ก๊าซเรือนกระจกทุบสถิติโลก เหมือนย้อนไปสมัย 3-5 ล้านปีก่อน โลกเสี่ยงอุณหภูมิสูงเกิน 2 องศาเซลเซียส
เพทเทริ ทาลาส เลขาธิการองค์การอุตุนิยมวิทยาโลกแห่งสหประชาชาติ หรือ WMO ระบุว่า ก๊าซคาร์บอนไดอ็อกไซด์ หรือ CO2 อยู่ในชั้นบรรยากาศของโลกมานานนับหลายศตวรรษแล้ว โดยครั้งสุดท้ายที่โลกเคยมีระดับความเข้มข้นของก๊าซ CO2 ในชั้นบรรยากาศ ที่สูงเท่ากับในระดับปัจจุบัน คือเมื่อ 3-5 ล้านปีก่อน
ในเวลานั้น อุณหภูมิของโลกร้อนขึ้น 2-3 องศาเซลเซียส และระดับน้ำทะเลสูงกว่าระดับปัจจุบัน 10-20 เมตร แต่ข้อแตกต่างที่สำคัญกับปัจจุบันนี้คือ เมื่อ 3-5 ล้านปีก่อนนั้น โลกยังไม่ได้มีประชากรมากถึง 7.8 พันล้านคนอย่างในวันนี้
เลขาธิการ WMO ระบุด้วยว่า ก๊าซ CO2 ในชั้นบรรยากาศโลก พุ่งสูงถึงระดับ 400 ส่วนต่อล้านส่วนตั้งแต่ปี 2015 เป็นต้นมา และเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วมาโดยตลอดหลังจากนั้น
◾◾◾
🔴 โควิด-19 ไม่ช่วยลดโลกร้อน
สำหรับปี 2020 รายงานประจำปีของ WMO พบว่า ระดับความเข้มข้นของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์พุ่งขึ้นไปอยู่ที่ 413.2 ส่วนต่อหนึ่งล้านส่วน สูงสุดทุบสถิติโลกใหม่อีกครั้ง ทั้ง ๆ ที่เกิดการระบาดของโควิด-19 ที่นำไปสู่การล็อกดาวน์และลดกิจกรรมทางเศรษฐกิจก็ตาม โดยสูงกว่าระดับของก๊าซ CO2 ในยุคก่อนการปฏิวัติอุตสาหกรรม ถึง 149%
นั่นหมายความว่า โลกกำลังออกนอกเส้นทางที่จะไปสู่การบรรลุเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจก
WMO เตือนว่า โลกจะร้อนมากขึ้นไปอีก อุณหภูมิของโลกจะพุ่งสูงเกินกว่าเป้าหมายระดับอุณหภูมิที่กำหนดไว้ใน “ข้อตกลงปารีส” เพื่อแก้ปัญหาสภาพภูมิอากาศโลกเปลี่ยนแปลง หรือ Climate Change ที่ขณะนี้กำลังเข้าขั้นหายนะ
ทั้งนี้ ข้อตกลงปารีสได้กำหนดเป้าหมายควบคุมอุณหภูมิของโลก ไม่ให้สูงเกินกว่า 1.5 – 2 องศาเซลเซียส ของอุณหภูมิโลกในช่วงยุคก่อนการปฏิวัติอุตสาหกรรม
ข่าวร้ายนี้ออกมาก่อนหน้าที่ผู้นำทั่วโลก กำลังจะประชุมแก้ปัญหาสภาพภูมิอากาศโลกเปลี่ยนแปลง หรือ COP26 ที่เมืองกลาสโกว์ ของสก็อตแลนด์ ในวันอาทิตย์ที่จะถึงนี้ (31 ตุลาคม)
◾◾◾
🔴 “ไม่มีเวลาเหลือแล้ว”
รายงานของ WMO เป็นการรวบรวมข้อมูลโดยเครือข่ายเฝ้าระวังปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ยังเหลืออยู่ในชั้นบรรยากาศ
รายงานยังพบว่า ความเข้มข้นของก๊าซคาร์บอนฯ ในปีที่แล้วนั้นยังเพิ่มขึ้น แม้ว่าจะมีการปล่อยก๊าซคาร์บอนฯจากพลังงานเชื้อเพลิงลดลงไปราว 5.6% เพราะมาตรการควบคุมโควิด-19 ก็ตาม
ทาลาส กล่าวว่า ระดับก๊าซคาร์บอนฯที่มากกว่า 400 ส่วนต่อหนึ่งล้านส่วนนั้น ส่งผลลบมากต่อการใช้ชีวิตและความเป็นอยู่ของผู้คน ตลอดจนสภาพของโลกและอนาคตของคนรุ่นลูกรุ่นหลานของเรา
เขากล่าวว่า เราจำเป็นต้องทบทวนระบบขนส่ง พลังงาน และอุตสาหกรรมใหม่ รวมถึงวิถีชีวิตทั้งหมด การเปลี่ยนแปลงที่จำเป็นนั้นทำได้ทั้งในแง่ของงบประมาณและในเชิงเทคนิค ตอนนี้ไม่มีเวลาเหลือแล้ว
ทั้งนี้ บรรดานักวิทยาศาสตร์ต่างกล่าวว่า แม้โลกจะพยายามตัดลการปล่อยก๊าซให้มากขึ้นในตอนนี้ แต่โลกก็จะยังคงร้อนต่อไปเพราะก๊าซคาร์บอนที่ปล่อยมาในอดีตนั้นจะยังอยู่ในชั้นบรรยากาศไปหลายศตวรรษ และการปล่อยก๊าซคาร์บอนที่มาจากกิจกรรมของมนุษยนั้น ส่วนใหญ่จากการเผาไหม้ของเชื้อเพลิงเช่นน้ำมัน และก๊าซ ตลอดจนการผลิตซีเมนต์นั้น คิดเป็นสองในสามของการทำให้สภาพอากาศอุ่นขึ้น
—————
เรื่อง: ธันย์ชนก จงยศยิ่ง
ภาพ: Thomas Millot