รีเซต

เปิดเหตุผลทำไม เมียนมา โหวตเห็นชอบมติ 'ยูเอ็นจีเอ' ประณามรัสเซีย

เปิดเหตุผลทำไม เมียนมา โหวตเห็นชอบมติ 'ยูเอ็นจีเอ' ประณามรัสเซีย
มติชน
3 มีนาคม 2565 ( 14:59 )
110

จากกรณีที่ประชุมสมัชชาสหประชาชาติสมัยพิเศษ (ยูเอ็นจีเอ) ลงมติประณามรัสเซีย เมื่อวันที่ 2 มีนาคมตามเวลาสหรัฐ โดยมี141 ชาติที่ลงมติเห็นชอบ ประณาม มี 5 ชาติที่โหวตคัดค้าน และมี 35 ชาติงดออกเสียง โดยประเทศไทยก็ลงมติสนับสนุนข้อมติดังกล่าวเช่นกันนั้น

 

ล่าสุดรายงานระบุว่า เมียนมา ก็เป็นอีกประเทศที่ยกมือสนับสนุนข้อมติประณามรัสเซียด้วยเช่นกัน แม้ก่อนหน้านี้ โฆษกรัฐบาลทหารเมียนมา ระบุเมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ว่า กองทัพรัสเซียดำเนินการในสิ่งที่ชอบธรรมแล้วเพื่อคงไว้ซึ่งอำนาจอธิปไตยที่ยั่งยืนของประเทศ

 

ทั้งนี้เหตุผลที่เมียนมาลงคะแนนเสียงสนับสนุนมติของที่ประชุมยูเอ็นจีเอ เพราะเอกอัครราชทูตผู้แทนถาวรเมียนมา ประจำสหประชาชาติก็คือนายจอ โม ตุน ผู้ที่เคยชู 3 นิ้วแสดงออกต่อต้านการรัฐประหารของกองทัพเมียนมา ในที่ประชุมยูเอ็น เมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ที่ผ่าน

 

โดยนายจอ โม ตุน ได้กล่าวถ้อยแถลงสนับสนุนข้อมติดังกล่าวในที่ประชุมยูเอ็นจีเอ เรียกร้องให้รัสเซียหยุดยิงและโจมตีเข้าใส่ชาวยูเครนในทันที และเรียกร้องให้ประเทศเพื่อนบ้านของยูเครนรับบรรดาผู้ลี้ภัยในสงคราม และให้ความช่วยเหลืออย่างเต็มที่

 

นอกจากนี้ยังระบุด้วยว่า เมียนมาเข้าใจชาวยูเครนเป็นอย่างดีเพราะประชาชนชาวเมียนมาก็เผชิญกับผลกระทบจากการกระทำที่ไร้มนุษยธรรม โหดร้ายป่าเถื่อน อาชญากรรมต่อมนุษยธรรม ที่ก่อขึ้นโดยรัฐบาลทหารเมียนมาเช่นกัน การโจมตีของทหารเมียนมาทำลายบ้านเรือน ศาสนสถาน สถานพยาบาล โรงเรียน ไร่นา ต้องมีผู้อพยพจำนวนมากนอกเหนือจากผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บ ไม่เฉพาะคนทั่วไปแต่ยังมีคนพิการ ผู้สูงอายุ ผู้หญิง และเด็ก ด้วย

 

 

ทั้งนี้นายจอ โม ตุน เป็นเอกอัครราชทูตผู้แทนถาวรเมียนมา ประจำองค์การสหประชาชาติตั้งแต่ปี 2018 ภายใต้รัฐบาลพลเรือนนำโดยนางออง ซาน ซูจี ที่ปรึกษาแห่งรัฐ โดยหลังกองทัพรัฐประหารรัฐบาลซูจี เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ รัฐบาลทหารเมียนมา ประกาศปลดนายจอ โม ตุน ออกจากตำแหน่ง อย่างไรก็ตาม นายจอ โม ตุน ยังคงนั่งในตำแหน่งนี้ต่อไปหลังจากได้รับการเสนอชื่อจากรัฐสภาเมียนมาพลาดถิ่น (ซีอาร์พีเอช) และได้รับการสนับสนุนจาก ลินดา โธมัส กรีนฟิลด์ เอกอัครราชทูตผู้แทนถาวรสหรัฐอเมริกา ประจำสหประชาชาติ นอกจากนี้การขัดขวางไม่ให้ตัวแทนกองทัพเมียนมาเข้าร่วมประชุมยูเอ็นจีเอ เมื่อเดือนกันยายน ปี 2021 ก็ส่งผลให้ความพยายามของรัฐบาลทหารเมียนมาแต่งตั้งผู้ที่จะมาแทนที่นานยจอ โม ตุน ต้องล้มเหลวลง

 

ทั้งนี้สำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่า 5 ประเทศที่คัดค้านมติประณามรัสเซียได้แก่รัสเซีย, ซีเรีย, เกาหลีเหนือ, เบลารุส และเอริเทรีย ขณะที่กลุ่มประเทศที่งดออกเสียงรวมไปถึง จีน, อินเดีย, อิหร่าน, อิรัก, ปากีสถาน และแอฟริกาใต้

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง