Pride Month "ชัชชาติ" ร่วมขบวนไพรด์พาเหรด ยอมรับความแตกต่าง แต่ไม่แตกแยก
วันนี้ (5 มิ.ย. 65) นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร พร้อมด้วยคณะผู้บริหารกรุงเทพมหานคร ร่วมเดินขบวนไพรด์พาเหรด ในกิจกรรมบางกอกนฤมิตไพรด์ (Bangkok Naruemit Pride 2022) จัดโดย คณะทำงานบางกอกนฤมิตไพรด์ และเครือข่ายนักกิจกรรมเพื่อความหลากหลายทางเพศ โดยร่วมเดินพาเหรดร่วมกับภาคประชาสังคม ภาคเอกชน และประชาชน ณ วัดพระศรีมหาอุมาเทวี (วัดแขก สีลม) ถึงสีลม ซอย 2 เขตบางรัก
โดยกิจกรรมนี้ ถือเป็นกิจกรรมไพรด์พาเหรดครั้งแรกของกรุงเทพฯ เริ่มจากตัวแทนเครือข่ายนักกิจกรรมเพื่อความหลากหลายทางเพศ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม ร่วมกันตัดริบบิ้นแห่งความอคติทางเพศเพื่อเป็นการแสดงสัญลักษณ์การต่อต้านความอคติต่อผู้มีความหลากหลายทางเพศ
จากนั้นเดินขบวนพาเหรดบางกอก นฤมิต ไพรด์ 2022 ซึ่งเป็นขบวนพาเหรดไพรด์ 6 สี โดยมีความหมายและกิจกรรม ดังนี้
1. ขบวนสีแดง "กฎหมายทุกช่วงชีวิตของ LGBT+" กิจกรรมสีดาลุยไฟ
2. ขบวนสีส้ม "รัฐสวัสดิการเพื่อ LGBT+
3. ขบวนสีเหลือง "เติบโตอย่างมีความหวัง"
4. ขบวนสีเขียว "สัจธรรม" rap ความหลากหลายทางเพศ
5. ขบวนสีน้ำเงิน "สันติภาพโลก" กิจกรรมต่อตัวเป็นสัญลักษณ์สันติภาพ
6. ขบวนสีม่วง "จิตวิญญาณสีรุ้ง" กิจกรรมแต่งงานของคู่รักเลสเบี้ยนจากภาคประชาชน และภาคเอกชน โดยตลอดเส้นทางมีประชาชนทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศให้ความสนใจร่วมกิจกรรมกันอย่างคับคั่ง
นอกจากนี้ ยังมีการแสดง Drag Show จากกลุ่ม Drag Community โดยกลุ่ม Drag เป็นอาชีพที่สร้างรายได้ให้ถนนสีลม และยังสร้างชื่อเสียงให้กับถนนสีลมอีกด้วย รวมทั้งการแสดงจาก Sex Worker และแฟชั่นโชว์ Dance for Pride
"เราไม่รู้ว่าใครมีความหลากหลายอย่างไร แต่ก็คือคนกรุงเทพฯ เหมือนกัน ไม่แตกต่างกันเลย นี่คือความสวยงามของความหลากหลาย ยอมรับความแตกต่าง แต่ไม่แตกแยก ก็รักกันได้ เข้าใจ ใส่ใจกันทุก ๆ เรื่อง ยอมรับให้เกียรติซึ่งกันและกัน ทุกคนมีความเท่าเทียมกัน
ในวันนี้มาในฐานะประชาชนชาวกรุงเทพฯ คนหนึ่ง ที่มางาน Pride Month ถือว่าในงานมีขบวนพาเหรดที่สนุกสนานอบอุ่น เราจะเห็นถึงเรื่องราวที่มีความหลากหลาย เข้าใจ ใส่ใจ เป็นสิ่งที่ดียอมรับ
ไม่เพียงแต่จะเป็นเรื่องความหลากหลายทางเพศอย่างเดียว แต่จะเป็นเรื่องการเมืองด้วย ซึ่งต้องมีความเข้าใจ แตกต่างได้ หลากหลายได้ แต่ไม่แตกแยก ในส่วนของ พ.ร.บ.คู่สมรส เป็นเรื่องของสภาใหญ่ ไม่ใช่ของ กทม. เป็นสิ่งที่คู่สมรสควรจะได้" ผู้ว่าฯ กทม. กล่าว
สำหรับในเดือนมิถุนายน เทศกาล Pride Month ถือเป็นใน 1 ใน 12 เทศกาลตลอดปีทั่วกรุงเทพฯ ทั้งนี้ นโยบายด้าน LGBTQ+ ใน กทม. หรือกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ เป็นส่วนหนึ่งในนโยบาย 214 ข้อ
โดยได้รับการยอมรับผ่านความเข้าใจจาก กทม. ในฐานะหน่วยงานรัฐ ประชาชนได้รับการบริการอย่างเท่าเทียม ไม่เลือกปฏิบัติ ด้วยความเข้าใจในความอ่อนไหวทางเพศ (gender sensitivity) และความเท่าเทียมทางเพศ
การยอมรับความหลากหลายทางเพศวิถีและอัตลักษณ์ทางเพศในสังคมไทยยังคงมีเงื่อนไข ในฐานะหน่วยงานรัฐของประชาชนและนายจ้างของข้าราชการ กทม. การยอมรับและเข้าใจถึงความหลากหลายเป็นก้าวที่สำคัญสำหรับภาครัฐไทยให้ทัดเทียมกับภาคเอกชนหรือเครือข่ายต่าง ๆ นอกจากเรื่องความหลากหลายทางเพศวิถีแล้วยังมีเรื่องความเท่าเทียมทางเพศ ซึ่งเป็นหัวใจหลักที่หน่วยงาน กทม. ต้องให้ความสำคัญ
ผู้ว่าฯ ชัชชาติกล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับเนื้อหาของการจัดงานต้องมาจากประชาชนที่เข้าใจรายละเอียดของงานที่มีความหลากหลาย ซึ่งเกิดจากความร่วมมือกันของภาคีเครือข่าย กทม.ไม่เข้าใจรายละเอียดของเนื้อหา
ถ้าจะจัดเองก็เป็นการจ้างออแกไนซ์มาจัด ซึ่งจะไม่สวยงามมีความหลากหลายเช่นวันนี้ กทม. พร้อมสนับสนุนด้านสาธารณสุข ความปลอดภัย เริ่มจากวันนี้ ในส่วนของกทม. ต้องเริ่มจากตัวเราเองก่อน ข้าราชการ ลูกจ้าง สามารถแต่งกายตามเพศวิถีได้ ให้บริการประชาชนอย่างเท่าเทียม ไม่มีการแบ่งแยก.
ข้อมูลและภาพจาก สำนักงานประชาสัมพันธ์ กทม.