รีเซต

กรมชลประทานร่วมมือญี่ปุ่น ปรับปรุงระบบการบริหารจัดการน้ำเขื่อนป่าสักฯ

กรมชลประทานร่วมมือญี่ปุ่น ปรับปรุงระบบการบริหารจัดการน้ำเขื่อนป่าสักฯ
มติชน
7 มกราคม 2565 ( 00:24 )
42

เมื่อวันที่ 6 มกราคม ที่กรมชลประทาน นายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทาน ลงนามบันทึกความร่วมมือ (MoC) ระหว่างกรมชลประทานแห่งราชอาณาจักรไทยและกระทรวงกิจการภายในและการสื่อสารแห่งประเทศญี่ปุ่น ว่าด้วยการปรับปรุงระบบการบริหารจัดการน้ำของเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ ด้วยระบบเรดาร์ Solid-State Polarimetric X-band ซึ่งมีนายโนซากิ มาซาโตชิ อธิบดีกรมวิทยุสำนักงานสื่อสารโทรคมนาคม กระทรวงกิจการภายในและการสื่อสารแห่งประเทศญี่ปุ่นเป็นผู้ลงนามฝ่ายญี่ปุ่น โดยมี ดร.ทวีศักดิ์ ธนเดโชพลรองอธิบดีฝ่ายบำรุงรักษา นายโฮโซโนะ เคสุเกะ เลขานุการเอกด้านดิจิทัล สารสนเทศ เทคโนโลยีการสื่อสาร วิทยาศาสตร์ และนวัตกรรมประจำสถานเอกอัครราชทูตญี่ปุ่นประจำประเทศไทย นายสุรัช ธนูศิลป์ผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่ 10 และเจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้อง เข้าร่วมเป็นสักขีพยานในพิธี

 

นายประพิศ กล่าวว่า การลงนาม MoC ในวันนี้ เป็นการริเริ่มความร่วมมือระหว่างกรมชลประทานกับกระทรวงกิจการภายในและการสื่อสารแห่งประเทศญี่ปุ่น เพื่อร่วมมือกันกำหนดแนวทางในการเพิ่มประสิทธิภาพระบบการบริหารจัดการน้ำของเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ จังหวัดลพบุรีสระบุรี ด้วยระบบเรดาร์ Solid-State Polarimetric X-band ด้วยการปรับปรุงการบริหารจัดการอุทกภัยและการบริหารจัดการน้ำของเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ อาทิ การหาความสัมพันธ์ของน้ำฝนน้ำท่า การประเมินปริมาณน้ำที่จะไหลลงอ่างเก็บน้ำฯ ซึ่งจะช่วยสนับสนุนให้การบริหารจัดการน้ำเกิดประสิทธิภาพสูงสุดและทันต่อสถานการณ์ ตอบสนองต่อภารกิจของกรมชลประทาน รวมทั้งสนับสนุนให้กรมชลประทานนำระบบดังกล่าวเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในแผนการป้องกันภัยพิบัติของประเทศไทยต่อไปในอนาคต

 

สำหรับระบบเรดาร์ X-Band จะมีการส่งข้อมูลเป็นระบบ Real time มีความละเอียดสูงในการประเมินปริมาณฝน ส่งสัญญาณด้วยระบบ Dual polarization ส่งคลื่นออกไปได้ทั้งแนวตั้งและแนวนอน สามารถเพิ่มศักยภาพในการวัดปริมาณฝนได้อย่างถูกต้องมากขึ้น ใช้ประเมินปริมาณน้ำที่จะไหลลงอ่างเก็บน้ำ เพื่อใช้ในการบริหารจัดการให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดทันต่อเหตุการณ์ ปัจจุบัน สถานีตรวจวัดอากาศดังกล่าวได้ทำการก่อสร้างแล้วเสร็จกว่า 80% โดยรอการติดตั้งเรดาร์ตรวจอากาศซึ่งนำเข้าจากประเทศญี่ปุ่น และติดตั้งอุปกรณ์ต่าง ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จพร้อมใช้งานภายในฤดูฝนปี 2565 นี้

ข่าวที่เกี่ยวข้อง