รีเซต

ส่อง 'โควิด' บุก 'อาเซียน'

ส่อง 'โควิด' บุก 'อาเซียน'
มติชน
21 กรกฎาคม 2564 ( 07:06 )
50
ส่อง 'โควิด' บุก 'อาเซียน'

 

นอกจากประเทศไทยแล้ว เพื่อนบ้านหลายประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่รวมตัวกันขึ้นเป็นสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) กำลังเผชิญกับวิกฤตการแพร่ระบาดของโควิด-19 อย่างหนัก ‘มติชน’ สรุปสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 เพื่อนบ้านอาเซียน 9 ประเทศเอาไว้พอสังเขป ดังนี้

 

 

‘บรูไน’

บรูไน ประสบความสำเร็จในการควบคุมการแพร่ระบาดของโรค และกำลังเริ่มเปิด ระเบียงการเดินทางท่องเที่ยว กับประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคแล้วในเวลานี้ โรงเรียนและศาสนสถาน เปิดให้ทำกิจกรรมได้ตั้งแต่ต้นเดือนกรกฎาคม ในขณะที่ธุรกิจและร้านอาหาร ภัตตาคารทยอยกันเปิดเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ความสำเร็จของบรูไน อยู่ที่การบังคับใช้มาตรการยับยั้งต่างๆ อย่างรวดเร็วและเข้มงวด มีการตรวจหาเชื้ออย่างกว้างขวาง มีกฎกักกันโรคเข้มข้น ทำให้แม้ว่าจะเริ่มต้นกระจายวัคซีนตั้งแต่เดือนเมษายน ช้ากว่าหลายประเทศแต่ก็ยังอยู่ในแนวทางเป็นไปได้ที่จะบรรลุเป้าหมาย 70 เปอร์เซ็นต์ของประชากรภายในสิ้นปีนี้

 

 

‘กัมพูชา’

กัมพูชา แม้จะมีโครงสร้างพื้นฐานด้านสาธารณสุขไม่ดีพอ แต่ก็ประสบความสำเร็จเบื้องต้นในการรับมือกับโควิด-19 ในปีแรกที่ผ่านมา ผู้เชี่ยวชาญชี้ว่า ส่วนหนึ่งเป็นเพราะตำแหน่งที่ตั้งของประเทศรายล้อมด้วยไทย ลาว และเวียดนาม ที่ประสบความสำเร็จในการยับยั้งการแพร่ระบาดของโรคในระลอกแรกๆ ด้วยดี กัมพูชาพยายามเปิดประเทศ เปิดเศรษฐกิจในช่วงครึ่งหลังของปีที่ผ่านมา แล้วก็เริ่มต้นรับผู้ติดเชื้อนำเข้ามาตั้งแต่ปลายเดือนพฤศจิกายน จำนวนทวีขึ้นในเดือนมกราคม หลังการปิดกิจกรรมทางเศรษฐกิจในไทยและแรงงานอพยพเดินทางกลับประเทศพร้อมเชื้อโควิด แม้รัฐบาลแก้ไขอย่างฉับไวแต่เกิดการระบาดในชุมชนเป็น กลุ่มก้อนตั้งแต่ปลายกุมภาพันธ์เรื่อยมา และยังไม่สามารถควบคุมได้จนถึงขณะนี้ จำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มในระดับกว่า 700 คน ในขณะที่มาตรการล็อกดาวน์ ปิดตลาด แหล่งชุมชนก่อให้เกิดวิกฤตอาหารตามมา กัมพูชามีอัตราการฉีดวัคซีนสูงเป็นอันดับ 2 ในอาเซียนที่ 28.95 เปอร์เซ็นต์ ของประชากร

 

 

‘อินโดนีเซีย’

อินโดนีเซีย เป็นประเทศที่มีการระบาดเลวร้ายที่สุดในอาเซียน ในทุกๆ ระลอก โดยเฉพาะในระลอกล่าสุดซึ่งเป็นการระบาดของเชื้อกลายพันธุ์เดลต้า ทำให้มีผู้ติดเชื้อรายวันสูงเป็นสถิติโลก ผู้เชี่ยวชาญชี้ว่า การตัดสินใจเปิดเศรษฐกิจ ให้มีการเดินทางภายในและเปิดประเทศในขณะที่การระบาดยังไม่ลดลงอยู่ระดับที่ระบบรองรับได้ และไม่รอการมาถึงของวัคซีน เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ทุกอย่างเลวร้ายลง ทำให้ผู้ติดเชื้อเพิ่มสูงขึ้นถึง 4 เท่าตัวในชั่วระยะเวลาเพียงไม่ถึงเดือน สถานการณ์ในอินโดนีเซียในขณะนี้เลวร้ายถึงระดับที่ ชาวอินโดนีเซียทุกๆ 4 คน ที่เข้าตรวจหาเชื้อจะพบผู้ติดเชื้อ 1 คน ในขณะที่อัตราการเสียชีวิตเพิ่มเป็น 2.6 เปอร์เซ็นต์ ตั้งแต่ต้นเดือนกรกฎาคม ยอดติดเชื้อสะสมพุ่งเกิน 2 ล้านราย ไปเมื่อ 21 มิถุนายนที่ผ่านมา ในขณะที่ผลการศึกษาวิจัยแอนติบอดีทั่วประเทศ 2 ชิ้น เผยแพร่ในเดือนเดียวกันระบุว่า ยอดติดเชื้อจริงๆ สูงกว่า ยอดทางการราว 30 เท่า โดยประชากรราว 15 เปอร์เซ็นต์ จาก 251 ล้านคนติดเชื้อ อินโดนีเซียเริ่มโครงการฉีดวัคซีนตั้งแต่เดือนมกราคมก่อนหลายประเทศ แต่เผชิญกับปัญหาหลากหลาย ทั้ง วัคซีนล่าช้า, ปัญหาในระบบราชการ, การคอร์รัปชั่น, ปัญหาในการจัดเก็บวัคซีน และปัญหาการลำเลียงวัคซีนจากสภาพภูมิประเทศ จนถึงมิถุนายนที่ผ่านมา ยังฉีดไปได้แค่ 10.92 เปอร์เซ็นต์ของประชากร ทำให้ต้องหันมาพึ่งการล็อกดาวน์ทั่วประเทศอีกครั้ง

 

 

 

‘ลาว’

ลาว เป็นประเทศสุดท้ายในอาเซียนที่รายงานพบการติดเชื้อโควิด-19 ภายในประเทศ และยับยั้งการแพร่ระบาดได้นานกว่า 1 ปี จนกระทั่งเกิดการระบาดระลอกใหม่ เมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา อัตราการติดเชื้อเร่งเร็วขึ้นจนถึงระดับกว่า 100 คนต่อวันในขณะนี้ และพบผู้เสียชีวิตรายแรกไปเมื่อ 9 พฤษภาคมที่ผ่านมา การระบาดระลอกใหม่เกิดขึ้นพร้อมกับความพยายามกระตุ้นเศรษฐกิจและเปิดให้มีการเดินทางท่องเที่ยว ส่งเสริมการท่องเที่ยวภายในประเทศและกับเพื่อนบ้านในอาเซียนด้วยกัน ลาวมีอัตราการฉีดวัคซีนสูงเป็นอันดับ 3 ในอาเซียนที่ 13.5 เปอร์เซ็นต์

 

 

‘มาเลเซีย’

มาเลเซีย จัดเป็นประเทศหนึ่งที่การเมืองส่งผลอย่างมีนัยสำคัญต่อการแพร่ระบาดของโควิด-19 มากที่สุดในอาเซียน เริ่มตั้งแต่การเปลี่ยนนายกรัฐมนตรีและรัฐบาลกะทันหันเมื่อต้นปี 2020 ทำให้การแพร่ระบาดไม่ได้รับการใส่ใจ จนต้องล็อกดาวน์ทั้งประเทศในเดือนมีนาคม เมื่อระลอกแรกอยู่ในความควบคุม รัฐบาลเริ่มผ่อนปรนมาตรการ และปล่อยให้มีการรณรงค์หาเสียงเลือกตั้งแบบไม่มีข้อจำกัดใดๆ ในการเลือกตั้งรัฐซาบาห์ เมื่อเดือนกันยายน ส่งผลให้เกิดการระบาดระลอกใหม่ ทำให้การระบาดอยู่ในระดับสูงตลอดมาจนถึงขณะนี้ การระบาดระลอกหลังสุด เชื่อมโยงกับการรวมตัวกันทางศาสนาในเทศกาลรอมฎอน ยอดติดเชื้อรายวันพุ่งทำสถิติสูงสุดของประเทศ มาตรการล็อกดาวน์ก่อให้เกิดการว่างงานและภาวะอดอยากขึ้นตามมา ชาวมาเลเซียแสดงออกเป็นการประท้วงด้วยการโบกธงขาวจากบ้านพักของตนเอง มาเลเซียฉีดวัคซีนให้กับประชากรได้เพียง 10.29 เปอร์เซ็นต์

 

 

‘เมียนมา’

การระบาดในเมียนมาจัดอยู่ในระดับต่ำสุดประเทศหนึ่งในอาเซียนมาจนถึงเดือนสิงหาคม ปีที่แล้ว เมื่อการติดเชื้อเพิ่มขึ้นเกิน 1,000 คนต่อวัน เริ่มต้นจากการระบาดในรัฐยะไข่ ต่อด้วยการจัดการเลือกตั้งในเดือนพฤศจิกายนที่ทำให้การระบาดแพร่กว้างขวางมากขึ้น การรัฐประหารในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ ทำให้สถานการณ์โควิดใน เมียนมาซับซ้อนและอึมครึมสูงสุด การต่อต้านการรัฐประหารด้วยอารยะขัดขืนส่งผลให้อดีตหัวหน้าโครงการวัคซีนของประเทศถูกตั้งข้อหาทรยศต่อประเทศชาติ และแม้รัฐบาลทหารจะยืนกรานว่าโครงการฉีดวัคซีนจะดำเนินต่อไป แต่ระบบตรวจหาเชื้อล่มสลายลงทั้งหมด, ระบบโรงพยาบาลไม่สามารถรองรับผู้ป่วยได้ การติดตามหากลุ่มเสี่ยงใกล้ชิดผู้ติดเชื้อยุติลง รวมทั้งการสนองตอบกับสถานการณ์ระบาดโดยรวม เมียนมามีผู้ติดเชื้อสะสมเกินกว่า 250,000 ราย ด้วยอัตราการเพิ่มวันละกว่า 5,000 คน อัตราการฉีดวัคซีนชะงักอยู่ที่ 5.5 เปอร์เซ็นต์

 

 

‘ฟิลิปปินส์’

ฟิลิปปินส์ เป็นประเทศที่มีการแพร่ระบาดเลวร้ายมากที่สุดเป็นอันดับ 2 ของอาเซียนรองจากอินโดนีเซีย ในแง่ของยอดติดเชื้ออย่างเป็นทางการ ยอดติดเชื้อสูงสุดเมื่อปีที่ผ่านมาเกิดขึ้นในเดือนสิงหาคม 2020 เพิ่งถูกทำลายลงอย่างราบคาบจากยอดติดเชื้อใหม่รายวันในเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ทางการฟิลิปปินส์ยอมรับว่าการระบาดระลอกใหม่ เป็นเพราะการผ่อนคลายมาตรการ เพื่อให้ประชาชนกลับเข้าทำงาน ในขณะที่รัฐบาลกลาง ปล่อยให้การรับมือกับสถานการณ์ระบาดอยู่ในมือทางการท้องถิ่นเป็นหลัก การกระจายวัคซีนในฟิลิปปินส์มีปัญหาถึงขนาด คาร์ลิโต กัลเวซ จูเนียร์ หัวหน้าโครงการกำหนดไทม์ไลน์ ว่า กว่าจะฉีดวัคซีนให้กับประชากร 60-70 ล้านคน ได้ต้องใช้เวลา 3-5 ปี เมื่อ 6 กรกฎาคมที่ผ่านมา องค์การอนามัยโลกเตือนว่า ฟิลิปปินส์เสี่ยงต่อการเกิดการระบาดระลอกใหม่ที่รุนแรงกว่าเดิม

 

 

‘สิงคโปร์’

สิงคโปร์ ประสบความสำเร็จสูงมากในการควบคุมการระบาดด้วยการตรวจหาเชื้ออย่างกว้างขวางและต่อเนื่อง พร้อมกับระบบการติดตามบุคคลกลุ่มเสี่ยง และการบังคับใช้การกักกันโรคอย่างเข้มงวดดีเยี่ยม ในขณะเดียวกันรัฐบาลก็ไม่ผลีผลามเปิดกิจกรรมเศรษฐกิจและสังคม ค่อยๆ ผ่อนภายใต้การควบคุมเป็นระยะ การเปิดระยะที่ 3 เพิ่งเริ่มเมื่อปลายปีที่ผ่านมา พร้อมกับชะลอการเปิดการเดินทางระหว่างประเทศลงเมื่อเกิดการแพร่ระบาดระลอกใหม่ในหลายประเทศทั่วโลก

 

 

‘เวียดนาม’

เมื่อปีที่ผ่านมา เวียดนามได้ชื่อว่าเป็นชาติที่ประสบความสำเร็จในการรับมือกับการแพร่ระบาดได้ดีที่สุดในอาเซียน โดยการบังคับใช้มาตรการป้องปรามอย่างเข้มงวด ทั้งการปิดประเทศ การล็อกดาวน์ การจัดทีมติดตามสอบสวนโรคและการตรวจหาเชื้ออย่างกว้างขวาง หลังผ่านระลอกแรกด้วยดี เวียดนามใช้เวลาไม่นานในการควบคุมการแพร่ระบาดระลอก 2 ที่เริ่มที่ดานังในเดือนกรกฎาคมจนได้ภายในเดือนกันยายน เช่นเดียวกับระลอก 3 เมื่อปลายมกราคมปีนี้ แต่จนถึงขณะนี้ เวียดนามยังจัดการกับการระบาดล่าสุดที่เริ่มเมื่อ 29 พฤษภาคมที่ผ่านมาไม่ได้ จากการแพร่ระบาดของเชื้อกลายพันธุ์เดลต้าและอัลฟ่า ยอดติดเชื้อเพิ่มวันละกว่า 4,000 คน ทำให้ยอดติดเชื้อรวมเพิ่มเป็นกว่า 60,000 รายแล้ว เวียดนามยังมีอัตราฉีดวัคซีนต่ำที่สุดในอาเซียนในเวลานี้ที่ 1.22 เปอร์เซ็นต์

ข่าวที่เกี่ยวข้อง