พิษโควิด! ชาวบ้านตั้งแผงเช่าพระ-งัดของเก่าในบ้านวางขายข้างถนน หลังถูกสั่งปิดศูนย์พระเครื่อง


แผงพระหลายแห่งราชบุรี ได้รับความเดือดร้อนหนัก หลังมีคำสั่งปิดศูนย์พระเครื่องพระบูชา จากสถานการณ์โควิด -19 บางคนมีทั้งหนี้สินที่ต้องผ่อนชำระรถ บ้านทุกเดือน ขณะที่บางคนงัดของเก่าในบ้านมาขายข้างถนน
หลังจากที่ จ.ราชบุรี มีคำสั่งปิดศูนย์พระเครื่อง พระบูชา ตลาดนัดพระเครื่องทุกแห่งในพื้นที่ จากการกรณีสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด -19 และยังเป็น 1 ใน 28 จังหวัดที่เป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุด และล่าสุดพบผู้ป่วยติดเชื้อ 16 ราย จึงส่งผลกระทบต่อหลายอาชีพเป็นวงกว้าง
เพื่อความอยู่รอดชาวบ้านจึงต้องนำพระเครื่อง พระบูชา เหรียญคณาจารย์ เครื่องรางของขลังที่เก็บสะสมมา ตั้งแผงวางให้เช่าบริเวณริมถนนสายบายพาส อ.เมือง จ.ราชบุรี หลังจากที่ตลาดนัดพระเครื่องแหล่งใหญ่ของเมืองราชบุรีถูกปิดไป บางคนเป็นผู้สูงอายุอยู่กับบ้านไม่รู้จะไปทำอะไร ก็จะนำพระเครื่องที่ตัวเองเก็บสะสมไว้นำมาตั้งแผงให้เช่าบูชา หลังมีคำสั่งปิดทำให้หลายคนได้รับความเดือดร้อน ไม่รู้จะนำแผงพระไปตั้งวางที่ไหน บางคนมีหนี้สินค่าผ่อนบ้าน ผ่อนรถยนต์ และยังมีค่าใช้จ่ายในครอบครัว ทุกอย่างต้องหยุดชะงักหมดเพราะสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคจึงจำเป็นต้องมานั่งว่างแผงขายข้างถนน แม้ช่วงเทศบาลปีใหม่ก็ยังไม่ได้มีการสังสรรค์กับครอบครัว เพราะไม่มีเงิน และยังมาเจอโรคระบาดอีก
นายอภิชัย ชัดช่วงโชติ อายุ 45 ปี ชาวบ้าน ต.พงสวาย อ.เมือง จ.ราชบุรี กล่าวว่า ตัดสินใจนำแผงพระมาวางข้างถนน ส่วนใหญ่แผงพระเกือบ 90 เปอร์เซ็นต์ได้รับผลกระทบตรงที่ตลาดนัดพระเครื่องปิด เพราะรายได้ส่วนใหญ่จะมาจากที่ตลาดนัด จะไปหางานทำอื่นก็ไม่ได้ ยังไม่รู้ว่าจะหาทางออกกันอย่างไรดี เพราะตลาดนัดใหญ่ทั้งราชบุรี นครปฐม กรุงเทพฯ เพชรบุรี ถูกปิดทั้งหมด ช่วงปีใหม่ก็ไม่ได้จัดเลี้ยงปีใหม่เพราะไม่มีรายได้ และตอนนี้ก็ยังไม่รู้ว่าจะมีมาตรการชดเชยรายได้ให้หรือไม่ ที่สำคัญหลังจากนี้ที่ปิดตลาดร้อยเปอร์เซ็นต์ไปแล้วนั้น คนที่ซื้อขายพระเครื่องในวงการจะอยู่อย่างไร ขณะที่ได้ทราบข่าวมาว่าน่าจะปิดตลาดพระนานเป็นเดือน ทำให้บางคนต้องหาทางออกนำพระมาวางขายตามริมถนน ตามปกติจะมีรายได้ขายที่ตลาดนัดพระประมาณวันละ 1,000 – 2,000 บาท แต่หากมาวางที่ริมถนนอาจจะมีความเสี่ยงอันตรายจากรถ แต่ถ้าไม่ทำก็ไม่มีกิน
“มองว่าทางภาครัฐน่าจะเข้ามาดูแลที่ตลาดนัดพระว่ามีความเสี่ยงหรือไม่ ส่วนเรื่องการชดเชยน่าจะเป็นไปตามกลไกของรัฐบาล เพราะทุกคนมีรายได้และรายจ่ายไม่เท่ากัน เบื้องต้นถ้าจะชดเชยในกลุ่มอาชีพอิสระแบบคราวที่แล้วก็ได้ ส่วนจำนวนเงิน 5,000 บาท เป็นจำนวนที่พออยู่ได้ แต่บางคนมีภาระหนี้สินมาก อย่างน้อยมีการชดเชยขึ้นมาก็อยากให้ชดเชยเป็นตัวเงินมากกว่า และอยากให้ทางภาครัฐช่วยจัดหาระเบียบสถานที่ซื้อขายพระที่ชัดเจน เพื่อลดปัญหาความเสี่ยงให้แก่ประชาชนอาชีพนี้ ไม่ใช่สั่งให้หยุดขายไปเลย”
นายบุญพิภพ พัศมโนหาญ อายุ 46 ปี ชาวบ้าน ต.เจดีย์หัก อ.เมือง จ.ราชบุรี มีอาชีพแผงพระมาประมาณ 10 ปี กล่าวว่า ช่วงสถานการณ์โควิดส่งผลกระทบกับครอบครัวมาก ที่บ้านมีรายจ่ายทุกเดือน เรื่องการผ่อนบ้าน หากไม่วางแผงพระก็จะอยู่บ้านเฉย ๆ หากไปทำอาชีพอื่นคงไม่ไหวเพราะอายุมากแล้ว ไปสมัครงานที่ไหนก็ไม่มีใครรับแล้ว ช่วงนี้ให้เช่าพระได้เงินแค่หลักร้อยบาทต่อวัน ช่วงเศรษฐกิจดีจะได้หลักพันบาทเป็นช่วง ๆ ไป
นายพิมพ์บุญ ธนวดีธนไพศาล อายุ 54 ปี ชาวบ้าน ต.พงสวาย อ.เมือง จ.ราชบุรี กล่าวว่า ปกติใช้ชีวิตลำบากอยู่แล้วเศรษฐกิจแบบนี้ และยังมาเจอช่วงโควิดอีก ทำให้ลำบากเพิ่มขึ้นเรื่องการทำมาหากิน ความคล่องตัวที่ไม่สะดวก วันหยุดเราค้าขาย วันปกติเราทำงาน การค้าขายจะเข้าไปแหล่งชุมชนก็ลำบาก เพราะตอนนี้ทุกคนจะระวังตัวเอง ก่อนหน้านี้มีอาชีพรับเหมาก่อสร้าง แต่ขณะนี้งานหยุดหมด ทำให้งานที่ทำต้องค้างอยู่โดยมีการขอให้เลยช่วงวิกฤตไปก่อน ทำให้ขาดรายได้ อีกทั้งลูกกำลังเรียน ช่วงปีใหม่ที่บ้านก็ไม่มีการจัดงาน เพราะต้องเก็บเงินไว้ใช้จ่ายที่จำเป็น ช่วงนี้จำเป็นต้องนำของเก่าเป็นพระเครื่องที่รักและเก็บสะสมไว้มาวางขายช่วยครอบครัว
“ถ้าเป็นไปได้ไม่อยากให้ล็อกดาวน์ปิดประเทศ แต่ให้ช่วยแก้ไขดีกว่า การล็อกดาวน์ ทำให้การทำมาหากินไปไหนไม่สะดวก เหมือนกับไปสร้างความตื่นตระหนกให้คนทั่วไป ส่วนการวางแผงขายพระที่ริมถนนก็มีความเสี่ยงอันตรายต่อรถที่ขับผ่านไปมา แต่ด้วยความจำเป็นที่ต้องทำหาเลี้ยงครอบครัว โดยการตั้งแผงที่ริมถนนจะมีอากาศถ่ายเทสะดวก ไม่อยากไปตั้งแผงในจุดที่เสี่ยง” นายพิมพ์บุญ กล่าว