รีเซต

อันตราย! โรคไอพีดี อาการสังเกตยากใกล้เคียงโควิด19

อันตราย! โรคไอพีดี อาการสังเกตยากใกล้เคียงโควิด19
TrueID
18 พฤศจิกายน 2564 ( 13:34 )
156

ระดมแพทย์โรคติดเชื้อให้ข้อมูลอันตราย โรคติดเชื้อนิวโมคอคคัสชนิดรุกราน หรือ ไอพีดี (IPD : Invasive Pneumococcal Disease) หลังอาการรุนแรงไม่แตกต่างจากโควิด19 โดยเฉพาะเด็กเล็ก ผู้สูงอายุ ทำให้แยกโรคยาก ย้ำ! วัคซีนป้องกันไอพีดีอีกทางเลือกป้องกันโรค

 

เมื่อวันที่ 16 พ.ย.2564 ที่ผ่านมา มูลนิธิวัคซีนเพื่อประชาชน ร่วมกับ สมาคมโรคติดเชื้อในเด็กแห่งประเทศไทย จัดแถลงข่าวผ่านระบบออนไลน์ “โครงการสร้างเสริมภูมิคุ้มกัน ป้องกันโรคติดเชื้อนิวโมคอคคัส เพื่อเด็กกลุ่มเสี่ยง ปีที่ 6 เนื่องในวันปอดอักเสบโลก (World Pneumonia Day 2021)” ซึ่งองค์การอนามัยโลกกำหนดให้ทุกวันที่ 12 พ.ย.ของทุกปีเป็นวันปอดอักเสบโลก เพื่อตระหนักถึงความสำคัญ พร้อมร่วมรณรงค์ปลุกจิตสำนึก และเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจ รวมไปถึงวิธีปฏิบัติที่ถูกต้องในการป้องกันโรคปอดอักเสบ

 

 

(พิเศษ) นพ.ทวี โชติพิทยสุนนท์ นายกสมาคมโรคติดเชื้อในเด็กแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ปัจจุบันสถานการณ์โรคปอดอักเสบที่ไม่รวมการติดเชื้อโควิด-19 ในประเทศไทย ตั้งแต่ 1 มกราคม - 1 พฤศจิกายน 2564 พบผู้ป่วย 125,129 ราย มีรายงานผู้เสียชีวิต 183 ราย โดยพบมากที่สุดในกลุ่มอายุ 65 ปีขึ้นไป รองลงมาคือกลุ่มเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี (รายงานการเฝ้าระวังโรค สำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข) “โรคปอดอักเสบ” หรือ “โรคปอดบวม” เป็นโรคหนึ่งที่มาพร้อมกับฤดูฝน และฤดูหนาว พบได้กับทุกวัย ตั้งแต่แรกเกิดจนถึงสูงอายุ แต่สำหรับในเด็กนั้น นับได้ว่าเป็นโรคร้ายลำดับต้น ๆ ตามสถิติแล้วปอดอักเสบ ถือได้ว่าเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับต้น ๆ ของเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี

 

รศ.(พิเศษ) นพ.ทวี กล่าวอีกว่า โดยสาเหตุเกิดได้จากทั้งเชื้อไวรัส เชื้อแบคทีเรีย หรือทั้งเชื้อไวรัสและแบคทีเรียร่วมกัน ที่พบบ่อยในเด็กคือเชื้อนิวโมคอคคัส (Streptococcus pneumoniae) โดยเป็นเชื้อแบคทีเรียที่มักจะเกาะอยู่ที่บริเวณในคอของเด็กเฉย ๆ โดยยังไม่ได้ทำให้เป็นโรค แต่สามารถแพร่กระจายออกไปให้ผู้ที่อยู่รอบข้างได้ ผ่านทางการไอ จาม หรือโดยการสัมผัสกับสารคัดหลั่งที่มีเชื้อโรคอยู่ และเมื่อใดที่เชื้อที่อยู่ในคอแพร่กระจายไปสู่อวัยวะอื่น ๆ ในร่างกายจะทำให้เกิดโรคที่รุนแรงตามมาได้ ไม่ว่าจะลงไปที่ปอด ทำให้เกิดปอดอักเสบ ซึ่งจะมีอาการไข้ ไอ มีเสมหะ หายใจหอบเหนื่อย หากมีอาการรุนแรงอาจพบมีหนองในช่องเยื่อหุ้มปอด หรือหากแพร่กระจายเข้าไปในกระแสเลือด หรือเข้าสมอง ก็จะเกิดภาวะที่เรียกว่า โรคติดเชื้อนิวโมคอคคัสชนิดรุกราน หรือ ไอพีดี (IPD : Invasive Pneumococcal Disease) ซึ่งจะมีอาการที่รุนแรงและอาจเสียชีวิตได้

 

(พิเศษ) นพ.ทวี โชติพิทยสุนนท์

 

ศ.พญ.กุลกัญญา โชคไพบูลย์กิจ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยคลินิก คณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล เปิดเผยว่า “โรคไอพีดี (IPD) เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียนิวโมคอคคัส เป็นโรคที่มีอาการรุนแรง โดยอาการขึ้นกับว่ามีการติดเชื้อของอวัยวะส่วนใด อาจเป็นได้ตั้งแต่การติดเชื้อในกระแสเลือด อาจจะมีหรือไม่มีภาวะปอดอักเสบร่วมด้วย และเยื่อหุ้มสมองอักเสบ ซึ่งทั้งหมดที่กล่าวมานั้นเป็นภาวะที่รุนแรงและอาจทำให้เสียชีวิตได้ และถึงแม้จะรอดชีวิตก็ยังมีโอกาสที่จะเกิดความพิการและผลกระทบตามมาในระยะยาวได้

 

ศ.พญ.กุลกัญญา กล่าวว่า จากรายงานขององค์การอนามัยโลกพบว่า โรคไอพีดียังคงเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับ 1 ของโรคที่ป้องกันได้ด้วยวัคซีน ในเด็กอายุต่ำกว่า 5 ขวบปีแรก5 และเด็กทารกที่เคยป่วยเป็นโรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบจากเชื้อนิวโมคอคคัสมีโอกาสสูญเสียการได้ยิน พิการทางสมอง การเคลื่อนไหวร่างกายผิดปกติ และมีอาการชักได้ เด็กทั่วไปโดยเฉพาะที่อายุน้อยกว่า 2 ปีมีความเสี่ยงต่อการเป็นโรคไอพีดีมากกว่าผู้ใหญ่ โดยเด็กที่มีความเสี่ยงสูงมากเป็นพิเศษ ได้แก่ เด็กที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคปอด โรคหอบหืด ภาวะไม่มีม้าม หรือม้ามทำงานบกพร่อง โรคหัวใจ โรคตับ โรคไต โรคเบาหวาน มีภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่อง หรือมีน้ำไขสันหลังรั่ว รวมถึงเด็กที่เคยได้รับการผ่าตัดใส่ชุดประสาทหูเทียม นอกจากนี้สิ่งแวดล้อมที่แออัด ก็ยังเป็นปัจจัยสำคัญที่จะเพิ่มความเสี่ยงต่อโรคไอพีดี โดยเฉพาะเด็กที่อยู่ในสถานรับเลี้ยงเด็กต่าง ๆ

 

ศ.พญ.กุลกัญญา โชคไพบูลย์กิจ

 

ศ.พญ.กุลกัญญา กล่าวว่า โรคไอพีดีทั้งในเด็กและในผู้ใหญ่สามารถป้องกันได้ด้วยการฉีดวัคซีน ซึ่งจะสามารถป้องกันการติดเชื้อได้ ลดการป่วยที่รุนแรงได้ โดยผู้ที่ถือว่าเป็นกลุ่มเป้าหมายสำหรับการฉีดวัคซีนนี้คือเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี เนื่องจากเป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูงต่อการติดเชื้อนิวโมคอคคัสและเกิดอาการรุนแรง ยิ่งอายุน้อยยิ่งเสี่ยง จึงแนะนำให้ฉีดวัคซีนป้องกันโรคไอพีดีเข็มแรกตั้งแต่อายุ 2 เดือน และฉีดเข็มต่อไปเมื่ออายุได้ 4 เดือน และ 6 เดือน และเข็มสุดท้ายเป็นเข็มกระตุ้น ในช่วงอายุ 12-15 เดือน นอกจากนี้ควรหลีกเลี่ยงการพาบุตรหลานเข้าไปในสถานที่ซึ่งมีคนอยู่แออัดหรืออยู่ใกล้ชิดกับผู้ป่วย จัดสิ่งแวดล้อมภายในบ้านให้สะอาดและอากาศถ่ายเทอยู่เสมอ หลีกเลี่ยงควันบุหรี่ ควันไฟ ควันจากท่อไอเสียรถ หรืออากาศที่หนาวเย็นเกินไป หมั่นล้างมือบ่อย ๆ และหากสงสัยว่าลูกเริ่มมีอาการของโรคปอดอักเสบหรือไอพีดี ก็ควรรีบพามาพบแพทย์โดยเร็ว เพื่อจะได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที

 

นพ.มานิต ธีระตันติกานนท์ ประธานกรรมการมูลนิธิวัคซีนเพื่อประชาชน กล่าวว่า มูลนิธิวัคซีนเพื่อประชาชน ยังคงให้ความสำคัญและตระหนักถึงเรื่องการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันสำหรับเด็กไทย และเชื่อมั่นเสมอมาว่า “วัคซีน” ยังคงเป็นหนึ่งในเครื่องมือที่สำคัญ ที่จะช่วยในการดูแลสุขภาพ นอกจากจะมีประสิทธิภาพช่วยป้องกันไม่ให้ติดเชื้อแล้ว ยังช่วยลดความรุนแรงของโรค ป้องกันการเสียชีวิตได้ โดยเฉพาะโรคติดเชื้อที่มีความรุนแรง เช่น โรคปอดอักเสบจากเชื้อนิวโมคอคคัส หรือโรคไอพีดี โดยเฉพาะในสถานการณ์ปัจจุบันที่ยังมีการระบาดของโรคโควิด-19 อย่างต่อเนื่อง ก็ยิ่งมีโอกาสที่จะเกิดการติดเชื้อร่วมกันระหว่างเชื้อไวรัสโควิด-19 และเชื้อนิวโมคอคคัสทำให้ยิ่งทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้นไปอีก จึงอยากเน้นย้ำให้เห็นความสำคัญของวัคซีนไม่เฉพาะวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 แต่รวมถึงวัคซีนป้องกันโรคปอดอักเสบ หรือโรคไอพีดีด้วย

 

ศ.นพ.ธีระพงษ์ ตัณฑวิเชียร ผู้ช่วยผู้อำนวยการสถานเสาวภา สภากาชาดไทย กล่าวถึงสถานการณ์ปอดอักเสบในผู้ใหญ่ว่า สำหรับในผู้สูงอายุซึ่งจะมีภูมิต้านทานที่ลดลงตามอายุ จะมีความเสี่ยงสูงที่จะเกิดภาวะแทรกซ้อนจากปอดอักเสบ เช่น การติดเชื้อในกระแสเลือดหรือมีอาการรุนแรงจนระบบหายใจล้มเหลว โรคปอดอักเสบมีการดำเนินโรคที่แตกต่างกันไปขึ้นกับชนิดของเชื้อที่เป็นสาเหตุ ผู้ป่วยอาจต้องพักฟื้นในโรงพยาบาลนานหลายวันจนถึงหลายสัปดาห์ อาการอาจจะเริ่มจากคล้ายไข้หวัด คือ มีไข้ ไอ มีเสมหะ ต่อมาเมื่ออาการรุนแรงขึ้น จะมีอาการหายใจเหนื่อยหอบ เจ็บหน้าอก อาจมีอาการคลื่นไส้ อาเจียน อ่อนเพลียได้ เมื่ออาการรุนแรงขึ้น อาจต้องมีการใช้เครื่องช่วยหายใจ พักฟื้นในห้องไอซียู หรืออาจเสียชีวิต

 

ศ.นพ.ธีระพงษ์ กล่าวอีกว่า สังเกตได้ว่าอาการจะใกล้เคียงกับโรคโควิด-19 ทำให้แยกจากกันได้ค่อนข้างยากซึ่งกลุ่มผู้ที่มีความเสี่ยงทั้งต่อโรคโควิด-19 และโรคปอดอักเสบจากเชื้อนิวโมคอคคัส ก็ยังมีความใกล้เคียงกัน ได้แก่ ผู้สูงอายุ ผู้ที่มีประวัติเป็นโรคปอดเรื้อรัง ซึ่งมีอยู่ด้วยกันหลายโรค เช่น โรคถุงลมโป่งพอง หอบหืด หรือมะเร็งปอด ผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคตับ ความดันโลหิตสูง ไตวายเรื้อรัง โรคเบาหวาน โรคหัวใจ และมะเร็ง เป็นต้น ดังนั้นทั้งวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 หรือวัคซีนป้องกันโรคปอดอักเสบ ก็ยังคงมีความจำเป็นในผู้ใหญ่เช่นเดียวกับในเด็ก

 

 

เอกสารอ้างอิง:

1. World Health Organization (World Pneumonia Day 2021) at

https://stoppneumonia.org/latest/world-pneumonia-day/

2. World Health Organization (World Pneumonia Day 2021) at

https://stoppneumonia.org/latest/world-pneumonia-day/

สำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข. รายงานโรคในระบบเฝ้าระวัง 506. at http://doe.moph.go.th/surdata/506wk/y64/d31_4364.pdf

Benet T et al. Am. J. Trop. Med. Hyg. 2017;97(1):68–76

WHO. Global immunization data. 2014. Accessed 27 Oct 2021. http://www.who.int/immunization/monitoring_surveillance/global_immunization_data.pdf

 

ข้อมูล : สำนักข่าว Hfocus เจาะลึกระบบสุขภาพ

 

 

--------------------

เกาะติดสถานการณ์โควิด-19  ทันความเคลื่อนไหว ได้ความรู้ที่ถูกต้อง ส่งตรงถึงมือคุณ
คลิกเลย!! >>> รู้ทันกันโควิด <<< หรือ กด *301*35# โทรออก

 

ทุกประเด็นร้อนข่าวสาร สาระ ทันเหตุการณ์ พูดคุยกันได้ 24 ชม.

คลิกเลย >>> TrueID Community <<<

 

 

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง