สายเฮลตี้ต้องว้าว! แปรรูป‘ถั่วดาวอินคา’ ชงชาสมุนไพรเพื่อสุขภาพ

ชาวบ้าน ต.ตะนาวศรี อ.สวนผึ้ง จ.ราชบุรี ปลูกถั่วดาวอินคาริมรั้วบ้านนำมาตากแห้ง เพื่อแปรรูปเป็นชาชงดื่มเพื่อสุขภาพ จ้างเด็กนักเรียน ผู้สูงวัย ทุบเม็ด สร้างรายได้ช่วงสถานการณ์โควิด-19 ชุมชนเกิดความเข้มแข็ง
“ถั่วดาวอินคา” เป็นพืชเถาเลื้อยเกาะไปตามเสาไม้ หรือตามรั้วบ้าน ผลมีรูปทรงแปลกตามีลักษณะ 5 แฉก คล้ายดวงดาวเป็นพืชสมุนไพรไทยอีกชนิด ที่ชาวบ้านหมู่ 2 ต.ตะนาวศรี อ.สวนผึ้ง จ.ราชบุรี ซึ่งเป็นหมู่บ้านเล็กๆ อยู่กันเป็นกลุ่มประมาณ 8 หลังคาเรือน ท่ามกลางหุบเขาที่ล้อมรอบไปด้วยป่าไม้ เส้นทางยังเป็นถนนลูกรัง ด้วยสภาพอากาศที่ดี สามารถปลูกถั่วดาวอินคาได้ จึงใช้โอกาสนี้ปลูกเพื่อนำผลผลิตมาแปรรูปชงเป็นชาสมุนไพร เมล็ดยังรับประทานได้มีประโยชน์ต่อร่างกาย อีกทั้งยังเป็นพืชสมุนไพรที่ได้สร้างรายได้ให้แก่ผู้สูงอายุ และเด็กนักเรียนในชุมชนใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์ มารับจ้างทุบเม็ดนำเปลือกดาวอินคาแยกออกจากกัน สามารถสร้างรายได้ช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่หลายคนได้รับผลกระทบจากด้านอาชีพขาดรายได้
ถั่วดาวอินคา เป็นพืชใบเลี้ยงเดียว ใบอ่อน หรือยอดอ่อน มักจะนำมาประกอบอาหาร เพราะเนื้อใบยอดอ่อน มีความนุ่ม รสชาติมัน สามารถทำอาหารได้หลากหลายเมนู ยอดถั่วดาวอินคาเอาไปผัด หรือจะทำแกงจืดยอดอ่อนได้ ส่วนใบแก่สามารถนำมาสับเป็นชิ้นเล็กๆ ตากแดดแห้งทำเป็นชาชงดื่มได้ เมล็ดถั่วดาวอินคา ยังสามารถนำมาคั่ว หรือนึ่ง ด้วยความร้อนให้สุกก่อนรับประทานเป็นอาหารขบเคี้ยว เนื้อเมล็ดจะหอม กรอบ มีรสชาติมันอร่อยคล้ายกับเมล็ดถั่วทั่วไป อีกทั้งยังนำมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์อาหาร อาทิ ซอส ซีอิ้ว เต้าเจี้ยว รวมถึงแปรรูปเป็นแป้งถั่วดาวอินคาสำหรับใช้ประกอบอาหาร และทำขนมหวานได้ด้วย
น.ส.ภัทรวดี วงศ์ทวีทรัพย์ อายุ 51 ปี ชาวบ้าน ต.ตะนาวศรี อ.สวนผึ้ง กล่าวว่า ที่นี่จะรวมกลุ่มให้ชาวบ้านปลูกบ้านละ 10-20 ต้น เมื่อได้ผลผลิตจึงรับซื้อผลแห้งชั่งเป็นกิโลกรัม จากนั้นก็จะจ้างผู้สูงวัยที่อยู่กับบ้าน และน้องๆ ที่ว่างพักจากการเรียนหนังสือ ยิ่งในช่วงที่เกิดการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 โรงเรียนจะเปิด 1 วัน หยุด 1 วัน ก็จะให้มารับถั่วดาวอินคาไปรับจ้างทุบเอาเม็ดออกที่บ้าน เพื่อให้ทุกคนในหมู่บ้านมีรายได้ จ้างทุบเปลือกออกให้กิโลกรัมละ 10 บาท ส่วนเม็ดที่อยู่ในเปลือกอีกทีจะให้กิโลละ 15 บาท อย่างนำไป 40 กิโลกรัม จะได้ค่าจ้างทุบ 400 บาท ทุบเปลือกนอกก็จะได้เม็ดในสีน้ำตาล จากนั้นทุบเม็ดสีน้ำตาล ก็จะได้เม็ดในอีกชั้นเป็นสีขาว เมื่อได้เม็ดในสีขาวก็จะนำชั่งกิโล อย่างทุบได้ 40 กิโลกรัม ก็จะได้เงินค่าทุบประมาณ 700 บาท เด็กๆ ที่มารับจ้างก็ขึ้นอยู่กับความขยันของแต่ละคน ทุบมากได้มาก ทุบน้อยก็จะได้เงินน้อย
“จุดจำหน่ายส่วนใหญ่ขายทางออนไลน์ มีส่งตามร้านแหล่งท่องเที่ยวฝาก ตอนนี้ได้ลูกค้าเยอะ เพราะนำไปกินแล้วดี หลังจากไปตรวจร่างกาย ไขมัน ความดันลดลง ก็จะสั่งกินต่อเนื่อง ส่วนบรรจุภัณฑ์คิดเองทำเอง โดยจะใส่ซองกันชื้นให้เหมือนกับผลิตภัณฑ์ทั่วไปที่ได้มาตรฐาน สำหรับผู้ที่สนใจอยากลองชิมสั่งได้ แต่ค่าส่งลูกค้าต้องเป็นคนออกเอง เป็นชาชงดาวอินคาจำหน่ายเป็นซอง ซองละ 50 บาท เม็ดถั่วบรรจุขวดและซอง ขาย 99 บาท โดยช่วงสถานการณ์โควิดระบาดก็ยังมีน้องๆ มารับจ้างช่วยกันทุบ ช่วยกันได้ในชุมชน อย่างชาวบ้านปลูกเองนำมาขายให้มีรายได้เป็นค่ากับข้าว บางคนทำงานประจำอยู่ ยังได้ขอนำถั่วดาวอินคาไปทุบช่วงหลังเลิกงานทำให้มีรายได้เพิ่มไปอีก”
สำหรับการปลูกง่ายๆ เพราะถั่วดาวอินคา เป็นไม้เถาเลื้อย ปลูกตามรั้วบ้านก็ได้แล้ว ประมาณ 6-8 เดือน ก็จะออกดอกออกผลรอจนกว่าผลจะแก่และแห้งคาต้น จากนั้นเก็บไปใส่กระด้งตากแดดเมื่อแห้งสนิทดี จึงเริ่มเอาไปทุบ เอาเปลือกออกได้เม็ดในเอาไปตากอีกครั้ง ส่วนเปลือกเลือกสวยๆ บรรจุใส่ถุงผลิตภัณฑ์ หรือจะนำใบเตยแห้งใส่รวมกัน ก็จะทำให้มีรสชาติหอมชื่นใจมีประโยชน์ต่อสุขภาพ ถือเป็นการสร้างงาน สร้างอาชีพ และสร้างรายได้แก่ชาวบ้านในชุมชน รวมทั้งเด็กยังใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์ แม้จะอยู่ห่างไกลแนวชายแดน แต่ก็ยังสามารถทำให้เกิดชุมชนเข้มแข็งเป็นแบบอย่างที่ดีให้กับท้องถิ่นอื่น นำไปเป็นตัวอย่างการพัฒนาชุมชนสู่ความยั่งยืน
บทความน่าสนใจอื่นๆ
