รีเซต

มูลนิธิเจริญโภคภัณฑ์พัฒนาชีวิตชนบท เปิดแผนปี 66 มุ่งตอบแทนคุณแผ่นดิน “จากภูผา ผืนนา สู่มหานที”

มูลนิธิเจริญโภคภัณฑ์พัฒนาชีวิตชนบท เปิดแผนปี 66 มุ่งตอบแทนคุณแผ่นดิน “จากภูผา ผืนนา สู่มหานที”
TNN ช่อง16
24 กุมภาพันธ์ 2566 ( 21:04 )
65

นายจอมกิตติ ศิริกุล รองกรรมการผู้จัดการใหญ่อาวุโส ด้านพัฒนาความยั่งยืนภาครัฐและกิจการสัมพันธ์ เครือเจริญโภคภัณฑ์ และ ผู้ช่วยบริหาร สำนักประธานคณะกรรมการบริหาร  บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือซีพีเอฟ ในฐานะ กรรมการและเลขาธิการมูลนิธิเจริญโภคภัณฑ์พัฒนาชีวิตชนบท เปิดเผยว่า ตลอด 35 ปี มูลนิธิเจริญโภคภัณฑ์พัฒนาชีวิตชนบท ได้น้อมนำพระราชดำริปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง  สานต่อปณิธานตอบแทนคุณแผ่นดิน ตามรอยใต้เบื้องพระยุคลบาท และยังคงขับเคลื่อนงานพัฒนาสังคมไทย ตามแนวคิด ”มุ่งสร้าง 4 ดี พัฒนา 4 ด้าน” ได้แก่ คนดี พลเมืองดี อาชีพดี และสิ่งแวดล้อมดี สอดคล้องไปกับเป้าหมายด้านความยั่งยืนของเครือเจริญโภคภัณฑ์ ใน 3 มิติหลัก ได้แก่ ด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ตลอดจนตามเป้าหมายหลักการสากล “การพัฒนาอย่างยั่งยืนของสหประชาชาติ 17 ประการ (SDGs)” เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนในพื้นที่ของประเทศไทยทั้ง 77 จังหวัด ยกระดับเศรษฐกิจชุมชน สังคม และการอนุรักษ์ฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมไปพร้อมกันอย่างสมดุล


ในปี 2566 มูลนิธิฯ มีเป้าหมายขยายขอบเขตพื้นที่ในการยกระดับคุณภาพชีวิตเกษตรกรไทย จาก “ภูผา ผืนนา สู่มหานที” ทั่วทุกภูมิภาคอย่างยั่งยืน  โดย “ภูผา” มูลนิธิฯ ยังคงเดินหน้าโครงการอมก๋อย โมเดล สร้างอมก๋อยน่าอยู่ คู่ป่าต้นน้ำ อ.อมก๋อย จ.เชียงใหม่ มีเป้าหมายเพื่อฟื้นฟู อนุรักษ์ป่าต้นน้ำที่มีกว่า 1 ล้านไร่ ของประเทศไทยให้กลับมามีความอุดมสมบูรณ์ ควบคู่ไปกับการพัฒนาอาชีพและส่งเสริมรายได้ให้เกษตรกรและชุมชนอย่างยั่งยืน โดยการดำเนินงานที่ผ่านมามีการปลูกต้นไม้ กว่า 70,000 ต้น มีเกษตรกรในโครงการจาก 3 ตำบล รวม 990 ครัวเรือน นอกจากนี้ ยังมีงานด้านการอนุรักษ์สัตว์ป่า (กวางผา) เพื่อรักษากวางผาสัตว์ป่าที่ใกล้สูญพันธุ์ในพื้นที่เขตอนุรักษ์พันธุ์สัตว์ป่าอมก๋อยให้อยู่ในภาวะสมดุลและยั่งยืนต่อไป 


“ผืนนา” มูลนิธิฯ ยังคงมุ่งเป้าหมายเพื่อพัฒนาให้เกษตรกรสามารถพึ่งพาตนเองได้ มีรายได้มั่นคง ยกระดับคุณภาพชีวิต และเป็นต้นแบบที่สามารถขยายผลได้ โดยร่วมกับภาคีทุกภาคส่วน ในการส่งเสริมเรื่องต่างๆ อาทิ เพิ่มองค์ความรู้ เกษตรมูลค่าสูง การจัดการและเทคโนโลยีด้านการเกษตร การแปรรูปเพิ่มมูลค่า การจัดตั้งกลุ่มวิสาหกิจชุมชน สร้างผู้นำเกษตรรุ่นใหม่ การเชื่อมโยงตลาด การออมในรูปแบบธนาคารชุมชนและกลุ่มออมทรัพย์ชุมชน โดยมีเกษตรกรในโครงการแล้วกว่า 3,500 คน สามารถสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจได้ 12.5 ล้านบาท ผ่านการดำเนินงาน 5 โครงการ ได้แก่ โครงการเกษตรผสมผสานตามแนวพระราชดำริ จ.บุรีรัมย์ โครงการตามพระราชประสงค์หมู่บ้านสหกรณ์ โครงการห้วยองคต อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จ.กาญจนบุรี โครงการชั่งหัวมันตามพระราชดำริ จ.เพชรบุรี และโครงการสนับสนุนการพัฒนาร่วมกับภาคีเครือข่าย 

โดยปีนี้มูลนิธิฯ ขยายขอบเขตงาน เพื่อมุ่งสู่ “มหานที” ผ่านโครงการพัฒนาอาชีพตำบลปากรอ ตามดำริ พลเอก เปรม ติณสูลานนท์ จ.สงขลา และขยายสู่โครงการทะเลสาบสงขลาโมเดล ด้วยเล็งเห็นความสำคัญของทรัพยากรทะเลสาบสงขลา ซึ่งเป็นแหล่งน้ำใหญ่ที่สำคัญอีกแห่งหนึ่งของประเทศ ครบคลุมพื้นที่ 5 ล้านไร่ ใน 3 จังหวัด ที่กำลังประสบปัญหา ทั้งปัญหาด้านภัยธรรมชาติ และปัญหาจากการกระทำของมนุษย์ จึงเกิดเป็นแผน 3 ยุทธศาสตร์ ได้แก่ การปกป้องฟื้นฟูทรัพยากรทะเลสาบสงขลา การพัฒนาอาชีพ และยกระดับรายได้ชุมชน และการสร้างความร่วมมือจากทุกภาคส่วน 

นอกจากนี้ มูลนิธิฯ ยังคงมุ่งมั่นขับเคลื่อนงานเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตผ่านมิติงานต่าง ๆ สำหรับด้านพัฒนาเด็กและเยาวชน ได้แก่ โครงการเลี้ยงไก่ไข่เพื่ออาหารกลางวันนักเรียน ยังคงมุ่งมั่นส่งต่อโภชนาการที่ดีแก่นักเรียนในพื้นที่ห่างไกล โดยปัจจุบันมีโรงเรียนเข้าร่วมแล้วกว่า 935 โรงเรียน สามารถผลิตไข่ไก่เพื่อบริโภคและจำหน่ายได้ถึง 20 ล้านฟอง ที่นักเรียนได้รับโปรตีนจากไข่ไก่ที่สด สะอาด ปลอดภัยในทุกๆ วัน ซึ่งในปีนี้ยังมีการขยายพื้นที่สนับสนุนที่ ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงเลอตอ อ.แม่ระมาด และ อ.ท่าสองยาง จ.ตาก  ซึ่งมีประชากรกว่า 10,000 คน มีฐานะยากจนและอยู่ในพื้นที่สูงทุรกันดาร  โครงการสนับสนุนทุนการศึกษานักเรียนในพระราชานุเคราะห์ฯ  เพิ่มโอกาสทางการศึกษาแก่เด็กนักเรียนในพื้นที่ห่างไกล โดยเฉพาะนักเรียนศิษย์เก่าโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดน มาดูแลอยู่พักค้างหอพักในศูนย์ฝึกอาชีพเยาวชนเกษตร เพื่อบ่มเพาะให้เป็นคนดี คนเก่ง และมีคุณธรรม รวมถึงการเสริมสร้างทักษะชีวิตและทักษะอาชีพ โดยเฉพาะเรียนรู้ทักษะด้านธุรกิจเกษตร โดยในปีนี้ ยังคงดูแลเด็กนักเรียนทุนอย่างต่อเนื่องกว่า 100 คน ในปีการศึกษา 2565  โครงการศูนย์ฝึกอาชีพเยาวชนเกษตร เป็นพื้นที่ฝึกทักษะอาชีพให้นักเรียนทุนฯ นอกจากนี้ยังตั้งเป้าให้เด็กและเยาวชน เกษตรกร และผู้ที่สนใจเป็นสถานที่ศึกษา สถานที่ดูงาน ศูนย์สาธิตด้านการเกษตร และ โครงการครอบครัวอุปการะในชุมชนวัฒนธรรม (เด็กกำพร้า) มูลนิธิเห็นความสำคัญของเด็กกำพร้าให้ได้รับความรักความอบอุ่น และความมั่นคงทางจิตใจจากครอบครัวอุปการะ สามารถเติบโตมีพัฒนาการที่สมวัย และได้รับการศึกษา ช่วยหล่อหลอมให้เติบโตเป็นคนดี เป็นพลเมืองดีของสังคมทั้งทางกายและจิตใจ 

มูลนิธิฯ ยังรับนโยบายเรื่อง “ความกตัญญู” ผู้มีคุณต่อประเทศชาติ ของเครือซีพี ผ่านโครงการกตัญญูและศูนย์พัฒนาสุขภาพผู้สูงวัย เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุที่ยากลำบาก และเสริมสร้างค่านิยมความกตัญญูแก่พนักงานและชุมชน ทั้งยังสนับสนุนกิจกรรมส่งเสริมสุขภาพผู้สูงอายุร่วมกับภาคีชุมชน อาสาสมัคร รวมถึงพนักงานเครือซีพี และสุดท้าย โครงการพัฒนาอาชีพด้านการบริบาล เพื่อสร้างโอกาสทางการศึกษา สร้างอาชีพบริบาลแก่เยาวชนที่สนใจ รองรับผู้สูงอายุที่มีภาวะพึ่งพิงได้รับการดูแลอย่างดูแลอย่างถูกต้องและเหมาะสม โดยในปีนี้ จะดำเนินโครงการฯ ร่วมกับโรงเรียนการบริบาลจำนวน 6 แห่ง และสถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ (PIM) ในการจัดหลักสูตรฝึกอบรม มีนักเรียนที่สนใจเข้าร่วมมากกว่า 100 คน

ตลอดระยะเวลาของการดำเนินงานในช่วงที่ผ่านมาของมูลนิธิฯ ส่งผลเชิงบวกทั้งมิติด้านเศรษฐกิจ สังคมสิ่งแวดล้อม  พร้อมทั้งยังคงมุ่งมั่นสานต่อโครงการต่างๆ เพื่อร่วมสร้างความเปลี่ยนแปลงและสามารถส่งมอบคุณค่าสู่สังคมไทย ทั้งในด้านการพัฒนาคุณภาพชีวิตของเด็ก เยาวชน ชุมชนและเกษตรกร ตลอดจนสิ่งแวดล้อม ควบคู่กันอย่างยั่งยืน

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง