รีเซต

อินโดนีเซียยอมรับ'หมดหวังแล้ว'

อินโดนีเซียยอมรับ'หมดหวังแล้ว'
TNN World
24 เมษายน 2564 ( 14:37 )
115

 

ข่าววันนี้ ความหวังริบหรี่ในการช่วยเหลือลูกเรือ 53 คนในเรือดำน้ำของกองทัพเรืออินโดนีเซียที่สูญหายนอกชายฝั่งเกาะบาหลี คาดออกซิเจนในเรือหมดสิ้นเรียบร้อยแล้ว 

 


เรือดำน้ำน่าจะจมก้นทะเลไปแล้ว

 


ทีมกู้ภัยอินโดนีเซียคิดถึงความเลวร้ายที่สุดแล้ว เพราะออกซิเจนในเรือดำน้ำ “เคอาร์ไอ นังกาลา 402” ที่สูญหาย น่าจะหมดลงเรียบร้อยแล้วเกรงกันว่า เรือดำน้ำพร้อมลูกเรือ 53 คน อาจจมสู่ก้นทะเลลึกไปเรียบร้อย หลังจากสูญหายไปในวันพุธ (21 เมษายน) ระหว่างการซ้อมรบนอกชายฝั่งเกาะบาหลี ทำให้ทางการอินโดนีเซียต้องระดมกำลังค้นหาในบริเวณจุดเกิดเหตุครั้งใหญ่ 

 


จนถึงขณะนี้ มีออสเตรเลีย อินเดีย มาเลเซีย และสิงคโปร์ ส่งความช่วยเหลือ ส่วนสหรัฐฯ ส่งเครื่องบินตรวจการณ์ทางทะเล พี-8 โพไซดอน (P-8 Poseidon) ของกองทัพเรือ มาลงจอดที่เกาะบาหลีแล้วในช่วงเช้าวันนี้ 

 


จอห์น เคอร์บี โฆษกกระทรงงกลาโหมสหรัฐฯ กล่าวว่า อินโดนีเซียเป็นมิตรประเทศและหุ้นส่วนยุทธศาสตร์ที่ดี สหรัฐฯเสียใจอย่างสุดซึ้งที่ได้ทราบข่าวเกี่ยวกับชะตากรรมเรือดำน้ำของพวกเขา และสหรัฐฯ ก็ได้แต่สวดมนต์ภาวนาให้ทหารเรืออินโดนีเซียปลอดภัย รวมทั้งให้กำลังใจกองทัพเรืออินโดนีเซียและครอบครัวครัวของทหารเรือด้วย

 


ออกซิเจนหมดไปเกิน 10 ชั่วโมงแล้ว

 


คราบน้ำมันที่พบในทะเลอาจเป็นปัจจัยหนึ่งที่บ่งบอกถึงความเสียหายเกิดกับถังน้ำมันของเรือดำน้ำ นอกจากนี้ กองทัพอินโดนีเซีย ยังแถลงในช่วงดึกวันพฤหัสบดีว่า ตรวจพบสัญญาณของวัตถุหนึ่งในทะเลที่ความลึกระหว่าง 50-100 เมตร และได้ส่งเรือพร้อมอุปกรณ์ตรวจหาเคลื่อนเสียงใต้น้ำช่วยค้นหาด้วยความหวังว่า วัตถุดังกล่าวจะเป็นเรือดำน้ำ เคอาร์ไอ นังกาลา 402
โฆษกกองทัพอินโดนีเซีย แถลงว่า เรือดำน้ำลำนี้ จะมีออกซิเจนเหลือเพียงพอจนถึงเวลาประมาณ 03.00 น.ของวันนี้ตามเวลาท้องถิ่น หรือตรงกับประมาณ 04.00 น.ตามเวลาในไทย ซึ่งขณะนี้ ล่วงเลยช่วงเวลาดังกล่าวมานานแล้ว

 


เรือรบอย่างน้อย 6 ลำ เฮลิคอปเตอร์ 1 ลำ และทีมกู้ภัยอีก 400 คน เข้าร่วมในปฏิบัติการค้นหา สิงคโปร์และมาเลเซียส่งเรือเข้าไปในพื้นที่แล้ว และออสเตรเลีย ฝรั่งเศสและเยอรมนี ก็เสนอให้ความช่วยเหลือด้วย

 


ทำความรู้จัก ‘เคอาร์ไอ นังกาลา 402’ 

 


สำหรับเรือดำน้ำ เคอาร์ไอ นังกาลา-402 ( KRI Nanggala-402) ขนาดระวางขับน้ำ 1,395 ตัน สร้างในเยอรมนีตั้งแต่ปี 1977 หรือ 44 ปีมาแล้ว เข้าประจำการในกองทัพเรืออินโดนีเซียเมื่อปี 1981 และผ่านการซ่อมแซมแบบยกเครื่องในเกาหลีใต้เมื่อปี 2012 
ก่อนหน้านี้ กองทัพเรืออินโดนีเซียมีเรือดำน้ำผลิตในสหภาพโซเวียต 12 ลำ คอยประจำการดูแลความปลอดภัยของน่านน้ำ แต่ปัจจุบัน มีเรือดำน้ำประจำการเพียง 5 ลำ เป็นเรือดำน้ำผลิตในเยอรมนี 2 ลำ และผลิตในเกาหลีใต้อีก 3 ลำ

 


เรือดำน้ำที่สูญหาย เป็นหนึ่งในเรือดำน้ำ 5 ลำที่เหลืออยู่ของอินโดนีเซีย มีลูกเรือทั้งหมด 49 คน พลปืนอีก 3 คน และอาจมีผู้บัญชาการเรืออีก 1 คน ซึ่งยังไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นใคร

 


อินโดนีเซีย เป็นประเทศที่มีเกาะมากที่สุดในโลกด้วยจำนวนกว่า 17,000 เกาะ และได้มีการเพิ่มศักยภาพอย่างมากทางทหารในช่วงไม่กี่ปีมานี้ รวมทั้งการสั่งซื้อเรือดำน้ำเพิ่มอีก 3 ลำในช่วง 4 ปีข้างหน้า เพื่อตอบสนองต่อความท้าทายทางทะเลจากประเทศเพื่อนบ้าน รวมทั้งการที่มีเรือของจีนเข้ามาในน่านน้ำของอินโดนีเซียมากขึ้นในช่วงที่ผ่านมา

 


เคสเรือดำน้ำจมทั่วโลก

 


1. เรือดำน้ำ ‘เคิร์สก’ ของรัสเซียในปี 2000

 


โฆษกกองทัพเรือของอินโดนีเซีย กล่าวกับ BBC ว่า เหตุการณ์นี้เป็นครั้งแรกที่เรือดำน้ำอินโดนีเซียขาดการติดต่อ แต่เหตุการณ์ในลักษณะนี้เคยเกิดขึ้นมาแล้วในประเทศอื่น ๆ โดยในปี 2000 เรือดำน้ำของกองทัพเรือรัสเซีย “เคิร์สก” (Kursk) จมลงสู่ก้นทะเลลึกระหว่างซ้อมรบในทะเลแบเรนต์ส สูญหายไปพร้อมกับลูกเรือทั้งหมด 118 คน 

 


ผลการสอบสวนพบว่า ตอร์ปิโดลูกหนึ่งเกิดระเบิดขึ้น ซึ่งก็ลามไปถึงลูกอื่น ๆ ด้วย ส่งผลให้ลูกเรือดำน้ำเคิร์สกส่วนใหญ่เสียชีวิตทันที แต่ก็มีบางคนที่รอดชีวิตอยู่ได้หลายวัน ก่อนขาดอากาศหายใจเสียชีวิตทั้งหมด

 


2. เรือดำน้ำจีน ในปี 2003

 


ในปี 2003 เจ้าหน้าที่และลูกเรือ 70 คนของกองทัพเรือจีน เสียชีวิตจากอุบัติเหตุบนเรือดำน้ำชั้นหมิงระหว่างการซ้อมรบ และในปี 2017 เรือดำน้ำของอาร์เจนตินาสูญหายในมหาสมุทรแอตแลนติกทางตอนใต้ พร้อมลูกเรือ 44 คน ซากเรือถูกพบในอีกหนึ่งปีต่อมา และเจ้าหน้าที่กล่าวว่า เรือดำน้ำระเบิด 

 


3. เรือดำน้ำอาร์เจนตินา ในปี 2017

 


ในปี 2017 เรือดำน้ำของกองทัพอาร์เจนตินา สูญหายในน่านน้ำทางตอนเหนือของมหาสมุทรแอตแลนติก พร้อมลูกเรือ 44 คน เจ้าหน้าที่พบซากเรือในอีกหนึ่งปีต่อมา และยืนยันว่า เรือดำน้ำระเบิด

 



เรื่อง : สันติ สร้างนอก และ สุภาพร เอ็ลเดรจ
ภาพ : Reuter

 

 

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง