รีเซต

จ๊อบส์ดีบีหวั่นโควิดระลอก 4 ทำไทยเสี่ยงยอดว่างงานพุ่ง หลังไตรมาส 1 ทุบสถิติในรอบ 5 ปี

จ๊อบส์ดีบีหวั่นโควิดระลอก 4 ทำไทยเสี่ยงยอดว่างงานพุ่ง หลังไตรมาส 1 ทุบสถิติในรอบ 5 ปี
ข่าวสด
4 สิงหาคม 2564 ( 15:17 )
39
จ๊อบส์ดีบีหวั่นโควิดระลอก 4 ทำไทยเสี่ยงยอดว่างงานพุ่ง หลังไตรมาส 1 ทุบสถิติในรอบ 5 ปี

 

จ๊อบส์ดีบีหวั่นโควิดระลอก 4 ทำไทยเสี่ยงยอดว่างงานพุ่ง หลังไตรมาส 1 ทุบสถิติในรอบ 5 ปี - ชี้แห่ยื่นใบสมัครเพิ่มขึ้น 12%

 

 

จ๊อบส์ดีบีหวั่นตกงานพุ่ง - น.ส.พรลัดดา เดชรัตน์วิบูลย์ ผู้จัดการประจำประเทศไทย บริษัท จัดหางาน จ๊อบส์ ดีบี (ประเทศไทย) จำกัด ในฐานะแพลตฟอร์มจัดหางานออนไลน์ เปิดเผยว่า จ๊อบส์ ดีบี เตรียมจัดมหกรรมหางานออนไลน์ ในช่วงเดือนก.ย.นี้ พร้อมกับเปิดเผยสถานการณ์ตลาดแรงงานไทยช่วงครึ่งปีแรก ปี 2564 โดยพบว่า ไตรมาสที่ 1 ของปี 2564 อัตราการว่างงานอยู่ที่ 1.96% สูงที่สุดตั้งแต่เกิดวิกฤตโควิด-19 และสูงสุดเมื่อเทียบกับ 5 ปีย้อนหลัง ซึ่งมีค่าเฉลี่ยอัตราการว่างงานที่ 1% โดยผลกระทบเกิดขึ้นชัดเจนในระลอก 4 ซึ่งรุนแรงสุดเมื่อเทียบกับการระบาดใน 3 ระลอกแรก

 

 

ขณะเดียวกันในส่วนของอัตราผลตอบแทนการจ้างงานหรือเงินเดือนในขณะนี้ยังไม่เปลี่ยนแปลงในทิศทางที่ลดลง เนื่องจากหลายองค์กรได้ดำเนินการไปบ้างแล้วในช่วงโควิด 3 ระลอกแรก ทั้งปรับเปลี่ยนงาน ปรับลดเงินเดือนตลอดจนมีการลดพนักงานไปบางส่วนแล้ว แต่ทั้งนี้ ยังมีความกังวว่าโควิดระลอก 4 จะสร้างความเสียหายให้กับเศรษฐกิจไทยเหมือนช่วงที่ประเทศไทยเผชิญกับการระบาดของโควิดระลอกแรกหรือไม่

 

 

น.ส.พรลัดดา กล่าวต่อว่าผลสำรวจการประกาศงานในสื่อออนไลน์ช่วงครึ่งปีแรกที่ผ่านมา พบว่ามีจำนวนการประกาศลดลงถึง 48% เมื่อเทียบกับเดือนม.ค. ปี 2563 ซึ่งเป็นการลดลงมากกว่าช่วงการระบาดใน 3 ระลอกแรกที่ผ่านมา ขณะที่แนวโน้มครึ่งปีหลัง หากโควิดระลอก 4 ยังคงอยู่ไปอีก 2 เดือนจากนี้ ประกอบกับช่วงปลายปีนี้เข้าสู่ช่วงการประกาศงานลดลง ทำให้ตลอดปี 2564 จำนวนการประกาศงานทั้งปีจะลดลงถึง 50% แต่ทั้งนี้ หากยอดผู้ติดเชื้อโควิดลดจำนวนลงต่อเนื่องในระดับต่ำกว่า 20,000 คน/วัน และการฉีดวัคซีนที่มากขึ้น อาจจะสร้างความเปลี่ยนแปลงได้ โดยเฉพาะทำให้เกิดการจ้างงานในกลุ่มธุรกิจบริการ ท่องเที่ยว โรงแรม ร้านอาหารเพิ่มขึ้นได้ ในขณะที่สายงานไอที ยังคงเป็นสายงานเดียวที่ไม่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโควิดระลอก 4 ยิ่งไปกว่านั้นอัตราการแข่งขันเพื่อให้ได้งานทำยังมีแนวโน้มสูงขึ้นต่อเนื่อง สะท้อนได้จากจำนวนใบสมัครงานเพิ่มขึ้น 12% ในช่วงครึ่งปีแรกที่ผ่านมาเมื่อเทียบกับครึ่งปีหลังของปี 2563 และเพิ่มขึ้น 26% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยเฉพาะผู้สมัครงานในสายงานการผลิต ไอที และวิศวะ

 

 

นอกจากจากข้อมูลจำนวนประกาศงานบน จ๊อบส์ ดีบี ในช่วงครึ่งปีแรกพบว่า กลุ่มสายงานที่เป็นที่ต้องการมากที่สุด ได้แก่ 1. สายงานขาย บริการลูกค้า และพัฒนาธุรกิจ คิดเป็น 15.3% 2. สายงานไอที คิดเป็น 14.8% และ 3. สายงานวิศวกรรม คิดเป็น 10% ในขณะที่กลุ่มสายงานที่มีจำนวนประกาศงานเติบโตขึ้นมากที่สุด ได้แก่ 1. สายงานการจัดซื้อ คิดเป็น 43% 2. สายงานขนส่ง คิดเป็น 37.4% และ 3. สายงานประกันภัย คิดเป็น 36.4%

 

 

ในขณะที่สายงานที่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ซึ่งเป็นสายงานบริการทั้งด้านท่องเที่ยว โรงแรมและร้านอาหาร ยังเป็นสายงานที่มีความต้องการติดลบ แต่แนวโน้มติดลบลดลงเหลือ -5% จากก่อนหน้านั้น -20% สะท้อนว่าแนวโน้มความต้องการจ้างงานในสายงานท่องเที่ยวดีขึ้น แต่ทั้งนี้ต้องจับตาการระบาดของโควิดระลอก 4 นี้ ว่าหากยอดผู้ติดเชื้อไม่ทะลุ 20,000 คน และมีแนวโน้มลดลง คาดว่าความต้องการจ้างงานในสายงานนี้มีโอกาสกลับมาเป็นบวกได้ในครึ่งหลังของปีนี้

 

 

ในด้านการฟื้นตัวของภาคธุรกิจโดยพิจารณาจำนวนความต้องการแรงงาน พบว่า ธุรกิจที่มีสัดส่วนจำนวนประกาศงานสูงสุด ยังคงเป็นกลุ่มธุรกิจไอที 9.6% รองลงมาเป็นกลุ่มธุรกิจการผลิต 6.2% กลุ่มธุรกิจการค้าปลีก-ส่ง 5.5% และธุรกิจที่มีอัตราการเติบโตสูงสุด เมื่อเทียบกับครึ่งปีหลังของปี 2563 ได้แก่ กลุ่มธุรกิจอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ +52.6% กลุ่มธุรกิจประกันภัย +48.0% และกลุ่มธุรกิจการผลิต +41.7%

 

 

นอกจากนี้ จ๊อบส์ ดีบี ยังได้ร่วมกับบอสตัน คอนซัลติ้ง กรุ๊ป และ เดอะ เน็ตเวิร์ก สำรวจทิศทางความต้องการคนทางานยุคใหม่ โดยสำรวจความคิดเห็นคนทำงานกว่า 200,000 คน ใน 190 ประเทศ จาก 20 กลุ่มอาชีพ พบว่า หลังวิกฤตโควิด-19 คนทำงานเปลี่ยนความคิดเรื่องวิถีในการเลือกสถานที่ทำงาน โดยคนทำงานสามารถปรับตัวกับการทำงานระยะไกลได้ดีขึ้น โดยกว่า 73% ของคนทำงานเลือกที่จะทำงานแบบผสมผสานระหว่างการทำงานที่ออฟฟิศกับการทำงานระยะไกล และความต้องการในการเข้าไปทำงานที่ออฟฟิศแบบเต็มเวลา ลดลงเหลือ 7%

 

 

นอกจากนี้ ปัจจัยหลักที่คนทำงานให้ความสำคัญมากที่สุดในการเข้าทำงานหลังวิกฤตโควิด-19 ได้แก่ 1. อัตราเงินเดือนและผลตอบแทน 2. ความสัมพันธ์ที่ดีกับเพื่อนร่วมงาน และ 3. ความภาคภูมิใจในงาน

 

 

นอกจากนี้ ในส่วนของการเปิดรับต่อการเรียนรู้และพัฒนาทักษะใหม่เพิ่มเติม โดยพบว่า 71% ของคนไทยในช่วงอายุ 21-40 ปี มีความพร้อมในการพัฒนาทักษะเดิมและการสร้างทักษะสำหรับงานใหม่ ส่วนช่องทางการเรียนรู้ที่คนทำงานในประเทศไทยใช้ในการพัฒนาทักษะด้านอาชีพมากที่สุด ได้แก่ การสอนงานขณะปฏิบัติงาน การเรียนรู้ด้วยตัวเอง และเรียนผ่านออนไลน์

ข่าวที่เกี่ยวข้อง