยกตัวสูงบริเวณอ่าวไทย 13 ธันวาคมนี้

เตือน! เฝ้าระวังน้ำทะเลยกตัวสูงบริเวณอ่าวไทย 13 ธันวาคมนี้
TNN ช่อง16
12 ธันวาคม 2564 ( 10:15 )
116
เตือน! เฝ้าระวังน้ำทะเลยกตัวสูงบริเวณอ่าวไทย 13 ธันวาคมนี้



กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) ได้รายงานสถานการณ์น้ำภาพรวมของประเทศวันนี้ (12 ธ.ค.64) ว่า ประเทศไทยตอนบนมีอากาศเย็นถึงหนาว ส่วนภาคใต้มีฝนน้อย โดยยังมีฝนฟ้าคะนองบางแห่งทางตอนล่างของภาค แล้วช่วง 24 ชั่วโมงที่ผ่านมามีฝนตกหนักถึงหนักมากบริเวณ จ.นครศรีธรรมราช 73 มิลลิเมตร , ชุมพร 28 มิลลิเมตร และตรัง 10 มิลลิเมตร โดยเฝ้าระวังน้ำทะเลยกตัวสูงบริเวณอ่าวไทยถึงวันที่ 13 ธันวาคม ทำให้น้ำทะเลซัดฝั่งเข้าท่วมพื้นที่ชายทะเล เนื่องจากอิทธิพลจากลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือกำลังแรง ส่งผลให้ภาคใต้ฝั่งอ่าวไทยมีน้ำทะเลยกตัวสูงขึ้นมากว่าปกติ 30 - 50 เซนติเมตร แล้วมีพื้นที่เกิดน้ำท่วมขัง บริเวณ จ.สุราษฎร์ธานี รวม 2 อำเภอ 7 ตำบล 14 หมู่บ้าน 490 ครัวเรือน 


ภาพรวมปริมาณน้ำใช้การแหล่งน้ำทั้งประเทศทุกขนาด 38,626 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือร้อยละ 67 และแหล่งน้ำขนาดใหญ่ 31,175 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือร้อยละ 65 จุดเฝ้าระวังน้ำน้อยในแหล่งน้ำขนาดใหญ่ 5 แห่ง คือ 


1.เขื่อนแม่กวงอุดมธารา

2.เขื่อนแม่งัด 

3.เขื่อนภูมิพล

4.อ่างเก็บน้ำแม่จาง 

5.เขื่อนสิริกิติ์ 


ส่วนคุณภาพน้ำเพื่อการอุปโภค-บริโภคและการเกษตร ณ จุดเฝ้าระวัง ในแม่น้ำสายหลัก แม่น้ำเจ้าพระยา ท่าจีน แม่กลอง บางปะกงมีค่าความเค็มอยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน ส่วนแม่น้ำท่าจีนมีปริมาณออกซิเจนละลายน้ำต่ำกว่าเกณฑ์มาตรฐาน


ศูนย์บริหารจัดการน้ำส่วนหน้าในพื้นที่ภาคใต้ กอนช. ยังได้ติดตามสภาพอากาศและสถานการณ์น้ำในพื้นที่ภาคใต้ช่วงวันที่ 14 - 17 ธันวาคม หย่อมความกดอากาศต่ำที่ปกคลุมบริเวณเกาะบอร์เนียวจะเคลื่อนผ่านประเทศมาเลเซีย ประกอบกับ มรสุมตะวันออกเฉียงเหนือที่พัดปกคลุมอ่าวไทย ภาคใต้ และทะเลอันดามันมีกำลังปานกลาง ทำให้ภาคใต้ตอนล่างจะมีฝนเพิ่มขึ้นและมีฝนตกหนักบางแห่ง จึงกำชับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่เตรียมพร้อมรับมือ โดยกรมชลประทานได้เฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์น้ำท่าและสภาพอากาศจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ด้วยการพิจารณาปรับการระบายน้ำให้ส่งผลกระทบต่อพื้นที่ท้ายน้ำให้น้อยที่สุด พร้อมให้แจ้งเตือนพื้นที่ด้านท้ายก่อนการระบายน้ำทุกครั้งเพื่อลดความเสียหายที่จะเกิดกับประชาชน ส่วนในพื้นที่ไม่มีระบบชลประทานจะใช้ระบบโทรมาตรติดตามปริมาณน้ำแล้วนำมาวิเคราะห์สถานการณ์น้ำ เพื่อแจ้งเตือนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้เฝ้าระวังและรับมือได้ทันท่วงที


แหล่งที่มา : สถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย



ข่าวที่เกี่ยวข้อง