ซอฟต์เพาเวอร์-มิลลิ ‘เหนียวมะม่วง’เมนูฮิต อย่าเป็นแค่‘กระแส’
“เรามีของดีๆ เยอะ ซอฟต์แวร์ เอ้ย! ซอฟต์เพาเวอร์ โทษที”
คำกล่าวตอนหนึ่งของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี อันเนื่องมาจากกรณีโชว์หม่ำ “ข้าวเหนียวมะม่วง” ของ “มิลลิ ดนุภา” ศิลปินวัย 19 ปี บนเวทีเทศกาลดนตรีและศิลปะระดับโลกอย่าง Coachella แคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา
สร้างปรากฏการณ์ข้าวเหนียวมะม่วงฟีเวอร์!
อย่างไรก็ตาม หากมองลึกลงไปยิ่งกว่าการเอ่ย “ผิดคำ” ของ “บิ๊กตู่” คือความเข้าใจในประเด็น “ซอฟต์เพาเวอร์” ที่แม้ในวันนี้ไรเดอร์รับ-ส่งอาหารต่อคิวยาวเหยียดหน้าร้านข้าวเหนียวมะม่วง ผลผลิตชาวสวนมะม่วงขายดีเพิ่มขึ้นวันละเป็นตัน
โฆษกรัฐบาลออกมาบอกว่า “มิลลิ” เป็นหนึ่งในศิลปินร่วมผลักดันซอฟต์เพาเวอร์ ตามนโยบาย “นายกฯ” กระทรวงพาณิชย์พร้อมสนับสนุน Creative Economy (เศรษฐกิจสร้างสรรค์) โดยปี 2565 คือ การส่งเสริมและเชื่อมตลาดด้านนี้ โดยเน้น Soft Power และบุคคลในแวดวงการเมืองอีกมากมายพร้อมใจออกมาเอ่ยถึง
ประเด็นนี้ โตมร ศุขปรีชา นักเขียนนักแปลชื่อดังและผู้อำนวยการสำนักยุทธศาสตร์และนวัตกรรมการเรียนรู้ สำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ (องค์การมหาชน) หรือ OKMD มองบรรยากาศในห้วงเวลานี้ว่า เห็นหลายคน “เห่อ” และ “โหน” คำว่าซอฟต์เพาเวอร์ที่ได้รับอานิสงส์มาจากข้าวเหนียวมะม่วงแล้ว รู้เลยว่าความเข้าใจเรื่องนี้ของผู้มีอำนาจในสังคมไทยมีมากน้อยเพียงใด การสร้างซอฟต์เพาเวอร์ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะมันต้อง “เกิดขึ้นมาเอง” จะไปจัดตั้งหรือบีบบังคับให้เกิดแบบที่รัฐอำนาจนิยมคุ้นเคยและชอบทำไม่ได้ ในมิติที่รัฐพอจะเอื้อมมือเข้ามาทำได้ รัฐต้องตระหนักให้ได้ว่า ส่วนหนึ่งซอฟต์เพาเวอร์มาจากระบบเศรษฐกิจ และต้องเป็นเศรษฐกิจสร้างสรรค์ที่วางตัวอยู่บน Knowledge Economy (เศรษฐกิจฐานความรู้) อีกทีหนึ่ง จึงจะแข็งแรง
เมื่อหันไปมอง “เกาหลีใต้” ที่คนไทยรู้จัก “แดจังกึม” ตั้งแต่เกือบ 2 ทศวรรษที่แล้ว ยาวมาถึงซีรีส์เกาหลีในวันนี้ คำว่าซอฟต์เพาเวอร์ถูกเอ่ยถึงในที่ประชุม เวทีเสวนา และเอกสารราชการมากมาย แต่ถามว่าจะสามารถเนรมิตซอฟต์เพาเวอร์ได้ในชั่วข้ามคืนหรือไม่ ?
โตมร เปิดเผยผ่านเฟซบุ๊ก ระบุถึงรายงานฉบับหนึ่งของสถาบันพัฒนาเกาหลี (Korea Development Institute) ที่มีชื่อว่า Korea as a Knowledge Economy: Evolutionary Process and Lessons Learned ซึ่งบ่งชี้ว่า เกาหลีไม่ได้เพิ่งมาเริ่ม “บูม” ด้วยเวลาเพียงไม่กี่ปี แต่ซอฟต์เพาเวอร์เราเห็น อิจฉา และฝันอยากจะเป็นแบบนั้นโดยสำเร็จรูป มาจากการเตรียมพร้อม อย่างน้อยถึง 40 ปี
และถ้าไม่มี 4 เสาหลักอย่าง นโยบายทางเศรษฐกิจที่สร้างระบบจูงใจให้สร้างสรรค์, การอัพเกรดแรงงานให้มีทักษะ, สถาบัน บริษัท องค์กร หรือหน่วยงานต่างๆ ทั้งของรัฐและเอกชน นำความรู้มาปรับให้เข้ากับความต้องการของท้องถิ่น รวมถึงการมีสาธารณูปโภคหรือโครงสร้างในการแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารสมัยใหม่ให้มากพอ เราจะเห็น สิ่งที่คล้ายๆ “ซอฟต์เพาเวอร์” เกิดขึ้นอย่างวูบวาบ
“เพราะมันคือการต่อสู้ของคนรุ่นใหม่ที่อยากทำสิ่งที่ตัวเองรัก แต่ไม่มีการสร้างเนื้อนาดินที่มั่นคงรองรับอะไรไว้ คนเหล่านี้อาจจะพยายามทำ พยายามผลักดันสิ่งใหม่ๆ แต่ถ้ามันเต็มไปด้วยแรงต้าน คือต่อต้านเลยกับแรงหนืด คือไม่ได้ต่อต้าน แต่ก็อืดๆ เฉื่อยๆ แบบราชการๆ สุดท้าย ก็จะเป็นอำนาจรัฐนี่แหละ ที่จะเป็นตัวดับฝันและทำลายซอฟต์เพาเวอร์ดั้งเดิมที่มีอยู่แล้วในแต่ละวัฒนธรรมลงไปคามือตัวเอง” โตมรระบุ
อีกความเห็นน่าสนใจ มาจาก รศ.ดร.สิริพรรณ นกสวน สวัสดี อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งมองว่า ขณะนี้ข้าวเหนียวมะม่วงเป็น กระแส ที่เกิดในไทยมากกว่า ส่วนมิลลินั้นได้ใช้ความสามารถส่วนตัวไปเวทีโลก ถ้าไทยจะสร้างซอฟต์เพาเวอร์ไม่ว่าจะผ่าน คน วัตถุ สิ่งของ ให้ยั่งยืน รัฐต้องสนับสนุน และที่สำคัญ ต้องมีวิสัยทัศน์ วางแผน ลงทุน ถึงจะสำเร็จและยั่งยืน นอกจากนี้ ยังหยิบยกกรณี “Tony Jaa” หรือ จา พนม นักแสดงชายไทยผู้ไปไกลระดับนานาชาติ โพสต์ผ่านเฟซบุ๊กโดยมีผู้ร่วมแลกเปลี่ยนมุมมองมากมาย
รศ.ดร.สิริพรรณ ระบุว่า พลังทางวัฒนธรรมไม่ใช่เพียงคนหรือสิ่งของ แต่คือการทำให้นานาชาติรับเอาคุณค่าทางความคิด-วัฒนธรรมนั้นมาใช้ด้วย
“ในความเห็นของเรา ผู้บุกเบิก การดึงดูดด้วยวัฒนธรรม ที่คนไม่ค่อยกล่าวถึง คือ มีส่วนทำให้ ต้มยำกุ้ง เป็นภาษาสากลเหมือน ยีนส์ พิซซ่า ซูชิ กิโมโน มังงะ กิมจิ รามยอน ฯลฯ จำได้ว่าช่วงปี 2548-2558 เวลาไปไหนมาไหน พอคนต่างชาติรู้ว่ามาจากประเทศไทย จะถามถึง โทนี่ จา เป็นคนแรก ด้วยความยอมรับยกย่อง ผ่านมาหลายปี คนไทยก็ลืม จา พนม ส่วนศิลปะป้องกันตัว และมวยไทย ก็กลายเป็น มวยใคร” อาจารย์รัฐศาสตร์วิเคราะห์
ความเห็นข้างต้นของ รศ.ดร.สิริพรรณ ที่กล่าวถึง การดึงดูดทางวัฒนธรรม ชวนให้นึกถึงความพยายามในการแปลถ้อยคำ Soft Power เป็นภาษาไทย นับจาก Joseph S. Nye ศาสตราจารย์ทางรัฐศาสตร์จากสถาบันจอห์น เอฟ เคเนดี มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด พัฒนาแนวคิด Soft Power เมื่อ ค.ศ.2004 เบื้องต้นยังไม่ปรากฏว่า ราชบัณฑิตสภา บัญญัติศัพท์ไว้ให้ใช้ แต่นักคิด นักเขียน นักวิชาการไทยสรรคำอย่างหลากหลาย อาทิ อำนาจโน้มนำ อำนาจละมุน อำนาจอ่อน พลังอำนาจแบบอ่อน และอำนาจทางวัฒนธรรม เป็นต้น
แน่นอนว่า ประเด็นทางวัฒนธรรมเช่นนี้ กรมส่งเสริมวัฒนธรรม (สวธ.) กระทรวงวัฒนธรรมไม่พลาด ออกมาแอ๊กชั่นโดยบอกว่า ที่ผ่านมาได้ร่วมมือกับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เก็บข้อมูลอาหารไทย เพื่อเสนอชื่อเป็นรายการตัวแทนมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติ หรือ มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม ต่อองค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือยูเนสโก หนึ่งในโพยรายชื่อก็มี “ข้าวเหนียวมะม่วง” ด้วย
ชาย นครชัย อธิบดี สวธ. อธิบายว่า ข้าวเหนียวมะม่วงเป็นเมนูที่อยู่ในโครงการ Thai Dishcovery : New Thai Dish for New Gen ซึ่งได้รับความร่วมมือจากเชฟจากร้านอาหารชื่อดังที่กำลังได้รับความนิยมในกลุ่มคนรุ่นใหม่ พัฒนารูปลักษณ์ รูปแบบการนำเสนอ และรสชาติให้ตอบโจทย์ของกระแสทางวัฒนธรรมที่เปลี่ยนแปลงไป แต่ยังคงไว้ซึ่งความอร่อยแบบไทยดั้งเดิมด้วย
“การที่นักร้องอย่างมิลลิ นำข้าวเหนียวมะม่วงไปกินบนเวทีคอนเสิร์ตระดับโลก ย่อมส่งผลให้ชาวต่างชาติที่ชมคอนเสิร์ตสนใจในข้าวเหนียวมะม่วงอย่างแน่นอน ซึ่งปรากฏการณ์ในลักษณะนี้เคยเกิดขึ้นมาแล้วที่ ลิซ่า ลลิษา มโนบาล แห่งวง Blackpink เคยพูดถึงลูกชิ้นยืนกินที่ จ.บุรีรัมย์ ก็ส่งผลให้ลูกชิ้นยืนกินขายดีขึ้นมาทันที” อธิบดี สวธ.กล่าว
ด้าน สุชาติ สวัสดิ์ศรี ผู้ถูกกรมส่งเสริมวัฒนธรรมปลดกลางอากาศ หลุดจาก “ศิลปินแห่งชาติ” สาขาวรรณศิลป์ท่ามกลางความกังขาของสังคม แนะว่า นอกจากโครงสร้างทางการเมือง เศรษฐกิจ สังคม ที่ต้องปรับเปลี่ยนให้เชื่อมโลกได้แล้ว โครงสร้างทางวัฒนธรรม ก็มีความสำคัญที่จะต้องปรับเปลี่ยนให้เป็น “สะพานเชื่อมโลก” ไปพร้อมกันด้วย
กระทรวงศึกษาธิการ และกระทรวงวัฒนธรรม ต้องมีวิสัยทัศน์และเข็มมุ่งในการปรับเปลี่ยน เพื่อให้ ชีวิตของประเทศ มีที่ยืนในการเชื่อมกับโลกอนาคต โดยที่เห็นและเป็นอยู่ คือจะต้องไปพ้นจากสิ่งที่เรียกว่า “การเฝ้าระวังทางวัฒนธรรม” พร้อมเน้นย้ำด้วยว่า รัฐเพียงส่งเสียงอย่างจริงใจ จริงจัง โดยเห็นว่า เสรีภาพ และมนุษยภาพ คือเรื่องเดียวกัน
การเชื่อมโลกด้วยซอฟต์เพาเวอร์ก็จะบังเกิด