รีเซต

หมอนิธิเสนอฉีดวัคซีนโควิด 'แบบไหน-ช่วงเวลาใด' มือเชื้อกลายพันธุ์ได้ดี

หมอนิธิเสนอฉีดวัคซีนโควิด 'แบบไหน-ช่วงเวลาใด' มือเชื้อกลายพันธุ์ได้ดี
TNN ช่อง16
7 กรกฎาคม 2565 ( 10:01 )
99

วันนี้ ( 7 ก.ค. 65 )ศ.นพ.นิธิ มหานนท์ เลขาธิการราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ และ ผอ.โรงพยาบาลจุฬาภรณ์ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก ระบุว่า ‘ฉีดวัคซีนเมื่อไหร่ดี’ จากที่มีคนถามผมมามากรายเป็นระยะๆว่าจะต้องฉีดวัคซีน เข็มสามบ้าง สี่บ้าง ห้าหกบ้าง เมื่อไหร่ดี ผมจะขอพยายามปรับจังหวะเวลาการฉีดให้เข้าใจกันและจำกันได้ง่ายๆนะครับ 

ถ้าใครติดตามที่ผมได้เล่าเรื่อง การระบาดของไวรัสโคโรนา2019 มา คงทราบดีว่าในระยะแรกๆที่การระบาดรุนแรงนั้นเราคาดการณ์อะไรไม่ได้เลยแต่ขณะนี้มันเริ่มคาดการณ์ได้ ว่ามันจะเริ่มระบาดกันช่วงไหนโดยเริ่มมีรูปแบบที่เกือบแน่นอนแล้ว  

ในประเทศหนาวก็จะระบาดหนักในช่วงหน้าหนาว ส่วนแถบบ้านเราก็จะเป็นช่วงปลายๆหน้าฝนต่อหน้าหนาว และบางทีอาจจะมีสองครั้งในปีหนึ่งๆ (โดยรอบที่สองเป็นการระบาดย่อยๆหลังจากเด็กเปิดเรียน) ซึ่งรูปแบบการระบาดแบบนี้เป็นรูปแบบการระบาดของไวรัสทางเดินหายใจเช่นไข้หวัดใหญ่เป็นต้น

ด้วยประเภทและชนิดของวัคซีนที่เรามีอยู่ในขณะนี้ กับการกลายพันธุ์ และการหลบหลีกภูมิคุ้มกันจากวัคซีนของสายพันธุ์ใหม่ๆ(แต่วัคซีนทุกๆชนิดยังป้องกันการป่วยหนัก และการเสียชีวิตได้ดีพอควร)นั้น ทำให้เรายังคงต้องฉีดวัคซีนกันไปเรื่อยๆ…..แต่ทำอย่างไรจะให้ได้พอดี ไม่มากไปไม่น้อยไป…….?????และพอดีจังหวะป้องกันได้ทุกครั้งก่อนระบาด 

ผมขอเสนอให้ฉีดวัคซีนกันจากนี้ไป ปีละ 2 ครั้ง ห่างกัน 6เดือน และเพื่อป้องกันให้ได้พอดีก่อนการระบาดแต่ละครั้ง(ถ้าโชคดีอาจเหลือปีละครั้ง ถ้ามีวัคซีนใหม่ๆกระตุ้นภูมิได้อยู่นานขึ้นและการกลายพันธุ์นั้นเข้าข้างเรา คือพันธุ์ใหม่หลบภูมิคุ้มกันไม่ได้เก่งนักหรือไม่ได้เลย) 

และปีละ 2 ครั้ง ในแถบประเทศเราควรจะเป็น ครั้งแรก กลางเดือนกรกฎาคม ไปจนถึง กลางกันยายน และครั้งที่สองคือช่วง กลาง มกราคมไปถึง กลางมีนาคม ส่วนใครที่ติดเชื้อไปแล้ว ก็รอสัก หนึ่งถึงสองเดือนหลังหายแล้วค่อย รับวัคซีนก็ได้ครับ  

ตอนนี้วัคซีนอะไรก็ใช้ได้จนกว่าจะมีวัคซีนที่ครอบคลุมสายพันธุ์ใหม่ๆถึงเวลานั้นเราค่อยปรับการรับวัคซีนกันใหม่ในตอนนั้น(โอกาสที่จะมีวัคซีนที่จำเพาะกับสายพันธุ์ที่ระบาดตรงๆในช่วงนี้เป็นไปได้ยากจนกว่าเราจะควบคุมการระบาดได้ดีกว่านี้) ตอนนี้มีอะไรฉีดไปก่อน ปีละสองครั้ง ไม่มากเกินไปไม่น้อยเกินไป


ข้อมูลจาก  :  เฟซบุ๊ก ศ.นพ.นิธิ มหานนท์ เลขาธิการราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์

ภาพจาก  :   AFP


ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง