รีเซต

'วราวุธ'ห่วงลอบดักปลาทำลายปะการัง จ่อห้ามทำประมง 6 จว. 17 แห่ง

'วราวุธ'ห่วงลอบดักปลาทำลายปะการัง จ่อห้ามทำประมง 6 จว. 17 แห่ง
ข่าวสด
26 มีนาคม 2564 ( 15:57 )
129

'วราวุธ' ห่วงลอบดักปลาทำลายปะการัง 'ปลัดจตุพร' สั่งใช้กฎหมายจัดการเด็ดขาด 'กรมทะเล' จ่อประกาศมาตรการห้ามทำประมงบริเวณแหล่งปะการัง 6 จังหวัด 17 แห่ง

 

เมื่อวันที่ 26 มี.ค. นายวราวุธ ศิลปอาชา รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม(ทส.) กล่าวว่า นับตั้งแต่ ตนได้มีโอกาสลงพื้นที่ดำน้ำกับครอบครัวในช่วงวันเกิดตน เมื่อเดือนก.ค. 63 บริเวณเกาะเต่า และได้พบลอบดักปลาผิดกฎหมายทำการประมงอยู่บนกองปะการัง จึงได้โพสต์เตือนชาวประมงว่ามีโทษหนักทั้งจำและปรับ พร้อมสั่งการให้กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง(ทช.) ดำเนินการเก็บลอบดักปลาเหล่านั้นแล้ว

 

 

นอกจาก ลอบ อวนดักปลาจะเป็นปัญหาขยะทะเลแล้ว ยังทำความเสียหายต่อปะการัง ทั้งจากตอนยก ลาก ซึ่งทำให้ปะการังหักตายได้ นอกจากนี้ ตนได้ให้นโยบายในการหาแนวทางและมาตรการเพื่อควบคุม กำกับ และป้องกันเหตุการณ์เหล่านี้ ทั้งการประชาสัมพันธ์ การพัฒนากลไกการมีส่วนร่วมของชุมชนและชาวประมง รวมถึง การบังคับใช้กฎหมาย ซึ่งตนได้เร่งรัดติดตามการดำเนินงานมาโดยตลอด และหากมีพื้นที่ใดที่อาจจะได้รับผลกระทบในลักษณะนี้ ให้กำหนดมาตรการให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน

 

“อย่าทำการประมงแบบเห็นแก่ตัวบนแนวปะการัง อีกทั้งยังจะทิ้งเศษเชือก เศษอวน หรือเครื่องมือประมงไว้อีก อุปกรณ์ประมงสามารถหาซื้อใหม่เมื่อไหร่ก็ได้ ปะการังและความสมบูรณ์ของท้องทะเลไทยไม่สามารถหาซื้อที่ไหนมาทดแทนได้อีก”

 

 

นายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดทส. กล่าวว่า การดูแลแหล่งปะการังเป็นเรื่องที่ต้องใช้เครื่องมือ อุปกรณ์ นักดำน้ำผู้มีประสบการณ์สูง และที่สำคัญ ได้แก่ ความใส่ใจและความร่วมมือของพี่น้องประชาชนและนักท่องเที่ยวทุกคน

 

ตนได้เร่งรัดกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ในการกำหนดพื้นที่คุ้มครองทางทะเล โดยเฉพาะในพื้นที่ที่มีแหล่งปะการังที่สมบูรณ์ ตามมาตรา 20 แห่ง พ.ร.บ. ส่งเสริมการบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง พ.ศ. 2558 ซึ่งอาจต้องใช้เวลาตามกระบวนการกฎหมาย แต่หากมีความจำเป็นต้องประกาศเป็นกรณีเร่งด่วนเพื่อป้องกันความเสียหายต่อทรัพยากร สามารถใช้อำนาจตามมาตรา 17 ตาม พ.ร.บ. ดังกล่าวได้เลย

 

นายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดทส.

 

กระบวนการทางกฎหมายอาจจะต้องใช้เวลา แต่เมื่อกฎหมายเปิดช่องให้เราสามารถดำเนินการได้ทันที เราต้องทำทันที ซึ่งที่ผ่านมากรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งเคยได้ประกาศมาตรการคุ้มครองทรัพยากรทางทะเลไปแล้วหลายฉบับ อย่างไรก็ตาม ตนได้สั่งการให้สำรวจพื้นที่แหล่งปะการังอื่นเพิ่มเติม และหากจำเป็นต้องประกาศเพิ่มก็ให้เร่งดำเนินการทันที

 

นายโสภณ ทองดี อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง(ทช.) กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับการแก้ไขปัญหาระยะเร่งด่วน กรมทรัพยากรทางทะเลชายฝั่ง (ทช.) ได้ระดมนักดำน้ำดำเนินการจัดเก็บลอบดักปลาที่จมทิ้งอยู่ใต้ทะเล รวมถึงเศษเชือก อวน บริเวณเกาะเต่า และดำน้ำสำรวจอีกหลายพื้นที่ และได้ประกาศคำสั่งกำหนดมาตรการคุ้มครองทรัพยากรปะการังในบริเวณกองหินใต้น้ำไปแล้ว

 

โดยล่าสุด เมื่อวานนี้ (25มี.ค.) ตนได้ลงนามในคำสั่งกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ที่ 464/2564 เรื่อง การคุ้มครองทรัพยากรปะการังในบริเวณพื้นที่กองหินใต้น้ำพื้นที่ 6 จังหวัด คือ จ.จันทบุรี จ.ระยอง จ.ชุมพร จ.สุราษฎร์ธานี จ.ปัตตานี และจ.พังงา ซึ่งมีพื้นที่กองหินใต้น้ำ เพิ่มเป็น 17 แห่ง อยู่ระหว่างรอลงประกาศในราชกิจจานุเบกษา คาดว่าจะประกาศได้ภายในเดือนเมษายน 2564 และมีผลบังคับใช้เป็นระยะเวลา 5 ปี นับจากวันที่ประกาศ

 

นายโสภณ ทองดี อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง(ทช.)

 

ซึ่งตามคำสั่งนี้ จะห้ามบุคคลใดเข้าไปทำการประมง ลอบ อวนทุกชนิดในบริเวณแนวปะการังใน 17 พื้นที่ ได้แก่ กองหินอ้ายลอบ อำเภอท่าใหม่ กองหินผุด อำเภอแหลมสิงห์ จังหวัดจันทบุรี กองหินอันซีน (Unseen) อำเภอเมือง กองหินเพิง อำเภอแกลง จังหวัดระยอง กองหินเจนทะเล กองหินพุ่ม อำเภอละแม จังหวัดชุมพร

กองหินชุมพร กองหินวง เกาะกงทรายแดง กองหินตุ้งกู กองหินใบ กองหินเกาะว่าว เกาะตุ้งกู เกาะตุ้งกา อำเภอเกาะพะงัน กองหินคันธุลี อำเภอท่าชนะ จังหวัดสุราษฎร์ธานี เกาะโลซิน จังหวัดปัตตานี กองหินหมูสัง เกาะดอกไม้ อำเภอเกาะยาว กองหินอีแต๋น พื้นที่อุทยานการเรียนรู้ใต้ทะเลเขาหลัก อำเภอตะกั่วป่า และกองหินริเซลิว อำเภอคุระบุรี จังหวัดพังงา

 

 

ทั้งนี้ หากฝ่าฝืนมีโทษปรับไม่เกิน 1 แสนบาท หรือจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือทั้งจำทั้งปรับ นอกจากนี้ ทาง ทช. ได้เร่งรัดมาตรการประชาสัมพันธ์และการสร้างการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนในการกำกับและดำเนินการตามมาตรการดังกล่าว รวมทั้ง เป็นการเตรียมความพร้อมสำหรับการเปิดการท่องเที่ยวภายหลังการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 อีกด้วย

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง