แผ่นดินไหวบนดาวอังคาร (Marsquakes) ช่วยนักวิทยาศาสตร์ค้นหาน้ำบนดาวอังคาร
การวิจัยจากมหาวิทยาลัยแห่งรัฐเพนน์ (Penn State University) สหรัฐอเมริกา และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีเหอเฟย ประเทศจีน ชี้ให้เห็นว่าแผ่นดินไหวบนดาวอังคารอาจช่วยให้นักวิทยาศาสตร์ตรวจหาน้ำใต้พื้นผิวดาว โดยใช้วิธีการที่เรียกว่า ซายส์โมอิเล็กทริก (Seismoelectric) ซี่งการรวมวิธีตรวจสอบคลื่นการสั่นสะเทือนและคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าบนดาวอังคารเข้าด้วยกัน
โดยใช้เครื่องมือแมกนิโตมิเตอร์ตรวจสอบสนามแม่เหล็กและเครื่องวัดแผ่นดินไหวบนยานสำรวจอินไซต์ (InSight) สามารถตรวจจับสัญญาณแม่เหล็กไฟฟ้าที่เกิดจากคลื่นสั่นสะเทือนใต้ดินที่เคลื่อนผ่านบริเวณที่มีน้ำในสถานะของเหลวใต้ดิน โดยขณะที่คลื่นเดินทางผ่านชั้นใต้ดินของดาวอังคารซึ่งบางส่วนมีลักษณะเป็นหินแข็งและน้ำในสถานะของเหลว คลื่นจะตอบสนองแตกต่างกันและสร้างสนามแม่เหล็กที่เซนเซอร์พื้นผิวบนยานสำรวจอินไซต์ (InSight) สามารถตรวจวัดได้ ทำให้ทราบระดับความลึก ตำแหน่ง และองค์ประกอบทางเคมีของชั้นหินอุ้มน้ำ
นักวิจัยได้สร้างแบบจำลองใต้พื้นผิวดาวอังคารและเพิ่มชั้นหินอุ้มน้ำเพื่อจำลองว่า เมื่อเกิดแผ่นดินไหวบนดาวอังคารคลื่นการสั่นสะเทือนจะมีลักษณะอย่างไร และนักวิทยาศาสตร์พบว่าสามารถใช้เทคนิคนี้วิเคราะห์รายละเอียดเกี่ยวกับชั้นหินอุ้มน้ำได้สำเร็จ รวมถึงความหนาหรือบางของหิน และคุณสมบัติทางกายภาพและเคมี เช่น ความเค็ม
วิธีการใหม่นี้ตรวจสอบน้ำในสถานะของเหลวได้ลึกมากกว่าวิธีการเดิมที่ใช้เรดาร์เจาะภาคพื้นดิน ซึ่งมักจะมีข้อจำกัดสามารถตรวจลึกลงไปใต้ดินได้ประมาณ 30 เมตร ซึ่งอาจไม่เพียงพอสำหรับการสำรวจดาวอังคาร
แม้ว่าปัจจุบันนักวิทยาศาสตร์ในหลายประเทศกำลังพัฒนาวิธีการอื่น ๆ ที่มีประสิทธิภาพ เช่น เครื่องวัดแผ่นดินไหวด้วยอินเตอร์เฟอโรมิเตอร์เพื่อการตรวจจับชั้นหินอุ้มน้ำ แต่วิธีการเหล่านั้นยังไม่ได้รับการพัฒนาอย่างสมบูรณ์บนโลก และหากต้องการใช้สำรวจดาวอังคารจะต้องเริ่มต้นภารกิจใหม่ ซึ่งใช้ทั้งระยะเวลาและงบประมาณจำนวนมาก
งานวิจัยจากมหาวิทยาลัยแห่งรัฐเพนน์ (Penn State University) มีชื่อว่า "การกำหนดลักษณะน้ำของเหลวในชั้นหินอุ้มน้ำของดาวอังคารลึก: แนวทางแผ่นดินไหวและไฟฟ้า" ได้รับการตีพิมพ์ในวารสารการวิจัยธรณีฟิสิกส์: ดาวเคราะห์ (Journal of Geophysical Research: Planets) นักวิจัยประกอบด้วยโน-ลัน รอธ (Nolan Roth), ไถ่-หยวน จู (Tieyuan Zhu) รองศาสตราจารย์ด้านธรณีศาสตร์ มหาวิทยาลัยแห่งรัฐเพนน์ ประเทศสหรัฐอเมริกา และย่ง-ซิน เกา (Yongxin Gao) ศาสตราจารย์จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีเหอเฟย ประเทศจีน
ที่มาของข้อมูล