รีเซต

ชป. ย้ำทุกภาคส่วนใช้น้ำประหยัด เร่งกำจัดวัชพืชในแม่น้ำ-แหล่งน้ำธรรมชาติ รองรับฝน

ชป. ย้ำทุกภาคส่วนใช้น้ำประหยัด เร่งกำจัดวัชพืชในแม่น้ำ-แหล่งน้ำธรรมชาติ รองรับฝน
มติชน
29 มิถุนายน 2563 ( 16:45 )
92
ชป. ย้ำทุกภาคส่วนใช้น้ำประหยัด เร่งกำจัดวัชพืชในแม่น้ำ-แหล่งน้ำธรรมชาติ รองรับฝน

ปริมาณน้ำต้นทุนในอ่างเก็บน้ำทั่วประเทศอยู่ในเกณฑ์น้อย มีปริมาณน้ำไหลลงอ่างเพียงบางแห่งเท่านั้น ย้ำทุกโครงการชลประทานติดตาม บริหารจัดการน้ำให้เป็นไปตามแผนฯ เคร่งครัด วอนทุกภาคส่วนการ์ดอย่าตกร่วมกันประหยัดน้ำอย่างต่อเนื่อง

 

ดร.ทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน ในฐานะโฆษกกรมชลประทาน กล่าวว่า สถานการณ์น้ำใน อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ทั่วประเทศ ปัจจุบัน(29 มิ.ย. 63) มีปริมาณน้ำในอ่างฯรวมกันประมาณ 30,583 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 43 ของความจุอ่างฯ เป็นน้ำใช้การได้ประมาณ 7,305 ล้าน ลบ.ม. สามารถรับน้ำได้อีกกว่า 40,000 ล้าน ลบ.ม. เฉพาะ 4 เขื่อนหลักลุ่มน้ำเจ้าพระยา (เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์) มีปริมาณน้ำรวมกัน 7,644 ล้าน ลบ.ม. หรือร้อยละ 31 ของความจุอ่างฯ มีปริมาณน้ำใช้การได้รวมกันประมาณ 948 ล้าน ลบ.ม. ด้านผลการจัดสรรน้ำฤดูฝนทั้งประเทศ ปัจจุบัน (29 มิ.ย. 63) มีการใช้น้ำไปแล้ว 4,485 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น ร้อยละ 37 ของแผนจัดสรรน้ำฯ เฉพาะในเขตลุ่มน้ำเจ้าพระยา มีการใช้น้ำไปแล้ว 1,559 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 47 ของแผนจัดสรรน้ำฯที่วางไว้ คงเหลือน้ำที่จะต้องจัดสรรอีกเพียง 1,714 ล้าน ลบ.ม.

 

ทั้งนี้ จากการติดตามปริมาณน้ำไหลงลงอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ 35 แห่งทั่วประเทศ พบว่าวันนี้(29 มิ.ย. 63)มีน้ำไหลลงอ่างฯรวมกันประมาณ 44 ล้าน ลบ.ม. แยกเป็นรายภาค โดยภาคเหนือ จำนวน 8 แห่ง น้ำไหลลงอ่างฯรวมกัน 21 ล้าน ลบ.ม. , ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จำนวน 12 แห่ง น้ำไหลลงอ่างฯรวมกัน 5.02 ล้าน ลบ.ม. , ภาคกลาง จำนวน 3 แห่ง น้ำไหลลงอ่างฯรวมกันประมาณ 0.22 ล้าน ลบ.ม. , ภาคตะวันตก จำนวน 2 แห่ง น้ำไหลลงอ่างฯรวมกันประมาณ 5.01 ล้าน ลบ.ม. , ภาคตะวันออก จำนวน 6 แห่ง น้ำไหลลงอ่างฯรวมกันประมาณ 6.23 ล้าน ลบ.ม. และภาคใต้ จำนวน 4 แห่ง น้ำไหลลงอ่างฯรวมกันประมาณ 6.56 ล้าน ลบ.ม. เฉพาะ 4 เขื่อนหลักลุ่มน้ำเจ้าพระยา มีปริมาณน้ำไหลลงอ่างเก็บน้ำรวมกันประมาณ 18 ล้าน ลบ.ม. ในขณะที่ยังคงต้องระบายน้ำวันละ 18 – 20 ล้าน ลบ.ม. เพื่อการอุปโภคบริโภคและรักษาระบบนิเวศในลุ่มน้ำเจ้าพระยา

 

“ได้เน้นย้ำให้โครงการชลประทานทุกแห่ง ปฏิบัติตามแนวทางการเตรียมพร้อมรับมือสถานการณ์น้ำหลากในช่วงฤดูฝนปี 63 ทั้งการกำหนดบุคคลากร กำหนดพื้นที่เสี่ยง กำหนดเครื่องจักร เครื่องมือ การประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้ถึงสถานการณ์น้ำให้ประชาชนได้รับทราบ ตามแนวทางเข้าถึง เข้าพบ และเข้าแก้ไขปัญหาให้กับประชาชน อีกทั้งยังได้เน้นย้ำการสร้างเครือข่ายกลุ่มผู้ใช้น้ำ และอาสาสมัครชลประทาน เพื่อให้เกิดการมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการน้ำ ซึ่งจะทำให้การช่วยเหลือในทุกพื้นที่เกิดประสิทธิภาพสูงสุด นอกจากนี้ยังได้กำชับให้ทุกพื้นที่เฝ้าระวังและติดตามสภาพอากาศจาก กรมอุตุนิยมวิทยา เพื่อนำมาใช้ในการบริหารจัดการน้ำ รวมทั้งตรวจสอบสิ่งกีดขวางทางน้ำ การกำจัดวัชพืชในลำน้ำและแหล่งน้ำต่างๆให้แล้วเสร็จตามแผนที่วางไว้” ดร.ทวีศักดิ์กล่าว


ข่าวที่เกี่ยวข้อง