รีเซต

เผยแนวทางจัดการ ‘ผู้ป่วยจิตเวช’ คลุ้มคลั่ง หลังเหตุตำรวจเสียชีวิต

เผยแนวทางจัดการ ‘ผู้ป่วยจิตเวช’ คลุ้มคลั่ง หลังเหตุตำรวจเสียชีวิต
TNN ช่อง16
21 เมษายน 2567 ( 20:03 )
25
เผยแนวทางจัดการ ‘ผู้ป่วยจิตเวช’ คลุ้มคลั่ง หลังเหตุตำรวจเสียชีวิต

เหตุการณ์สลดใจ เกิดขึ้นเมื่อช่วงบ่ายของวันนี้ (21 เมษายน 2567) บนถนนหนองตะนา-โนนสมบูรณ์ ตำบลท่าช้างคล้อง อำเภอนองหิน จังหวัดเลย เจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.ผาขาว ได้รับแจ้งเหตุมีผู้ป่วยจิตเวชอาการคลุ้มคลั่ง จึงออกไปรับตัวเพื่อนำส่งรักษาที่โรงพยาบาลผาขาว


ระหว่างทาง ผู้ป่วยนั่งที่เบาะหลังรถกระบะ 4 ประตู โดยไม่ได้สวมกุญแจมือ และมีญาติร่วมเดินทางด้วย 1 คน เมื่อมาถึงจุดเกิดเหตุ ชายผู้ป่วยจิตเวชเกิดอาการคลุ้มคลั่งขึ้นมาทันที ข้ามไปนั่งเบาะหน้า แล้วแย่งพวงมาลัยจากเจ้าหน้าที่ตำรวจจนทำให้รถเสียหลักพลิกคว่ำลงข้างทาง สภาพรถพังยับเยิน


จากเหตุการณ์ดังกล่าว ส่งผลให้ ร.ต.อ.เวหา ฉายสิงห์ รองสารวัตรปราบปราม เสียชีวิตคาที่ เจ้าหน้าที่ตำรวจอีก 3 นาย และญาติของผู้ป่วยได้รับบาดเจ็บ เจ้าหน้าที่กู้ภัยหน่วยกู้ชีพมังกรจากจังหวัดใกล้เคียงและหน่วยกู้ชีพของจังหวัดเลยเข้าช่วยเหลือ ผู้บาดเจ็บทั้งหมดได้รับการนำส่งโรงพยาบาลผาขาวเพื่อรักษาอาการ


สำหรับ ร.ต.อ.เวหา ฉายสิงห์ กำลังจะเกษียณอายุราชการในวันที่ 30 กันยายน 2567 นี้ ปัจจุบันมีครอบครัวภรรยาและบุตรสาว 2 คน


จากเหตุการณ์รถยนต์สายตรวจพลิกคว่ำที่เกิดขึ้นในครั้งนี้ สะท้อนให้เห็นถึงความสำคัญในการประสานงานระหว่างหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องในการจัดการกับผู้ป่วยจิตเวชที่มีอาการคลุ้มคลั่ง ซึ่ง สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติได้ระบุ ข้อปฏิบัติไว้ดังนี้


เมื่อได้รับแจ้งเหตุเกี่ยวกับผู้ป่วยจิตเวชที่มีอาการคลุ้มคลั่ง หน่วยกู้ชีพจะต้องประสานงานกับเจ้าหน้าที่ตำรวจในพื้นที่นั้นๆ เพื่อเข้าควบคุมสถานการณ์ร่วมกัน และที่สำคัญจะต้องประสานแพทย์อำนวยการของจังหวัดซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการแพทย์ฉุกเฉิน


บทบาทของแพทย์อำนวยการจะเข้ามาประเมินอาการของผู้ป่วยอย่างละเอียดผ่านการรับรายงานจากเจ้าหน้าที่ในพื้นที่ รวมถึงอาจใช้วิธีการทางวิดีโอคอลเพื่อสังเกตอาการด้วยตนเองได้ หลังจากนั้นแพทย์อำนวยการจะเป็นผู้วินิจฉัยและสั่งการวิธีการควบคุมตัวผู้ป่วย


ในบางกรณีที่ผู้ป่วยมีอาการรุนแรง อาจจำเป็นต้องใช้อุปกรณ์ควบคุมตัว หรือการฉีดยาเพื่อควบคุมอาการก่อนนำตัวส่งโรงพยาบาล ซึ่งการใช้วิธีการเหล่านี้จะอยู่ภายใต้คำแนะนำของแพทย์อำนวยการเป็นหลัก เพื่อความปลอดภัยสูงสุดของทั้งผู้ป่วยและเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงาน


ดังนั้น การประสานงานอย่างใกล้ชิดระหว่างหน่วยกู้ภัย ตำรวจ และแพทย์ผู้เชี่ยวชาญจึงเป็นสิ่งสำคัญในการรับมือกับสถานการณ์เกี่ยวกับผู้ป่วยจิตเวชที่คลุ้มคลั่งอย่างมีประสิทธิภาพและลดความเสี่ยงกับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องมากที่สุด


เหตุการณ์นี้ เป็นอุทาหรณ์เตือนใจให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพิ่มความระมัดระวังในการควบคุมตัวผู้ป่วยจิตเวช เพื่อป้องกันความสูญเสียที่อาจเกิดขึ้น

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง