รีเซต

โควิดสะเทือนยุโรปตะวันออก ภูมิภาคเดียวของโลกที่ผู้ป่วยยังพุ่งไม่หยุด ผลจากผู้คนลังเล ไม่กล้าฉีดวัคซีน

โควิดสะเทือนยุโรปตะวันออก ภูมิภาคเดียวของโลกที่ผู้ป่วยยังพุ่งไม่หยุด ผลจากผู้คนลังเล ไม่กล้าฉีดวัคซีน
TNN ช่อง16
25 ตุลาคม 2564 ( 14:55 )
39
โควิดสะเทือนยุโรปตะวันออก ภูมิภาคเดียวของโลกที่ผู้ป่วยยังพุ่งไม่หยุด ผลจากผู้คนลังเล ไม่กล้าฉีดวัคซีน

แม้ว่ายุโรปจะมีการฉีดวัคซีนเป็นวงกว้าง เพื่อหวังป้องกันการระบาดช่วงฤดูหนาวในปีนี้ แต่องค์การอนามัยโลก หรือ WHO รายงานว่า กลับพบว่า "ยุโรป" เป็นเพียงภูมิภาคเดียวของโลกที่พบการเพิ่มขึ้นของจำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 และนับเป็นสัปดาห์ที่ 3 ติดต่อกันแล้ว ที่ภูมิภาคแห่งนี้มีจำนวนผู้ติดเชื้อกลับมาสูงขึ้นอีกครั้ง


◾◾◾

🔴 ยุโรปสองฟาก ทำไมแตกต่างกันขนาดนี้


ยอดผู้ติดเชื้อใหม่ ส่วนใหญ่อยู่ในยุโรปตะวันออกและรัสเซีย ซึ่งมีความแตกต่างจากประเทศแถบยุโรปตะวันตกที่เจอติดเชื้อสูง แต่เสียชีวิตน้อย


แต่ยุโรปตะวันออก กลับเผชิญทั้งยอดติดเชื้อและยอดผู้เสียชีวิตที่พุ่งสูงขึ้น โดยมีสาเหตุหลักมาจาก "ความลังเลใจ" ในการฉีดวัคซีน และอัตราการฉีดวัคซีนต่ำลงอย่างมาก


เมื่อวันพฤหัสบดีที่แล้ว (21 ตุลาคม) ประเทศลัตเวีย กลายเป็นชาติแรกของสหภาพยุโรป หรือ EU ที่ต้องใช้มาตรการล็อกดาวน์อีกครั้ง หลังเจอผู้ติดเชื้อพุ่งสูงทะลุ 3,000 คน เป็นครั้งแรก (ช่วงสูงที่สุดเพียงไม่ถึง 2,000 คน เมื่อช่วงเดือนมกราคมที่ผ่านมา) ขณะที่ยอดผู้เสียชีวิตกลับมาแตะหลัก 20 กว่าคนอีกครั้ง หลังจากที่อยู่ตัวเลขหลักเดียวมาตั้งแต่เดือนกรกฎาคม


สาเหตุของการติดเชื้อและเสียชีวิตที่สูงขึ้นในลัตเวีย เกิดจากการฉีดวัคซีนที่น้อยลง โดยพบประชากรเพียง 56% ที่ได้รับวัคซีนครบ 2 เข็ม เมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยของทั้ง EU ที่ 74.6%


"การฉีดวัคซีนล่าช้า" นี่เองคือหนึ่งในสาเหตุที่แตกต่างกันระหว่างยุโรปตะวันออกและตะวันตก แต่ทั้ง 2 ก็ยังมีความคล้ายคลึงกันในแง่ของการผ่อนคลายมาตรการเพื่อเปิดเศรษฐกิจ, ความหนาวเย็น ที่ทำให้ผู้คนอยู่ในอาคารกันมากขึ้น ตลอดจนการระบาดของไวรัสสายพันธุ์เดลตา ที่กลายเป็นสายพันธุ์หลักไปแล้ว


◾◾◾

🔴 ความลังเลใจในการฉีดวัคซีน


ตั้งแต่วันจันทร์เป็นต้นไป "โรมาเนีย" ต้องนำมาตรการเคอร์ฟิว และการใช้บัตรผ่านวัคซีน ในการเข้าใช้บริการต่าง ๆ หลังจากที่พบว่ามีอัตราการเสียชีวิตเพิ่มสูงทำสถิติ 19.25 คน ต่อ 1 ล้านประชากร ซึ่งนับว่าเป็น 1 ในประเทศที่มียอดผู้เสียชีวิตต่อสัดส่วนประชากรสูงสุดในโลก


สำหรับประเทศไทยอยู่ที่ราว 2 คนต่อ 1 ล้านประชากร, สหราชอาณาจักร 2 คนต่อ 1 ล้านประชากร, สหรัฐฯ 6 คนต่อ 1 ล้านประชากร


ปัญหาของโรมาเนีย ไม่ได้อยู่ที่วัคซีนขาดแคลน เนื่องจากชาติของ EU ล้วนได้รับวัคซีนอย่างเท่าเทียม แต่ปัญหาของโรมาเนีย ที่ทำให้แตกต่างจากชาติบอลติกอื่น ๆ คือ "ความลังเลใจในการรับวัคซีน" ตลอดจนความล้มเหลวของรัฐบาลในการส่งสารไปยังประชาชนให้เข้าใจถึงความสำคัญของวัคซีนอย่างแท้จริง โดยพบว่า โรมาเนียเองมีประชากรวัยผู้ใหญ่ได้รับวัคซีนครบ 2 เข็มแล้วเพียง 35.6% เท่านั้น


ส่วนเพื่อนบ้านอย่างยูเครน ก็เจอผู้ติดเชื้อรายวันสูงที่สุดนับตั้งแต่เริ่มการระบาดของโควิด-19 โดยพบกว่า 22,000 ต่อวัน แม้ว่าประธานาธิบดีโวโลดิเมียร์ เซเลนสกี จะพยายามอ้อนวอนประชาชนให้ฉีดวัคซีน โดยย้ำว่านี่คือหนทางเดียวที่จะป้องกันการล็อกดาวน์ได้


"ทางแยกนี้มีเพียง 2 ทางเท่านั้น คือ ฉีดวัคซีน หรือ ล็อกดาวน์" เซเลนสกี กล่าว และเขาเองก็ต่อต้านการล็อกดาวน์ เนื่องจากกระทบอย่างหนักต่อเศรษฐกิจของประเทศ


ส่วนรัสเซีย เห็นทีจะไม่ต้องกล่าวเยอะ เพราะทำสถิติยอดผู้เสียชีวิตมากที่สุดต่อเนื่องกันหลายวัน ล่าสุดวันอาทิตย์ 1,078 คน และเจอการระบาดที่รุนแรงที่สุด โดยกรุงมอสโก ต้องเริ่มล็อกดาวน์นาน 10 วันในวันจันทร์ (25 ตุลาคม) ขณะที่เจ้าหน้าที่ยอมรับว่ากำลังเผชิญกับฤดูหนาวที่แสนโหดร้าย


◾◾◾

🔴 "ไม่มีวิธีใดที่จะแก้ปัญหายากได้รวดเร็ว" (no silver bullet)


ประเทศในแถบยุโรปตะวันตก แม้จะเจอยอดผู้ติดเชื้อสูงขึ้น แต่จะไม่รุนแรงเท่ากับการระบาดรอบที่ผ่านมา และโรงพยาบาลจะไม่ตึงเครียดเท่า เนื่องจากการฉีดวัคซีนเป็นวงกว้าง ที่เป็นตัวเปลี่ยนเกมตัวสำคัญ แต่ก็ไม่เสมอไป


และยุโรปตะวันตกก็อาจกำลังเผชิญการไล่ล่าจากโควิด-19 ไม่ต่างจากยุโรปตะวันออกด้วย


เช่น สหราชอาณาจักร ที่แสดงให้เห็นว่า "วัคซีน" ไม่ใช่ตัวแก้ปัญหาเสมอไป


◾◾◾

🔴 อังกฤษ เสือปะจระเข้


สหราชอาณาจักรต้องเจอกับยอดติดเชื้อที่เพิ่มขึ้น เนื่องจากการผ่อนปรนล็อกดาวน์ในช่วงฤดูร้อน แม้ว่าผู้เชี่ยวชาญและสภาการแพทย์จะเรียกร้องให้รัฐบาลเพิ่มมาตรการการบังคับสวมหน้ากากอนามัย และบัตรผ่านวัคซีน เหมือนกับประเทศอื่น ๆ เพื่อป้องกันการล็อกดาวน์


แต่รัฐบาลสหราชอาณาจักรก็ปฏิเสธมาตรการเหล่านั้น แม้ว่ายอดผู้ติดเชื้อเข้าโรงพยาบาลจะมากขึ้น และยอดเสียชีวิตเพิ่มขึ้น (เล็กน้อย) ซึ่งผู้เชี่ยวชาญด้านสาธารณสุขระบุว่า ตอนนี้ ระบบการให้บริการสุขภาพกำลังอยู่ในภาวะย่ำแย่แล้ว


แต่แทนที่จะออกมาตรการเพิ่มเติม บอริส จอห์นสัน นายกรัฐมนตรีสหราชอาณาจักร ที่มองว่าอังกฤษฉีดวัคซีนไปมากแล้ว ได้เพียงขอให้ประชาชนอายุมากกว่า 50 ปี ที่มีความเสี่ยง ออกมาฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้น เพื่อกระตุ้นภูมิคุ้มกัน


แต่ผู้เชี่ยวชาญมองว่า นี่ไม่ใช่หนทางเดียว และหนทางที่เพียงพอในการแก้ปัญหา เพราะหากไม่เพิ่มการคุมเข้ม ควบคู่ไปกับการฉีดวัคซีนก็อาจเจอกับการระบาดได้อีก โดยเฉพาะในเวลาที่เจอไวรัส “Delta Plus” หรือ AY.4.2 เริ่มระบาดราว 6% ของผู้ติดเชื้อแล้วด้วยกัน


"ผมไม่คิดว่า แค่การปล่อยให้วัคซีนทำหน้าที่ของมันจะเป็นสิ่งที่เพียงพอแล้ว" ดร.ปีเตอร์ ดรอบัก ผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพแห่งมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด กล่าว


ยุโรปต้องไม่ลืมเรื่องการล็อกดาวน์ และการสูญเสียเมื่อฤดูหนาวที่ผ่านมา และเราไม่มีวันรู้ว่าในอีก 2-3 เดือนข้างหน้า ซึ่งเป็นฤดูหนาวจะเป็นอย่างไร แต่ก็จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องระวังตัวให้มากขึ้น

—————

เรื่อง: ภัทร จินตนะกุล

ภาพ: Kirill KUDRYAVTSEV / AFP

ข่าวที่เกี่ยวข้อง