บอร์ด รฟท.ไฟเขียว AIT ชนะประมูลติดจีพีเอสขบวนรถโดยสาร 948 ล. -ผุดแอพเช็คเวลาเดินทางแบบเรียลไทม์
บอร์ด รฟท. ไฟเขียว AIT ชนะประมูล งานติดตั้งจีพีเอส ขบวนรถไฟขนส่ง คน-สินค้า วงเงิน 948 ล้านบาท เตรียมผุดแอพให้ผู้โดยสารเช็คเวลาเดินทางแบบเรียลไทม์ คาดเริ่มใช้ปลายปี 66
รายงานข่าวจากการรถไฟแห่งประเทศไทย(รฟท.)เปิดเผยว่าที่ประชุมบอร์ด รฟท.เมื่อวันที่ 15 ก.พ. มีมติเห็นชอบผลการประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์ โครงการจ้างพัฒนาระบบติดตามขบวนรถไฟและจัดการงานขนส่งสินค้า (Train Tracking and Freight Management System) ราคากลาง 949.9 ล้านบาท โดยผู้ชนะการประมูลคือกิจการร่วมค้าเอเอ ซึ่งประกอบด้วย บริษัท แอ็ดวานซ์อินฟอร์เมชั่นเทคโนโลยี จำกัด (มหาชน)( AIT) บริษัท แอพเวิร์คส์ จำกัด บริษัท อาร์มเทค เอ็นจีเนียริ่ง จำกัด บริษัท เอส เจ พี อินฟอร์เมชั่นซิสเต็ม จำกัด เสนอราคาต่ำที่สุดคือ 948.5 ล้านบาท ต่ำกว่าราคากลาง 1.4 ล้านบาท โดยบอร์ดขอให้ รฟท.ไปเจรจาต่อรองขอลดราคากับผู้ชนะอีกครั้ง
“รฟท.จะนัดต่อรองราคาอีกครั้ง และนำผลสรุปเสนอให้ บอร์ด รฟท. รับทราบอีกครั้งในการประชุมเดือน มี.ค. คาดว่าจะลงนามในสัญญากับกิจการร่วมค้าเอเอ ได้เดือนเม.ย.2565 เริ่มงานติดตั้งระบบ พ.ค.2565 ใช้ระยะเวลา 18 เดือน คาดว่าจะแล้วเสร็จและเปิดให้บริการได้ช่วงปลายปี 2566”
รายงานข่าวแจ้งว่าโครงการดังกล่าวมีเอกชนยื่นประมูล 2 รายคือกิจการร่วมค้าเอเอ และ บริษัท สามารถคอมเทค จำกัด ซึ่งเสนอราคาที่ 949 ล้านบาท สูงกว่าราคาของกิจการร่วมค้าเอเอจึงแพ้ประมูล
ทั้งนี้รฟท.จะเร่งตัดตั้งระบบ GPS และRFID บนขบวนรถโดยสาร 200 ขบวนและขบวนตู้สินค้า 100 ตู้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ ระบบจัดการขนส่งผู้โดยสาร สินค้า รวมทั้งระบบการวางแผนพนักงานประจำขบวนรถ ระบบจัดขบวนรถ เพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขันกับระบบขนส่งโหมดอื่น
“ระบบนี้จะทำให้ ติดตามตำแหน่งหัวรถจักร ขบวนโดยสารและแคร่สินค้าได้แบบเรียลไทม์ ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพขนส่ง แก้ปัญหาความล่าช้า และยังอำนวยความสะดกให้ประชาชนสามารุเช็คเวลาเข้า ออกสถานีของขบวนรถได้ด้วย โดยจะมีการพัฒนาแอพพลิเคชั่นมารองรับการใช้งานต่อไป”
รายงานข่าวแจ้งว่าระบบดังกล่าวจะลดมูลค่าความเสียหายจากความล่าช้าของเที่ยววิ่งรถโดยสารได้ ปีละ 311 ล้านบาท ลดมูลค่าความเสียหายเที่ยววิ่งสินค้าปีละ 97 ล้านบาท ขณะที่ผู้โดยสารจะพึงพอใจกับบริการมากขึ้นเพิ่มความสามารถในการแข่งขันให้กับบริการ คาดว่าจะทำให้จำนวนผู้โดยสารเพิ่มขึ้น 5% หรือราว ปีละ 1.75 ล้านคน จากยอดคนโดยสารเฉลี่ยต่อปี 35.1 ล้านคน ส่งผลให้รายได้จากการโดยสารเพิ่มขึ้นปีละ 176 ล้านบาท จากรายได้ปกติปีละ 3,529 ล้านบาท
ส่วนปริมาณขนส่งคาดว่าจะเพิ่มขึ้น 2% จากปัจจุบันที่ขนส่งอยู่ที่ปีละ 11 ล้านตัน ส่งผลให้รายได้จากการขนส่งสินค้าเพิ่มขึ้นปีละ 44 ล้านบาท รวมทั้งจะช่วยลดค่าใช้จ่ายเรื่องของน้ำมันเชื้อเพลิงได้ปีละ 10 ล้านบาท