รีเซต

ยักษ์ใหญ่เทคโนโลยีจีนร่วมสร้าง 'อินเทอร์เน็ตปลอดคาร์บอน'

ยักษ์ใหญ่เทคโนโลยีจีนร่วมสร้าง 'อินเทอร์เน็ตปลอดคาร์บอน'
Xinhua
30 มีนาคม 2564 ( 19:06 )
72
ยักษ์ใหญ่เทคโนโลยีจีนร่วมสร้าง 'อินเทอร์เน็ตปลอดคาร์บอน'

ปักกิ่ง, 30 มี.ค. (ซินหัว) -- อุตสาหกรรมอินเทอร์เน็ตของจีนมีการเติบโตอย่างแข็งแกร่งตลอดหลายทศวรรษที่ผ่านมา พร้อมกับปรากฏการณ์ "สูบพลังงาน" ของเหล่าศูนย์ข้อมูล เซิร์ฟเวอร์ขนาดใหญ่ และสถานีฐาน ทำให้บรรดาบริษัทเทคโนโลยีจีนเริ่มแสวงหาวิธีแก้ไขอันเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

 

 

รายงานจากสถาบันวิจัยพลังงานของการไฟฟ้าแห่งประเทศจีน (SGERI) ระบุว่าการใช้ไฟฟ้าเฉพาะของศูนย์ข้อมูลในปี 2020 อาจสูงเกิน 2 แสนล้านกิโลวัตต์ชั่วโมง คิดเป็นร้อยละ 2.7 ของการใช้ไฟฟ้าทั้งหมดในประเทศ และอาจเพิ่มเป็นร้อยละ 3.7 ภายในปี 2030 ด้วยปริมาณสูงเกิน 4 แสนล้านกิโลวัตต์ชั่วโมง

 

"การใช้ไฟฟ้าของอุตสาหกรรมอินเทอร์เน็ตจีนเติบโตในอัตราราวร้อยละ 10 ต่อปี และอาจจะเติบโตเป็นเท่าตัวภายใน 7-8 ปี จนกลายเป็นอุตสาหกรรมที่ใช้พลังงานมหาศาลในอนาคต" หวังหยวนเฟิ่ง ศาสตราจารย์จากมหาวิทยาลัยปักกิ่ง เจียวทง (BJTU) เผยกับสำนักข่าวซินหัว

 

 

หวัง ผู้เชี่ยวชาญด้านการลดการปล่อยคาร์บอนและผู้สนับสนุนการพัฒนาอันเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม กล่าวว่าบริษัทผู้ประกอบการในภาคอุตสาหกรรมอินเทอร์เน็ตจีนควรเร่งดำเนินการสร้างโครงสร้างพื้นฐานทางอินเทอร์เน็ตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมยิ่งขึ้น

 

 

ปัจจุบันเหล่ายักษ์ใหญ่แห่งวงการเทคโนโลยีจีน อาทิ หัวเหวย (Huawei) และเทนเซนต์ (Tencent) กำลังพยายามสรรสร้างอุตสาหกรรมอินเทอร์เน็ตที่มีการปล่อยคาร์บอนเป็นศูนย์ โดยเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ หัวเหวยได้เปิดตัวแนวทางสร้างเครือข่ายที่มีการปล่อยคาร์บอนเป็นศูนย์

 

 

หัวเหวยเปิดเผยแนวทางข้างต้น ณ งานมหกรรมเทคโนโลยีโทรศัพท์มือถือ โมบาย เวิล์ด คองเกรส เซี่ยงไฮ้ (Mobile World Congress Shanghai) ประจำปี 2021 โดยจะมุ่งลดขนาดสถานีฐาน ห้องเซิร์ฟเวอร์ ศูนย์ข้อมูล และเพิ่มการใช้พลังงานที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

 

 

โจวเถาหยวน รองประธานหัวเหวยและประธานสายผลิตภัณฑ์พลังงานดิจิทัลของหัวเหวย ระบุว่าหัวเหวยสามารถลดการใช้พลังงานด้วยการใช้เซิร์ฟเวอร์ที่มีประสิทธิภาพสูง ความต้องการพลังงานต่ำ และความครอบคลุมการใช้งานสูง รวมถึงลดการใช้พื้นที่ของสถานีฐาน

 

 

นอกจากนั้นโจวเสริมว่าศูนย์ข้อมูลของหัวเหวยสามารถใช้เทคโนโลยีทำความเย็นที่อาศัยการระเหยของน้ำทางอ้อม (indirect evaporative cooling) เพื่อประหยัดพลังงานได้ถึงร้อยละ 17 เมื่อเทียบกับระบบทำความเย็นด้วยน้ำแบบดั้งเดิม

 

 

ด้านเหยาหย่ง รองประธานอาวุโสของสู่กวง เอนเนอร์จี (Sugon Energy) แสดงความเชื่อมั่นว่าการพัฒนาเทคโนโลยีระบายความร้อนด้วยของเหลว ถือเป็นวิธีการที่ดีที่สุดในการแก้ไขปัญหาคอขวดด้านประสิทธิภาพการใช้พลังงานของศูนย์ข้อมูล

 

 

"เทคโนโลยีดังกล่าวสามารถช่วยยกระดับเสถียรภาพ ประสิทธิภาพ และอายุการใช้งานของเซิร์ฟเวอร์ รวมถึงปรับปรุงความหนาแน่นในการใช้งานเซิร์ฟเวอร์ ทำให้ศูนย์ข้อมูลมีความเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมยิ่งขึ้น สร้างเสียงรบกวนน้อยลง และนำความร้อนกลับมาใช้ประโยชน์ซ้ำเพิ่มขึ้น" เหยากล่าว

 

 

ฝ่ายเทนเซนต์เลือกก่อสร้างศูนย์ข้อมูลในภูมิภาคที่มีพลังงานสีเขียวเพียงพอ เช่น อำเภอหวยไหลของมณฑลเหอเป่ยทางตอนเหนือ ซึ่งมีไฟฟ้าพลังงานลมล้นเหลือ หรือเมืองชิงหย่วนของมณฑลกว่างตง (กวางตุ้ง) ทางตอนใต้ ซึ่งมีไฟฟ้าพลังน้ำเหลือเฟือ

 

 

ศูนย์ข้อมูลของเทนเซนต์ในเมืองชิงหย่วนใช้ไฟฟ้าพลังน้ำควบคู่กับโมดูลไฟฟ้าที่มีประสิทธิภาพสูง และเทคโนโลยีทำความเย็นแบบอิสระ (free cooling) ที่ใช้แหล่งความเย็นตามธรรมชาติ เพื่อตัดลดค่าประสิทธิภาพการใช้ไฟฟ้า (PUE) ลงอยู่ที่ 1.25

 

 

อนึ่ง ค่าประสิทธิภาพการใช้ไฟฟ้า (PUE) เป็นมาตรวัดการใช้ไฟฟ้าอย่างคุ้มค่าและมีประสิทธิภาพของศูนย์ข้อมูลคอมพิวเตอร์ โดยศูนย์ข้อมูลใดมีค่าพียูอีลดต่ำลงจะเท่ากับว่าศูนย์ข้อมูลนั้นมีความเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น

 

 

กระทรวงอุตสาหกรรมและเทคโนโลยีสารสนเทศ สำนักบริหารสำนักงานรัฐบาลแห่งชาติ และสำนักบริหารพลังงานแห่งชาติของจีน ร่วมออกแนวปฏิบัติส่งเสริมศูนย์ข้อมูลที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมในปี 2019 ซึ่งเสนอว่าศูนย์ข้อมูลขนาดใหญ่และขนาดใหญ่พิเศษสร้างใหม่ในจีนควรมีค่าพียูอีไม่เกิน 1.4 ภายในปี 2022

 

 

สารพัดมาตรการเหล่านี้เป็นส่วนหนึ่งของความพยายามบรรลุการพัฒนาที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและมีคุณภาพสูงของจีน โดยจีนจะจัดทำแผนปฏิบัติการที่มุ่งให้การปล่อยคาร์บอนแตะระดับสูงสุดภายในปี 2030 และปรับปรุงโครงสร้างอุตสาหกรรมและสัดส่วนพลังงาน

 

 

 

เทนเซนต์ได้ใช้เทคโนโลยี "ไตรอุปทาน" (tri-supply) ช่วยประสานแหล่งจ่ายไฟฟ้า แหล่งทำความร้อน และแหล่งทำความเย็นในศูนย์ข้อมูล เพื่อยกระดับประสิทธิภาพการใช้พลังงานอย่างครอบคลุม รวมถึงใช้พลังงานสะอาดที่ผลิตจากระบบพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคาด้วย

 

 

ศูนย์ข้อมูลของเทนเซนต์ในเมืองชิงหย่วนมีกำลังการผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ติดตั้งบนหลังคารวมอยู่ที่ 13.3 เมกะวัตต์ ส่วนเทคโนโลยีไตรอุปทานช่วยประหยัดถ่านหินมาตรฐาน 3,500 ตัน และตัดลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ 23,300 ตันต่อปี ซึ่งเทียบเท่าการปลูกต้นไม้ 36,000 ต้นต่อปี

 

 

แม้โครงสร้างพื้นฐานทางอินเทอร์เน็ตจะยกระดับประสิทธิภาพการใช้พลังงานได้ไม่มาก แต่ศาสตราจารย์หวังชี้ว่าการยกระดับต่อเนื่องย่อมสร้างความแตกต่างขนานใหญ่ พร้อมเรียกร้องบริษัทอินเทอร์เน็ตจีนขยายเทคโนโลยีปล่อยคาร์บอนเป็นศูนย์สู่ภาคส่วนอื่นๆ และช่วยอุตสาหกรรมดั้งเดิม

 

 

ด้านหัวเหวยดำเนินโครงการพลังงานแสงอาทิตย์อัจฉริยะที่ผสานปัญญาประดิษฐ์ (AI) คลาวด์คอมพิวติง (cloud computing) และสถานีพลังงานแสงอาทิตย์แบบดั้งเดิม ซึ่งสามารถผลิตไฟฟ้าได้มากกว่าสถานีพลังงานแสงอาทิตย์แบบดั้งเดิมถึงร้อยละ 18.7

 

 

ปัจจุบันการผลิตพลังงานที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและภาคส่วนที่ใช้ไฟฟ้าอย่างมีประสิทธิภาพของหัวเหวย ได้ผลิตไฟฟ้าที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมสูงถึง 3.25 แสนล้านกิโลวัตต์ชั่วโมง และประหยัดไฟฟ้าสูงถึง 1 หมื่นล้านกิโลวัตต์ชั่วโมง ซึ่งเทียบเท่าการปลูกต้นไม้ 220 ล้านตัน

 

 

โพนี หม่า ประธานเทนเซนต์และสมาชิกสภาผู้แทนประชาชนแห่งชาติจีน (NPC) ชุดที่ 13 ซึ่งร่วมประชุมสภาฯ ชุดที่ 13 ครั้งที่ 4 ได้ผลักดันข้อเสนอให้บริษัทเทคโนโลยีช่วยวางแนวทางสร้างความเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมแก่ภาคอุตสาหกรรมพลังงานแบบดั้งเดิม

 

 

แนวทางสร้างความเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมเหล่านั้นที่มุ่งลดการปล่อยคาร์บอน อาจใช้เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์มาช่วยเพิ่มประสิทธิภาพของอัตราการเผาไหม้ของหม้อไอน้ำภายในโรงไฟฟ้าพลังความร้อนและแจกจ่ายกระแสไฟฟ้าได้อย่างยืดหยุ่นยิ่งขึ้น

ข่าวที่เกี่ยวข้อง