รีเซต

กองกำลังติดอาวุธเมียนมา ปัดเอี่ยวดีล "ยา" แลกอาวุธ กับยากูซ่า-3 คนไทย

กองกำลังติดอาวุธเมียนมา ปัดเอี่ยวดีล "ยา" แลกอาวุธ กับยากูซ่า-3 คนไทย
ข่าวสด
1 พฤษภาคม 2565 ( 03:00 )
89
กองกำลังติดอาวุธเมียนมา ปัดเอี่ยวดีล "ยา" แลกอาวุธ กับยากูซ่า-3 คนไทย

วันที่ 29 เม.ย. วีโอเอ รายงานว่า กองกำลังติดอาวุธเมียนมา ที่ต่อสู้ระบบเผด็จการทหารซึ่งยึดอำนาจรัฐบาลพลเรือนเมื่อเดือนก.พ.ปีที่แล้ว ปฏิเสธข้อกล่าวหาสมรู้ร่วมคิดกับองค์กรอาชญากรรมยากูซ่าของญี่ปุ่น เพื่อซื้อขีปนาวุธพื้นสู่อากาศ (surface-to-air missiles) และจ่ายค่าอาวุธสงครามเป็นเงินสดและยาเสพติด

 

ข้อกล่าวหาดังกล่าวมีขึ้นหลังสำนักงานปราบปรามยาเสพติด (ดีอีเอ) สหรัฐอเมริกาจับกุม นายทาเคชิ เอบิซาวะ ยากูซ่า พร้อมพลเมืองสัญชาติไทย 3 คน ในสหรัฐ เมื่อต้นเดือนเม.ย. ทั้งหมดถูกกล่าวหาพยายามเป็นนายหน้าค้าอาวุธแลกกับยาเสพติดจากกองกำลังติดอาวุธต่อต้านรัฐบาล 3 กลุ่ม ได้แก่ กองทัพปลดปล่อยแห่งชาติกะเหรี่ยง (เคเอ็นแอลเอ - KNLA) กองทัพรัฐชานใต้ (เอสเอสเอ-เอส - SSS-A) และ กองทัพรวมแห่งรัฐว้า (ยูดับเบิลยูเอสเอ - UWSA)

 

ตา โด มู เลขาธิการสหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง บอกกับวีโอเอทางโทรศัพท์เมื่อสัปดาห์ที่แล้วว่า เขาจำเป็นจะต้องรอคำร้องของศาลที่แปลจากภาษาอังกฤษเป็นภาษาพม่าก่อนจะแสดงความคิดเห็นในรายละเอียด แต่ยืนยันว่า สหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยงไม่มีส่วนร่วมในการค้ายาเสพติดที่มีมานานของเมียนมา

 

"นั่นเป็นนโยบายของพวกเรา นั่นจึงเป็นสิ่งที่เราสามารถพูดได้" ตา โด มู พูดก่อนวางสาย

 

ส่วน ตอ นี โฆษกสหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยงและหัวหน้ากิจการต่างประเทศ กล่าวกับวีโอเอทางโทรศัพท์เช่นกัน โดยย้ำว่า เขาปฏิเสธข้อกล่าวหาที่กองทัพปลดปล่อยแห่งชาติกะเหรี่ยงมีความเชื่อมโยงกับการค้ายาเสพติดของยากูซ่า หรือผลประโยชน์ใดๆ ในการการจัดหาขีปนาวุธพื้นสู่อากาศ

 

"กองทัพปลดปล่อยแห่งชาติกะเหรี่ยงอยู่ภายใต้การควบคุมของสหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง นั่นเป็นฝ่ายทหาร และเราไม่มีการตกลงใดๆ กับประเด็นนี้ เราไม่ทราบประเด็นนี้ เนื่องจากนโยบายของเราชัดเจนว่า เราไม่มีส่วนร่วม และเราไม่ตกลงกับประเด็นนี้ เราจึงไม่ทราบอะไรทั้งสิ้น เราตกใจด้วยซ้ำเมื่อทราบข่าวนี้ ไม่เกียวข้องกับประเด็นนี้ด้วย" ตอ นี กล่าว

 

ขณะที่วีโอเอไม่สามารถติดต่อกองทัพรวมแห่งรัฐว้า และกองทัพรัฐชานใต้ เพื่อขอความคิดเห็นได้ แต่กองทัพรวมแห่งรัฐว้าออกมาปฏิเสธการมีส่วนร่วมในการค้ายาเสพติดมาก่อนหน้านี้

 

ทั้งนี้ กระทรวงการคลังสหรัฐระบุว่า กองทัพรวมแห่งรัฐว้าเป็น "องค์กรค้ายาเสพติดใหญ่ที่สุดและทรงพลังที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้" และในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่ทางการไทยยึดยาเสพติดจำนวนมากใกล้ชายแดนพม่าที่สหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยงยึดครองดินแดนมายาวนาน

 

คำร้องต่อศาลในสหรัฐระบุว่า กลุ่มผู้ต้องสงสัยที่ถูกจับกุม ได้แก่ สมาชิกยากูซ่าระดับสูง และพลเมืองสัญชาติไทย 3 คน ตกลงกับเจ้าหน้าที่ดีอีเอนอกเครื่องแบบเพื่อซื้ออาวุธหลายประเภท รวมถึงปืนไรเฟิลอัตโนมัติ ปืนครก ระเบิดจรวด และขีปนาวุธพื้นสู่อากาศแบบพกพา

 

คำร้องระบุว่า ผู้ต้องสงสัยสมรู้ร่วมคิดเป็นนายหน้าซื้อขีปนาวุธพื้นสู่อากาศที่ผลิตในสหรัฐ จากเจ้าหน้าที่ดีอีเอนอกเครื่องแบบ ตลอดจนอาวุธอื่นๆ เพื่อขายกองกำลังติดอาวุธชาติพันธุ์อย่างน้อย 2 กลุ่มในเมียนมา ได้แก่ กองทัพรัฐฉาน และ สหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง และยอมรับยาเสพติดจำนวนมากเพื่อจำหน่ายเป็นค่าอาวุธบางส่วน ขณะที่เจ้าหน้าที่ดีอีเอนอกเครื่องแบบจะส่ง เฮโรอีน และ เมตแอมเฟตามีน (ไอซ์) หลายร้อยกิโลกรัม ที่ผลิตโดยกองทัพรวมแห่งรัฐว้า เข้าไปในสหรัฐ

คำร้องระบุต่อไปว่า กองทัพรวมแห่งรัฐว้าติดต่อซื้ออาวุธด้วย ซึ่ง นายทหารระดับสูง 2 นายของสหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง เข้าร่วมการประชุมทางวิดีโอที่จัดขึ้นเพื่อจัดการข้อตกลงการค้าอาวุธ และสหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยงขอใช้เฮโรอีนแลกเปลี่ยนกับอาวุธบางประเภทเป็นการเฉพาะด้วย

 

ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง

เมียนมาเป็นผู้ผลิตฝิ่นรายใหญ่มาช้านาน ซึ่งเป็นส่วนผสมหลักของเฮโรอีน และครองส่วนแบ่งการค้าไอซ์ 60,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (2 ล้านล้านบาท) ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ส่วนใหญ่หลั่งไหลเข้าสู่ประเทศเพื่อนบ้านอย่าง ลาว และ ไทย และออกสู่ตลาดห่างไกลจากรัฐฉาน ทางตะวันออกของเมียนมา กองกำลังติดอาวุธต่อต้านรัฐบาล และกองกำลังพันธมิตรทางทหาร

เจเรมี ดักลาส ผู้ดูแลสำนักงานว่าด้วยยาเสพติดและอาชญากรรมแห่งสหประชาชาติ (ยูเอ็นโอดีซี) ประจำภูมิภาคดังกล่าว ระบุว่า ไม่มีทางที่กลุ่มและกองกำลังติดอาวุธจำนวนมากเหล่านี้จะไม่ได้รับผลกำไรจากการค้าเหล่านั้น จะโดยการผลิตหรือการค้ามนุษย์ หรือแค่เก็บภาษีจากการค้าที่ผ่านถิ่นของพวกเขา

"การขนส่งจากรัฐฉานไปไทยหรือลาวในทุกทิศทางต้องมีการค้ามนุษย์จากหรือผ่านดินแดนของกลุ่มติดอาวุธต่างๆ และเป็นไปไม่ได้ที่กลุ่มติดอาวุธเหล่านี้จะอยู่ในเงามืดและไม่ทำเงินไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง การที่กลุ่มติดอาวุธเหล่านี้ทั้งหมดปฏิเสธการมีส่วนร่วมและชี้ไปที่กลุ่มติดอาวุธอื่นๆ จึงเป็นไปไม่ได้" ดักลาสกล่าว

ดักลาสกล่าวว่า ผลกำไรมหาศาล ที่กลุ่มต่อต้านรัฐและกองกำลังติดอาวุธของเมียนมาได้จากการค้ายาเสพติด ย่อมช่วยเติมเชื้อไฟกับการต่อสู้หลังรัฐประหารอย่างแน่นอน เช่นเดียวกับที่มีมานานหลายทศวรรษ

"ยาเสพติดเป็นแหล่งรายได้ที่ใหญ่ที่สุดสำหรับกองกำลังติดอาวุธและกลุ่มติดอาวุธในรัฐฉาน และยังเป็นสายป่านในการจ่ายค่าปืน ทหาร และความขัดแย้ง" ดักลาสกล่าว

ข่าวที่เกี่ยวข้อง