เที่ยวอย่างไร ให้ปลอดภัย ไกลโควิด
สถานการณ์โควิด-19 ที่ผ่านมานั้น ถือเป็นช่วงภาวะวิกฤตของการท่องเที่ยวไทยเลยก็ว่าได้ การแพร่ระบาดที่เป็นวงกว้างทำให้ไทยต้องล็อกดาวน์ประเทศ ปิดสถานที่ท่องเที่ยว เพื่อแก้ไขปัญหาให้สถานการณ์กลับมาเป็นปกติโดยเร็วที่สุด โจทย์สำคัญของการฟื้นฟูการท่องเที่ยวคือจะทำอย่างไรให้การท่องเที่ยวไทยมีความปลอดภัยในทุก ๆ ด้าน โดยเฉพาะความปลอดภัยจากโรคโควิด-19
นายพรหมมินทร์ กัณธิยะ ผู้อำนวยการสำนักงานเครือข่ายลดอุบัติเหต (สคอ.) กล่าวว่า สสส. ได้มีโอกาสทำงานร่วมกับภาคีเครือข่าย สำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า สำนักงานเครือข่ายลดอุบัติเหตุ ระดมความคิดว่าจะช่วยกันทำอย่างไรให้ประเทศไทยของเรามีความปลอดภัยมากขึ้น หัวใจสำคัญของการพัฒนาการท่องเที่ยวในประเทศไทย คือ จะทำอย่างไรให้ระบบการท่องเที่ยวของไทยปลอดภัย
“สถานที่ท่องเที่ยวของประเทศไทยเป็นที่หมายปองของคนทั่วโลก ที่อยากจะมาเที่ยวพักผ่อนในเมืองไทย แต่คนจำนวนหนึ่งยังมีความกังวลเรื่องความปลอดภัย เขายังคงอยากเห็นว่า ถ้ามาเที่ยวเมืองไทยแล้ว จะปลอดภัยไหม เพราะด้วยข่าวจากหลายเหตุการณ์ที่ออกไป ทำให้ภาพลักษณ์การท่องเที่ยวไทยดูไม่ปลอดภัย หลังจากที่ร่วมกันวิเคราะห์ถึงปัญหาแล้ว พบว่า เราจะปล่อยไว้เช่นนี้ไม่ได้ เพราะการท่องเที่ยวถือเป็นแหล่งที่มาสำคัญของรายได้ของประเทศ การที่ประเทศจะพัฒนาต่อไปได้ นั่นแปลว่า เราต้องสร้างความร่วมมือให้เกิดขึ้นภายในประเทศก่อน
ซึ่ง สสส. และภาคีเครือข่ายไม่ได้นิ่งเฉยต่อปัญหานี้ จึงร่วมมือกันและหาแนวทางแก้ไขเข้าไปช่วยหนุนเสริมด้านการท่องเที่ยว ตั้งแต่ระดับรากหญ้า มีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะลงไปในพื้นที่ เพราะว่าพื้นที่เป็นด่านหน้าในการรับนักท่องเที่ยว ถ้าดูจริง ๆ แล้ว แหล่งท่องเที่ยว วัฒนธรรมประเพณีของไทยมีความหลากหลาย เป็นสิ่งดีงาม เพียงแค่เรายังนำเสนอไม่มากพอเท่านั้น จึงเป็นที่มาของการร่วมมือกันกับภาคีเครือข่ายว่า เราจะทำอย่างไรเพื่อยกระดับการท่องเที่ยวของไทยให้ดีขึ้น จึงเขียนเป็นข้อกำหนด เป็นแนวทางในการปฏิบัติในแต่ละพื้นที่ โดยเฉพาะเรื่องความปลอดภัย ต้องมาเป็นอันดับ 1 และเกิดเป็นแผนงาน "แหล่งท่องเที่ยวชุมชนปลอดภัย" ซึ่งต้องอาศัยความร่วมมือทั้งผู้ประกอบการ แหล่งท่องเที่ยวชุมชน รวมถึงนักท่องเที่ยว ต้องช่วยกันยกระดับเรื่องความปลอดภัยการท่องเที่ยวให้มากขึ้น ให้ความสำคัญกับการเดินทาง ถ้ามีอุปสรรค ปัญหา ต้องช่วยนำเสนอไปให้หน่วยงานรัฐ ปรับปรุงแก้ไข เพื่อพัฒนาการท่องเที่ยวไทยต่อไป” นายพรหมมินทร์ กล่าว
นางสาวมาลัย มินศรี ผู้จัดการโครงการวัฒนธรรมสร้างสุข-ท่องเที่ยวปลอดภัย สำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า(สคล.) กล่าวว่า สสส. หน่วยงานภาครัฐและเอกชน ได้สนับสนุนให้เกิดมาตรฐานการท่องเที่ยว SHA หรือ Amazing Thailand Safety & Health Administration โครงการยกระดับอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทยมาตรฐานความปลอดภัยด้านสุขอนามัย ส่งเสริมมาตรฐานการท่องเที่ยวที่ปลอดภัยในชุมชน โดยมีการกำหนดสัญลักษณ์ SHA และพัฒนาเรื่องนี้ไปพร้อม ๆ กับกิจกรรมท่องเที่ยว ชวนชุมชนมาพลิกฟื้นคุณค่าวัฒนธรรมที่มีอยู่ในพื้นที่ สร้างมูลค่า สร้างเศรษฐกิจ รายได้ให้กับชุมชน เพื่อให้ตอบโจทย์ที่ว่า ทำอย่างไรให้รายได้จากการท่องเที่ยวกระจายไปสู่ชุมชน การท่องเที่ยวมีความปลอดภัยจากโควิด-19 และอุบัติเหตุมากยิ่งขึ้น
“ท่องเที่ยวชุมชนปลอดภัย” สำหรับผู้ประกอบการ ต้องเป็นอย่างไร
1. มีการเดินทางที่ปลอดภัยและสะดวกสบาย มีระบบการขนส่งสาธารณะที่ดี ทั้งทางบก ทางอากาศ ทางเรือ ใช้เทคโนโลยีเข้ามาสนับสนุน ให้การเดินทางเป็นระบบมากขึ้น
2. ที่พัก ต้องมีความสะอาด สิ่งแวดล้อมที่อยู่ในที่พักต้องดี มีระบบรักษาความปลอดภัยตลอด 24 ชม. และครอบคลุม มีการตรวจคัดกรองโควิด-19 นักท่องเที่ยวก่อนเข้าพักอาศัยอย่างเคร่งครัด
3. อาหาร ส่งเสริมเรื่องอาหารดีมีประโยชน์ อาหารพื้นถิ่นปลอดภัย อาหารอร่อยอย่างเดียวไม่พอ ต้องเพิ่มความสะอาด ปลอดภัย ปรุงสุกถูกสุขลักษณะ เน้นอาหารพื้นถิ่นในชุมชน ชูวัฒนธรรม สร้างคุณค่าและรายได้ให้กับชุมชน
4. กิจกรรมท่องเที่ยวต่าง ๆ เช่น การล่องแก่ง ปีนเขา เป็นต้น ผู้ประกอบการต้องใส่ใจในความปลอดภัยทุกรายละเอียดของนักท่องเที่ยว เตรียมระบบการจัดการที่รองรับนักท่องเที่ยวให้สอดคล้องกับมาตรการป้องกันกันโควิด-19 ตามที่ภาครัฐกำหนด จัดทำโปรแกรมการท่องเที่ยว ตรวจเช็กอุปกรณ์สำหรับกิจกรรมให้ปลอดภัยอยู่เสมอ ปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโควิด-19
“ท่องเที่ยวชุมชนปลอดภัย” สำหรับนักท่องเที่ยว ต้องเตรียมตัวอย่างไร ให้เที่ยวได้ปลอดภัย ห่างไกลจากโควิด
1. หาข้อมูลสถานที่ท่องท่องเที่ยวที่จะไป ศึกษาพื้นที่ การเดินทาง ที่พัก เอาไว้ล่วงหน้าอย่างน้อย 1 อาทิตย์
2. สำหรับผู้ที่ฉีดวัคซีนครบ 2 เข็ม แล้ว จัดเตรียมเอกสารแสดงการฉีดวัคซีนเอาไว้ให้พร้อม
3. จัดเตรียมใบรับรองตรวจคัดกรองโควิด-19 ด้วย RT-PCR Test หรือ ATK เพื่อใช้แสดงต่อเจ้าหน้าที่ กรณีต้องเดินทางโดยเครื่องบิน หรือเข้าไปท่องเที่ยวในพื้นที่ควบคุม
4. สวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลา
5. เว้นระยะห่างทางสังคม อย่างน้อย 1-2 เมตร
6. ล้างมือให้บ่อย ๆ ด้วยแอลกอฮอล์ ตลอดเวลา ทั้งก่อนและหลังการรับประทานอาหาร หรือสัมผัสจุดสัมผัสร่วม
7. เมื่อเข้าที่พักควรอาบน้ำ ชำระร่างกายทันที
ถึงแม้สถานการณ์โควิด-19 จะมีแนวโน้มเริ่มดีขึ้น สิ่งที่ สสส. ยังคงเน้นย้ำและส่งเสริมให้การเกิดขึ้นในสังคมไทยอยู่เสมอบนชีวิตวิถีใหม่ เพื่อให้ห่างไกลจากโควิด-19 ด้วยการช่วยกันยกระดับป้องกันโควิด สวมหน้ากาก ล้างมือบ่อย ๆ เว้นระยะห่างทางสังคม ไม่ปกปิดข้อมูล ร่วมกันสร้างความมาตรฐานความปลอดภัยให้การท่องเที่ยวไทย สร้างรายได้ให้ชุมชน ฟื้นเศรษฐกิจการท่องเที่ยวไทยให้กลับมาคึกคักอีกครั้ง
ข้อมูล : สสส