รีเซต

ชาวบ้านเดือดร้อน สะพานข้ามคลองหักกว่า 2 สัปดาห์ แจ้งเรื่องไปยังไร้วี่แววซ่อม

ชาวบ้านเดือดร้อน สะพานข้ามคลองหักกว่า 2 สัปดาห์ แจ้งเรื่องไปยังไร้วี่แววซ่อม
มติชน
30 กันยายน 2563 ( 09:20 )
99
ชาวบ้านเดือดร้อน สะพานข้ามคลองหักกว่า 2 สัปดาห์ แจ้งเรื่องไปยังไร้วี่แววซ่อม

ชาวบ้านลิพังตรังเดือดร้อนหนัก หลังสะพานไม้ทอดข้ามคลองเส้นทางสัญจรหัก พ่อแม่ต้องจูง หรือแบกลูกข้ามสะพานไปโรงเรียน เสี่ยงเกิดอันตราย วอนหน่วยงานช่วยเหลือ

 

เมื่อวันที่ 30 กันยายน 2563 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ชาวบ้านหมู่ 5 บ้านเขาติง ต.ลิพัง อ.ปะเหลียน จ.ตรัง ร้องเรียนว่า สะพานไม้ข้ามคลองหักหลังถูกน้ำป่าไหลหลากในช่วงพายุโนอึลเมื่อประมาณ 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา ส่งผลทำให้ชาวบ้านที่มีสวนยางพารา รวมทั้งพื้นที่การเกษตรอื่นๆ ที่อยู่ด้านในรวมไม่น้อยกว่า 20 แปลง ที่จะต้องใช้สะพานข้ามคลองดังกล่าว ต้องหยุดกรีดยางพารามายาวนานนับแต่บัดนั้น ทำให้ขาดรายได้ เพราะไม่สามารถจะขนน้ำยาง รวมทั้งขนผลผลิตทางการเกษตรอื่นๆได้ รวมทั้งบ้านพักอาศัยอยู่ด้านในจำนวน 2 หลังคาเรือนได้รับความเดือดร้อนอย่างหนัก

 

โดยบ้านหลังหนึ่งมีคนแก่อาศัยอยู่จำนวน 2 คน ขณะนี้ได้ออกจากบ้านไปอาศัยอยู่บ้านญาติ ส่วนอีกหลังซึ่งอยู่อาศัยกัน 2 คนพ่อลูก คือ นายธวัชชัย อินทร์เครา อายุ 42 ปี ชาวบ้าน ต.ลิพัง กับเด็กหญิงอายุ 8 ขวบ นักเรียนชั้นป.3 โรงเรียนเอกชนแห่งหนึ่งใน อ.ปะเหลียน ที่ยังคงพักอาศัยอยู่ที่บ้าน และจะต้องใช้สะพานข้ามคลองที่หักดังกล่าว เพื่อไปโรงเรียนและกลับบ้านทุกวันทั้งเช้า – เย็น โดยหากปริมาณน้ำสูงมาก ก็ต้องหยุดไปโรงเรียน แต่หากพอจะสามารถเดินข้ามได้ คุณพ่อก็พยายามจะแบกลูกขึ้นขี่คอ เพื่อนำไปส่งอีกฟาก ก่อนที่จะกลับไปเอากระเป๋านักเรียนเดินข้ามผ่านมา ผู้เป็นพ่อก็จะพยายามจูงลูกเดินข้ามสะพานที่หักอยู่กลางคลองยาวประมาณ 15 เมตร ดังกล่าว ทำให้ลูกสาวซึ่งหวาดกลัวลื่นล้มตกน้ำ ต้องร้องไห้เกือบทุกวันอย่างน่าอนาถใจ

 

 

ชาวบ้านกล่าวว่า ที่ผ่านมาหลังสะพานหักก็ได้ทำหนังสือพร้อมแนบบัญชีหางว่าวชาวบ้านที่ได้รับความเดือดร้อนรวมจำนวน 38 รายชื่อ ไปยัง อบต.ลิพังแล้ว และร้องเรียนผ่านผู้ใหญ่บ้านในพื้นที่ด้วย แต่ได้รับคำตอบจาก อบต.ว่า พื้นที่นี้อยู่ในเขตป่าไม้ ไม่สามารถจะซ่อมแซมได้

 

ทั้งนี้ ชาวบ้านต่างน้อยใจและเปรียบเทียบกับบางพื้นที่ ซึ่งอยู่ในเขตป่าเช่นเดียวกัน แต่อยู่ลึกเข้าไปมากกว่า ยังมีสะพานคอนกรีต หรือสะพานไม้ที่แข็งแรงไว้ใช้สัญจรขนผลผลิตทางการเกษตรได้ แต่ในพื้นที่นี้กลับสร้างไม่ได้ โดยชาวบ้านยืนยันว่าที่ดินบริเวณดังกล่าวชาวบ้านอาศัยทำกินมายาวนานหลายชั่วอายุคนแล้ว ทั้งหมดจึงเรียกร้องขอสะพานชั่วคราวให้สามารถเดินทางสัญจรไปมา รวมทั้งไว้สามารถไปทำมาหากิน ขนพืชผลทางการเกษตรได้ตามปกติ หรือขออนุเคราะห์เสาเข็ม 8 เสา เพื่อปักส่วนหัว -ท้าย และตรงกลางน้ำ ส่วนสะพานจะหาไม้มาทำเอง หรือขอเสาไฟฟ้าแรงสูงมาพาดเชื่อม 2 ฝั่ง ทำเป็นสะพานชั่วคราว ก็สามารถใช้สัญจรไปมาได้แล้ว

 

 

นายธวัชชัย อินทร์เครา คุณพ่อที่ต้องจูงหรือแบกลูกขี่คอข้ามสะพาน ซึ่งเป็นตัวแทนชาวบ้าน กล่าวว่า หลังเกิดเหตุตนเองพร้อมด้วยกลุ่มชาวบ้านที่มีบ้านเรือนอยู่ด้านใน 2 หลัง รวมทั้งชาวบ้านที่มีสวนยางพาราและพื้นที่การเกษตรอยู่ภายในรวม 38 รายชื่อ ได้ร่วมกันทำหนังสือร้องเรียนไปยัง อบต. รวมทั้งร้องเรียนผ่านผู้ใหญ่บ้านในพื้นที่แล้ว แต่ได้รับคำตอบว่าไม่สามารถจะซ่อมแซมสร้างสะพานชั่วคราวได้ เพราะอยู่ในเขตป่า โดยบ้านเรือนที่อยู่ด้านในมี 2 หลัง หลังหนึ่งเป็นผู้สูงอายุ 2 คน ขณะนี้ย้ายไปพักอาศัยบ้านญาติเป็นการชั่วคราว และบ้านของตนเอง ซึ่งจะต้องอยู่ที่บ้าน เพราะยังมีสัตว์เลี้ยงให้ต้องดูแลด้วย

 

“ซึ่งหลังสะพานหักมานานร่วม 2 สัปดาห์ ลูกได้โรงเรียนบ้างไม่ได้ไปบ้าง หากน้ำสูงมาก ก็จะไม่ได้ไป แต่หากพอจะเดินข้ามได้ ตนเองจะให้ลูกสาวขึ้นขี่คอพาเดินข้ามมา เพื่อมาส่งอีกฝั่ง จากนั้นกลับไปเอาสัมภาระ รวมทั้งกระเป๋านักเรียนตามมา หรือหากบางวันที่ฝนไม่ตกน้ำไม่มากนักเหมือนวันนี้ ตนเองจะจูงมือลูกสาวเดินข้าม แต่ก็ทุลักทุเล เพราะสะพานไม้ที่เก่าชำรุดและมีตะไคร้น้ำเกาะทำให้ลื่น เสี่ยงลื่นล้ม ทำให้ลูกสาวตกใจกลัว ร้องไห้เกือบทุกวัน จึงวอนขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าช่วยเหลือ ช่วยซ่อมแซมให้สามารถสัญจรไปมาได้ตามปกติเท่านั้น ” นายธวัชชัย กล่าว

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง