รีเซต

เรกกูเลเตอร์ตรึงค่าเอฟที รับแนวโน้มเศรษฐกิจฟื้นครึ่งปีหลัง - ใช้เงินอุดหนุน 2,610 ล้าน

เรกกูเลเตอร์ตรึงค่าเอฟที รับแนวโน้มเศรษฐกิจฟื้นครึ่งปีหลัง - ใช้เงินอุดหนุน 2,610 ล้าน
ข่าวสด
5 มีนาคม 2564 ( 14:49 )
47
เรกกูเลเตอร์ตรึงค่าเอฟที รับแนวโน้มเศรษฐกิจฟื้นครึ่งปีหลัง - ใช้เงินอุดหนุน 2,610 ล้าน

เรกกูเลเตอร์ตรึงค่าไฟ - นายคมกฤช ตันตระวาณิชย์ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ. หรือเรกกูเลเตอร์) เปิดเผยว่า กกพ. มีมติให้ตรึงค่าไฟฟ้าผันแปร (เอฟที) สำหรับเรียกเก็บค่าไฟฟ้าในรอบเดือนพ.ค.-ส.ค. 2564 ที่ -15.32 สตางค์ต่อหน่วย ส่งผลให้อัตราค่าไฟฟ้าที่เรียกเก็บกับประชาชนเท่าเดิมที่ 3.61 บาทต่อหน่วยต่อไปอีก 4 เดือน คาดใช้เงินอุดหนุน 2,610 ล้านบาท จากเงินที่มีเก็บไว้ 4,129 ล้านบาท เพื่อบริหารจัดการค่าเอฟทีให้มีศักยภาพในการรักษาเสถียรภาพค่าไฟฟ้าตลอดทั้งปี 2564

 

“ความจริงค่าเอฟทีงวดเดือนพ.ค.-ส.ค. 2564 อ้างอิงต้นทุนราคาเชื้อเพลิงย้อนหลัง 6 เดือนลดลง ส่งผลให้ค่าเอฟทีที่ควรจะเป็นอยู่ที่ -18.02 สตางค์ต่อหน่วย ลดลง -2.7 สตางต์ต่อหน่วย และค่าไฟฟ้าที่เรียกเก็บกับประชาชนควรจะลดลงอยู่ในอัตรา 3.58 บาทต่อหน่วย แต่ กกพ.ประเมินแล้วว่าต้นทุนช่วงปลายปีนี้จะสูงขึ้น ส่งผลให้ค่าเอฟทีงวดเดือนก.ย.-ธ.ค. 2564 เพิ่มขึ้น 10.07 สตางค์ต่อหน่วย อยู่ที่ -7.95 สตางค์ต่อหน่วย ทำให้ค่าไฟฟ้าที่เรียกเก็บกับประชาชนเพิ่มขึ้นอยู่ที่ 3.68 บาทต่อหน่วย กกพ.จึงตัดสินใจตรึงค่าเอฟทีไว้เพื่อบรรเทาภาระความเดือนร้อนให้กับประชาชน”

 

โดย กกพ. ประเมินแนวโน้มราคาน้ำมันดิบดูไบอยู่ที่ 60 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล จากเดิมอยู่ที่ 54.8 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล อัตราแลกเปลี่ยนของค่าเงินบาทอ่อนค่าลงอยู่ที่ 31 บาทต่อเหรียญสหรัฐ จาก 30 บาทต่อเหรียญสหรัฐ เพื่อใช้ในการคำนวณค่าเอฟที

 

นอกจากนี้ คาดการณ์ความต้องการพลังงานที่เพิ่มขึ้นจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก หลังการแพร่ระบาดของโควิด-19 คลี่คลายในครึ่งปีหลัง ส่งผลต่อความต้องการใช้เชื้อเพลิงในตลาดโลกอย่างรุนแรง

ข่าวที่เกี่ยวข้อง