รีเซต

บพท.หนุน ม.ฟาฏอนีเสริมพลังมัสยิด เติมความรู้ยกระดับคุณภาพชีวิตชุมชน

บพท.หนุน ม.ฟาฏอนีเสริมพลังมัสยิด เติมความรู้ยกระดับคุณภาพชีวิตชุมชน
มติชน
5 เมษายน 2565 ( 12:02 )
83

นายอับดุลฆอนี เจะโซะ อาจารย์คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยฟาฏอนี ในฐานะหัวหน้าโครงการศึกษาวิจัยการขับเคลื่อนแพลตฟอร์มการเรียนรู้โดยใช้มัสยิดเป็นฐานในสังคมพหุวัฒนธรรมจังหวัดปัตตานี เปิดเผยว่า มหาวิทยาลัยได้รับการสนับสนุนจากหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) ในสังกัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ในการทำงานวิจัยชิ้นนี้ โดยมุ่งเน้นที่จะนำเสนอความสวยงามของพื้นที่ที่ถูกห่อหุ้มไว้ด้วยภาพความน่ากลัวของเหตุการณ์ความรุนแรงให้สังคมภายนอกได้รับรู้

 

“ภาพเหตุการณ์ความไม่สงบในพื้นที่ที่ถูกถ่ายทอดออกไป ทำให้ความสวยงามหลายมิติในพื้นที่ ทั้งทางธรรมชาติ และความเป็นสังคมพหุวัฒนธรรมถูกฝังกลบ คนข้างนอกมองว่ามันน่ากลัว ประกอบกับคนในพื้นที่มีความเข้าใจในเรื่องของสันติภาพหรือหลักคำสอนของศาสนายังไม่ถึงแก่นแท้ บางคนในพื้นที่ก็ถูกสั่งสอนหรือว่าถ่ายทอดด้วยแนวคิดที่ผิด ๆ ซึ่งจริง ๆ แล้วหลักการอิสลามที่ถูกต้องคือการอยู่ร่วมกันในสังคมอย่างมีความสุข จึงเป็นที่มาที่ไปของการทำโครงการวิจัยชิ้นนี้”

 

นายอับดุลฆอนี กล่าวด้วยว่า เนื้อหาของงานวิจัยดังกล่าวจำแนกออกเป็น 5 โครงการย่อยได้แก่ 1. โครงการที่เป็นต้นแบบการเรียนรู้และนวัตกรรมชุมชนด้านคุณภาพชีวิตในสังคมพหุวัฒนธรรมโดยมัสยิดเป็นฐานในจังหวัดปัตตานี 2.โครงการต้นแบบการเรียนรู้และนวัตกรรมชุมชนด้านคุณภาพชีวิต (เศรษฐกิจชุมชนฐานราก) ในสังคมพหุวัฒนธรรม โดยมัสยิดเป็นฐานในจังหวัดปัตตานี 3.โครงการการศึกษารูปแบบและกลไกของมหาวิทยาลัยฟาฏอนีในกระบวนการสร้างการเรียนรู้ร่วมกับมัสยิดโดยใช้โมเดลสันติภาพในจังหวัดปัตตานี 4. โครงการแหล่งเรียนรู้ยุคใหม่กับการขับเคลื่อนเมืองปัตตานีแห่งเศรษฐกิจความรู้ และ 5. โครงการจัดทำแผนพัฒนาชุมชนเชื่อมโยงกับแผนยุทธศาสตร์จังหวัดต่อการขับเคลื่อนแพลตฟอร์มการเรียนรู้โดยใช้มัสยิดเป็นแกนกลางเชื่อมโยงความร่วมมือของภาคีเครือข่าย

 

“เหตุผลที่เลือกขับเคลื่อนแพลตฟอร์มการเรียนรู้ โดยใช้มัสยิดเป็นแกนกลาง เป็นเพราะมัสยิด เป็นกลไกหนึ่งที่ใกล้ชิดกับคนในพื้นที่มากที่สุด โดยมัสยิดที่ถูกเลือกจะพิจารณาจากคุณลักษณะที่สามารถเป็นตัวอย่างให้แก่มัสยิดอื่นๆ นำไปขยายผลได้ ซึ่งมีอยู่ด้วยกันหลายแห่งกระจายอยู่ใน 7 อำเภอ 10 ชุมชน เช่น มัสยิดสุลตานมูซัฟฟาร์ซาห์ หรือมัสยิดกรือเซะ ที่มีความโดดเด่นในมิติเชิงพหุวัฒนธรรม มัสยิดอัตตะอาวุน ซึ่งโดดเด่นเรื่องการท่องเที่ยวเชิงนิเวศน์วิถี และความเป็นสื่อกลางที่สร้างความเข้าใจสังคมพหุวัฒนธรรม หรือมัสยิดตะลุบัน ซึ่งมีความโดดเด่นด้าน

 

กระบวนการจัดการการคลังชุมชนเพื่อชุมชน พัฒนาคุณภาพชีวิตสู่สันติในสังคมพหุวัฒนธรรม รวมทั้งมัสยิดนูรุลชารีฟ ซึ่งมีกองทุนคิดมัต เป็นกองทุนช่วยเหลือสาธารณประโยชน์ ที่ทำหน้าที่เหมือนเป็นสถาบันการเงินของชุมชน”

 

นายอับดุลฆอนี ยังกล่าวต่อไปว่า การวิจัยครั้งนี้เราได้นวัตกรชุมชนที่เป็นตัวแทนในแต่ละชุมชนที่ถูกคัดเลือกมา มีทั้งอิหม่ามหรือโต๊ะอิหม่าม เจ้าอาวาส ผู้นำทางศาสนา ผู้นำชุมชน เยาวชน ครู นักธุรกิจ และสมาชิกในชุมชนอีกหลากหลายอาชีพ โดยเขาเหล่านี้สามารถถ่ายทอดในเรื่องของสันติภาพ แต่อาจจะมีทักษะบางอย่างที่จะต้องเข้าไปสร้างหรือพัฒนาขึ้นในเรื่องขององค์ความรู้และวิธีการเพื่อจะทำให้ชุมชนได้รับการพัฒนาที่เร็วขึ้น

 

สำหรับส่วนผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นจากงานวิจัยชิ้นนี้ หัวหน้าโครงการวิจัยกล่าวว่าคณะผู้วิจัย ได้เข้าไปถ่ายทอดองค์ความรู้การบริหารจัดการการใช้ประโยชน์ในพื้นที่มัสยิดกลางปัตตานี ให้เกิดประโยชน์ในการสร้างรายได้แก่มัสยิด ขณะเดียวกันก็นำองค์ความรู้ไปช่วยจัดระเบียบการบริหารจัดการกองทุนคิดมัต ของมัสยิดนูรุลชารีฟ ให้เกิดประโยชน์ในการช่วยเหลือดูแลคนในชุมชนได้อย่างมั่นคง รวมทั้งยังได้นำองค์ความรู้จากงานศึกษาวิจัยแบบที่ชาวบ้านมีส่วนร่วมไปช่วยพัฒนามัสยิดอื่นๆ ในพื้นที่ นอกจากนี้ก็ยังบูรณาการความรู้ร่วมกับชาวบ้านในพื้นที่ในการสร้างสันติสุขในพื้นที่ให้มีความยั่งยืน

หัวหน้าโครงการวิจัยกล่าวด้วยว่าโครงการวิจัยข้างต้น ยังได้รับการต่อยอดขยายผลด้วยการนำไปเป็นส่วนหนึ่งในแผนยุทธศาสตร์ระดับจังหวัด หรือเป็นส่วนหนึ่งในแผนพัฒนาชุมชน แผนพัฒนามัสยิด หรือแม้กระทั่งถูกนำไปเป็นส่วนหนึ่งในแผนพัฒนาองค์กรระดับจังหวัด โดยมีคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัด หรือคณะกรรมการมัสยิด เป็นกลไกเชื่อมโยง

นายเฟาซาน อัลฟารีตี หนึ่งในนวัตกรชุมชนจากมัสยิดอีบาดุรเราะห์มาน (บราโอ) ต.ปูยุด อ.เมือง จ.ปัตตานีกล่าวว่าต้องขอขอบคุณทางบพท.และมหาวิทยาลัยฟาฎอนี ที่ได้ส่งมอบสิ่งดี ๆ จากงานวิจัยชิ้นนี้ให้กับมัสยิดและชุมชนซึ่งถือว่าทรงคุณค่าและมีประโยชน์เป็นอย่างยิ่ง

“ผลจากงานวิจัยทำให้มีการถอดบทเรียนที่มีอยู่เดิมในการเป็นแบบอย่างให้กับมัสยิดหรือชุมชนอื่น ๆ ได้เข้ามาศึกษาดูงาน เนื่องจากมัสยิดแห่งนี้ถือเป็นแบบอย่างในการเผยแพร่ศาสนาที่ถูกต้อง ซึ่งไม่ใช่แค่เพียงคนที่นับถือศาสนาอิสลามเท่านั้น แต่ยังทำให้คนต่างศาสนาอื่น ๆได้เข้าใจในหลักของศาสนาอิสลามที่ถูกต้องด้วย อีกทั้งยังทำให้เกิดการบริหารจัดการด้านการถ่ายทอดองค์ความรู้ ผ่านเทคโนโลยีสมัยใหม่ ที่สามารถเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้มากขึ้น”

ทั้งนี้กระบวนการพัฒนาองค์ความรู้ที่สำคัญของโครงการวิจัยชิ้นนี้มีองค์ประกอบสำคัญ 4 ประการได้แก่ 1).IOK Syura (Islamisation of Knowledge Syura) หรือการประชุมแลกเปลี่ยนความรู้ระหว่างกัน 2).PEACE Model หรือตัวแบบกระบวนการสันติภาพ 3). Hybrid Learning Platform IMC และ 4). Strategic Plan

ข่าวที่เกี่ยวข้อง