รีเซต

เงินเฟ้อ ก.พ. ดีดแรง 5.28% สุงสุดรอบ 13 ปี สนค.ห่วง มีโอกาสยังสูงได้อีก 4-5%

เงินเฟ้อ ก.พ. ดีดแรง 5.28% สุงสุดรอบ 13 ปี สนค.ห่วง มีโอกาสยังสูงได้อีก 4-5%
มติชน
4 มีนาคม 2565 ( 12:02 )
97

นายรณรงค์ พูลพิพัฒน์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า ( สนค.) เปิดเผยว่า ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไป(เงินเฟ้อทั่วไป) เดือนกุมภาพันธ์ 2565 เท่ากับ 104.10 สูงขึ้น 5.28 % เทียบเดือนกุมภาพันธ์ 2564 และสูงขึ้น 106% จากเดือนมกราคม 2565 สาเหตุหลักจากสินค้าในกลุ่มพลังงาน สินค้าในหมวดอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ ปรับสูงขึ้นตามต้นทุนการผลิตและราคาวัตถุดิบ อาทิ เนื้อสุกร ผักสด และฐานราคาเดือนกุมภาพันธ์ 2564 ต่ำสุดในรอบปี 2564 โดยเงินเฟ้อพื้นฐาน (หักอาหารสดและพลังงานออก) สูงขึ้น 1.80 % และสูงขึ้น 0.52 % จากเดือนมกราคม 2565 และเฉลี่ย 2 เดือน 2565 เงินเฟ้อ สูงขึ้น 4.25 %

 

“อัตราเงินเฟ้อเดือนกุมภาพันธ์ปีนี้ เป็นอัตราสูงสุดในรอบ 13 ปี นับจาก 2552  ซึ่งทิศทางเงินเฟ้อจากนี้มีโอกาสยังสูงได้อีก 4-5% หากราคาน้ำมันสูงต่อเนื่อง และสูงเฉลี่ยเกิน 100 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล เพราะน้ำมันเป็นสัดส่วน 62.26% ในการคำนวณเงินเฟ้อ บวกกับภาวะราคาสินค้าที่เอกชนส่งสัญญาณจะปรับขึ้น เงินเฟ้อที่สูงขึ้นในเดือนกุมภาพันธ์ ยังมาบ่งชี้หรือเป็นเหตุเดียวที่ระบุมาจากค่าครองชีพ เนื่องจากราคาน้ำมันและธัญพืชสูงหลังจากเหตุการณ์สงครามรัสเซีย-ยูเครน ก็ต้องติดตามว่าจะยืดเยื้อและส่งผลต่อราคาพลังงานและวัตถุดิบโลกแค่ไหน เชื่อว่าธนาคารแห่งประเทศไทยและรัฐบาลก็ติดตามเพื่อใช้มาตรการต่างๆ ส่วนจะทบทวนคาดการณ์เงินเฟ้อปีนี้ที่เดิมกำหนดไว้ 0.7-2.4 % ค่ากลางที่ 1.5% ต้องดูสถานการณ์ใน 3-4 เดือนแรกของปีก่อน ซึ่งอาจมีการทบทวนตัวเลขคาดการณ์หลังเดือนมีนาคมนี้ “

 

นายรณรงค์ กล่าวว่า สาเหตุต่อเงินเฟ้อเดือนกุมภาพันธ์ปีนี้ สูงจากสินค้าในกลุ่มพลังงาน ที่ส่งผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อมต่อเงินเฟ้อ โดยราคากลุ่มพลังงาน เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปี 2564 สูงขึ้น 29.22 % จาก 19.22% โดยเฉพาะราคาน้ำมันเชื้อเพลิง และค่ากระแสไฟฟ้า ปรับสูงขึ้นค่อนข้างมาก รวมถึง ราคาสินค้าในหมวดอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ เทียบกับเดือนเดียวกันของปี 2564 สูงขึ้น 4.51% จาก 2.39% อาทิ เนื้อสัตว์ ไข่ไก่ ผักสด อาหารบริโภคในบ้านและนอกบ้าน และเครื่องประกอบอาหาร ซึ่งปรับสูงขึ้นตามต้นทุนการผลิตและราคาวัตถุดิบที่แพงขึ้น นอกจากนี้ จากการที่อัตราเงินเฟ้อสูงขึ้น 5.28 %
แต่อย่าวไรก็ตาม ยังมีสินค้าสำคัญหลายรายการที่ราคาปรับลดลง ทั้ง ข้าวสารเหนียว ข้าวสารเจ้า ผลไม้สด เสื้อผ้า ค่าเช่าบ้าน และค่าเล่าเรียน จากมาตรการช่วยเหลือของภาครัฐ ซึ่งสามารถช่วยบรรเทาปัญหาราคาสินค้าแพงในช่วงระยะเวลานี้ได้เป็นอย่างดี

 

สำหรับดัชนีราคาผู้บริโภค เทียบกับเดือนมกราคม 2565 สูงขึ้น 1.06 % เป็นการสูงขึ้นในอัตราที่ชะลอตัว จาก 1.13% ในเดือนก่อนหน้า ตามการลดลงของเนื้อสุกร ผักสด และผลไม้ รวมทั้ง การสูงขึ้นในอัตราที่น้อยลงของไก่สด ไข่ไก่ และน้ำมันเชื้อเพลิง จากมาตรการของกระทรวงพาณิชย์ และการลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซลเป็นสำคัญ

 

ขณะที่ดัชนีราคาผู้ผลิต เดือนกุมภาพันธ์ 2565 สูงขึ้น 9.4 จาก 8.7% ในเดือนก่อนหน้า จากต้นทุนการผลิตและราคาวัตถุดิบที่ปรับเพิ่มขึ้นตามราคาในตลาดโลก โดยเฉพาะราคาสินค้าในกลุ่มปิโตรเลียม ก๊าซธรรมชาติและสินค้าที่เกี่ยวเนื่อง ประกอบกับฐานราคาปี 2564 ค่อนข้างต่ำ ส่งผลให้ดัชนีราคาผู้ผลิตสูงขึ้น ดัชนีราคาวัสดุก่อสร้าง สูงขึ้น 6.7 %จาก 6.1% ในเดือนก่อนหน้า ตามต้นทุนการผลิตและวัตถุดิบที่ใช้ในการผลิตวัสดุก่อสร้าง โดยเฉพาะเหล็ก อลูมิเนียม และน้ำมัน ส่วนดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคโดยรวม ทรงตัวอยู่ที่ระดับ 44.6

 

นายรณรงค์ กล่าวว่า แม้ว่าเงินเฟ้อในเดือนนี้จะปรับตัวสูงขึ้นค่อนข้างมาก แต่ยังมีเครื่องชี้วัดเศรษฐกิจอื่นที่ส่งสัญญาณว่าเศรษฐกิจของไทยปรับตัวดีขึ้น (ข้อมูลล่าสุด ณ เดือนมกราคม 2565) ด้านอุปสงค์ ได้แก่ ยอดการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม ปริมาณรถจักรยานยนต์จดทะเบียนใหม่ ปริมาณจำหน่ายรถยนต์เชิงพาณิชย์ รายได้เกษตรกร ยอดการจัดเก็บภาษีธุรกรรมอสังหาริมทรัพย์ และการลงทุนภาคเอกชนปรับตัวสูงขึ้น ด้านอุปทาน ได้แก่ กำลังการผลิต และดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมปรับตัวสูงขึ้นเช่นกัน ซึ่งเครื่องชี้วัดเหล่านี้ สะท้อนให้เห็นว่าเศรษฐกิจของไทยกำลังขับเคลื่อนไปในทิศทางที่ดี ซึ่งจะเป็นการสร้างรายได้และเพิ่มกำลังซื้อให้กับภาคธุรกิจและประชาชนได้ในภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบัน

 

ทั้งนี้ แนวโน้มเงินเฟ้อทั่วไป เดือนมีนาคม 2565 ยังคงอยู่ในระดับสูง ตามราคาพลังงานที่ยังสูง (น้ำมันเชื้อเพลิง ค่ากระแสไฟฟ้า) เมื่อเทียบกับปีก่อน ซึ่งจะส่งผลให้ราคาสินค้าอุปโภคบริโภคปรับสูงขึ้นได้เช่นกัน รวมทั้งสินค้าในกลุ่มอาหารสำเร็จรูป และเครื่องประกอบอาหารเริ่มปรับตัวสูงขึ้น ประกอบกับฐานราคาในช่วงต้นปี 2564 ค่อนข้างต่ำ ซึ่งจะส่งผลให้เงินเฟ้อทั่วไปเพิ่มสูงขึ้นได้อีกทาง อย่างไรก็ตาม สินค้าที่เริ่มปรับตัวลดลง อาทิ กลุ่มอาหารสด โดยเฉพาะเนื้อสุกร ผักสด ผลไม้ รวมทั้งมาตรการภาครัฐในรูปแบบต่าง ๆ ที่คาดว่าจะมีอย่างต่อเนื่อง เพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายของประชาชน จะส่งผลให้เงินเฟ้อทั่วไปอยู่ในระดับที่เหมาะสม ทั้งนี้ กระทรวงพาณิชย์ คาดการณ์ว่าเงินเฟ้อในปี 2565 ยังคงมีความเสี่ยง และเคลื่อนไหวในช่วงกว้าง ซึ่งจะประเมินสถานการณ์และปรับตัวเลขคาดการณ์ให้มีความเหมาะสมในเดือนมีนาคม 2565

ข่าวที่เกี่ยวข้อง