รีเซต

ศบค.นัดถก 18 มี.ค.-จ่อคลายล็อกมาตรการเพิ่มอีก ลุ้น "BA.2.2" โผล่ไทย 4 ราย-หมอปลอบยังไม่น่ากังวล

ศบค.นัดถก 18 มี.ค.-จ่อคลายล็อกมาตรการเพิ่มอีก ลุ้น "BA.2.2" โผล่ไทย 4 ราย-หมอปลอบยังไม่น่ากังวล
มติชน
15 มีนาคม 2565 ( 09:56 )
62
ศบค.นัดถก 18 มี.ค.-จ่อคลายล็อกมาตรการเพิ่มอีก ลุ้น "BA.2.2" โผล่ไทย 4 ราย-หมอปลอบยังไม่น่ากังวล

เมื่อวันที่ 15 มีนาคม ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยเมื่อวันที่ 14 มี.ค.ที่ผ่านมาว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม จะเป็นประธานการประชุมศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค.ชุดใหญ่ ในวันศุกร์ที่ 18 มีนาคมนี้คาดว่า กระทรวงสาธารณสุขและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะมีการเสนอปรับมาตรการต่างๆ ทั้งการควบคุม เฝ้าระวัง และป้องกันโควิด-19 ให้สอดคล้องกับสถานการณ์การแพร่ระบาด รวมทั้งอาจมีการพิจารณาคลายล็อกกิจกรรมต่างๆ เพื่อให้ประชาชนเดินหน้าใช้ชีวิตได้อย่างปกติ

 

วันเดียวกัน นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ แถลงอัพเดตสถานการณ์เชื้อไวรัสโควิด-19 กลายพันธุ์ว่า ข่าวที่ฮ่องกงพบสายพันธุ์ที่คาดว่าจะกลายพันธุ์มาจาก BA.2 เป็น BA.2.2 มีการกลายพันธุ์จุดสไปก์โปรตีน (spike protein) I1221T ส่วนนี้ ระบบข้อมูลจีเสด (GISAID) ยังไม่ได้ระบุชื่อไว้ ต้องรอ 2-3 วัน น่าจะได้ข้อสรุปเรื่องชื่อ เบื้องต้นพบในฮ่องกงและอังกฤษ ทั้งนี้ ฮ่องกงกำลังพบจำนวนผู้ติดเชื้อที่เสียชีวิตเพิ่มมากขึ้นในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ตั้งข้อสันนิษฐานว่า อาจจะเกิดจากสายพันธุ์ BA.2.2 หรือไม่ ต้องเรียนว่า การที่ฮ่องกง ผู้เสียชีวิตมากขึ้น ยังไม่สามารถสรุปได้ว่า เกิดจากสายพันธุ์ใหม่ที่พบ เนื่องจากเชื้อโอมิครอนสายพันธุ์ทั่วไป แพร่และติดเชื้อง่ายอยู่แล้ว เมื่อจำนวนผู้ติดเชื้อมากขึ้น ระบบสาธารณสุขรองรับไม่ไหว ก็อาจทำให้ผู้ป่วยมีโอกาสเสียชีวิตได้ ดังนั้น จึงเร็วเกินไปที่จะบอกว่าสายพันธุ์ย่อย BA.2.2 ทำให้ผู้ป่วยมีอาการรุนแรงมากขึ้น” นพ.ศุภกิจกล่าว

 

นพ.ศุภกิจกล่าวว่า ข้อมูลของกรมวิทยาศาสตร์ฯ ที่ส่งเข้าไปในจีเสด สอดคล้องว่า เป็นสายพันธุ์ย่อย BA.2 ส่วนใหญ่ พบประมาณ 4 ราย ที่กำลังวิเคราะห์รายละเอียดว่า อาจจะเข้าข่ายสายพันธุ์ย่อย BA.2.2 แต่ด้วยจีเสดยังไม่ได้กำหนดรายละเอียด จึงต้องมีการติดตามใกล้ชิด ยังไม่ต้องวิตกกังวล สิ่งสำคัญคือ ต้องเฝ้าระวังเพื่อตอบคำถาม 3 ข้อ ว่า แพร่เร็วกว่าหรือไม่ รุนแรงมากขึ้นทำให้เสียชีวิตมากขึ้นหรือไม่ และหลบภูมิคุ้มกันหรือไม่ ตรงนี้ต้องใช้ข้อมูลมากกว่านี้ หากการกลายพันธุ์ไม่ได้กระทบ 3 ส่วนนี้ ก็อาจเป็นการกลายพันธุ์ทั่วไป กรมวิทยาศาสตร์ฯเฝ้าระวังเรื่องนี้อยู่ตลอดเวลา ส่วนที่ประเทศไทยกำลังวิเคราะห์ว่า มีผู้ติดเชื้ออาการใกล้เคียงสายพันธุ์ย่อย BA.2.2 มี 4 ราย นั้น เป็นต่างชาติ 1 ราย ที่เหลืออีก 3 ราย เป็นคนไทย อาการป่วยไม่พบปัญหาอะไร และยังไม่ชัดว่าจะใช่หรือไม่ ขอรอผลวิเคราะห์จะออกมาในเร็วๆ นี้

ข่าวที่เกี่ยวข้อง