ครม. ไฟเขียวติดโซลาเซลล์หนักไม่เกิน 20 กิโลกรัม ไม่ถือเป็นการดัดแปลงอาคาร

วันนี้ (6 พฤษภาคม 2568) นายคารม พลพรกลาง รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติหลักการร่างกฎกระทรวง ฉบับที่ .. (พ.ศ. ....) ออกตามความในพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 ตามที่กระทรวงมหาดไทย (มท.) เสนอและให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา โดยให้รับความเห็นของกระทรวงพลังงานและกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมไปพิจารณาดำเนินการต่อไปด้วย รวมทั้งให้กระทรวงมหาดไทยรับความเห็นของกระทรวงพลังงานไปพิจารณาดำเนินการต่อไปด้วย
นายคารม กล่าวว่า ร่างกฎกระทรวง ฉบับที่ .. (พ.ศ. ....) ออกตามความในพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 ที่กระทรวงมหาดไทยเสนอมีสาระสำคัญ เป็นการปรับปรุงกฎกระทรวง ฉบับที่ 11 (พ.ศ. 2528) ออกตามความในพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 และยกเลิกกฎกระทรวง ฉบับที่ 65 (พ.ศ. 2558) ออกตามความในพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 ซึ่งกำหนดให้การติดตั้งแผงเซลล์แสงอาทิตย์บนหลังคาของอาคารที่มีน้ำหนักรวมในบริเวณหนึ่งบริเวณใดไม่เกิน 20 กิโลกรัมต่อตารางเมตรไม่ถือเป็นการดัดแปลงอาคาร (เดิมกำหนดให้การติดตั้งแผงเซลล์แสงอาทิตย์บนหลังคาอาคารอยู่อาศัยที่มีขนาดพื้นที่ติดตั้งไม่เกิน 160 ตารางเมตร และมีน้ำหนักรวมไม่เกิน 20 กิโลกรัม ต่อตารางเมตร ต้องมีผลการตรวจสอบความมั่นคงแข็งแรงที่กระทำและรับรองโดยวิศวกรโยธาตามกฎหมายว่าด้วยวิศวกรว่าสามารถติดตั้งได้อย่างปลอดภัย และแจ้งให้เจ้าพนักงานท้องถิ่นทราบ ก่อนดำเนินการ)
เนื่องจากปัจจุบันรัฐบาลได้มีการส่งเสริมให้มีการใช้ไฟฟ้าจากแหล่งพลังงานทดแทนมากขึ้น ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของมาตรการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของประเทศโดยในปัจจุบันอาคารที่ไม่ใช่อาคารอยู่อาศัย เช่น โรงงานอุตสาหกรรม ห้างสรรพสินค้า มีการใช้ไฟฟ้าในปริมาณมากซึ่งการแก้ไขกฎกระทรวงดังกล่าวจะส่งผลให้อาคารที่ไม่ใช่อาคารอยู่อาศัยสามารถติดตั้งแผงเซลล์แสงอาทิตย์ได้และไม่ต้องมีผลการตรวจสอบความมั่นคงแข็งแรงหากแผงเซลล์แสงอาทิตย์มีน้ำหนักรวมไม่เกิน 20 กิโลกรัมต่อตารางเมตร เนื่องจากการแก้ไขให้สามารถติดตั้งแผงเซลล์แสงอาทิตย์ได้ไม่เกิน 20 กิโลกรัมต่อตารางเมตร จะไม่เป็นการเพิ่มน้ำหนักหรือส่งผลกระทบกับโครงสร้างของหลังคา ซึ่งจะช่วยลดขั้นตอนปฏิบัติที่อาจสร้างภาระเกินความจำเป็นให้แก่เจ้าของอาคาร
อีกทั้งยังสอดคล้องกับนโยบายการส่งเสริมให้มีการใช้ไฟฟ้าจากแหล่งพลังงานทดแทนตามมาตรการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของประเทศ ซึ่งที่ประชุมคณะกรรมการควบคุมอาคาร ครั้งที่ 1550 – 5/2567 เมื่อวันที่ 25 มกราคม 2567 และครั้งที่ 1551 – 6/2567 เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2567 มีมติเห็นชอบให้ดำเนินการต่อไปได้
ทั้งนี้ กระทรวงพลังงาน กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงอุตสาหกรรม และสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติเห็นชอบในหลักการโดยกระทรวงพลังงานเห็นว่า ควรมีการกำหนดแนวทางสำหรับการติดตั้งแผงเซลล์แสงอาทิตย์ของระบบผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคาให้มีความชัดเจน เพื่อป้องกันการตีความ ที่คลาดเคลื่อน และควรมีมาตรการการบริหารจัดการขยะอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อลดการสร้างมลพิษ สู่สิ่งแวดล้อม
กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมมีข้อสังเกตว่า ร่างกฎกระทรวงดังกล่าวมีการตัดข้อความ “โดยต้องมีผลการตรวจสอบความมั่นคงแข็งแรงที่กระทำและรับรองโดยวิศวกรโยธาตามกฎหมายว่าด้วยวิศวกรว่าสามารถติดตั้งได้อย่างปลอดภัยและแจ้งให้พนักงานท้องถิ่นทราบก่อนดำเนินการ” ออก จากกฎกระทรวง ฉบับที่ 65 (พ.ศ. 2558) ซึ่งความปลอดภัยในการติดตั้งแผงเซลล์แสงอาทิตย์บนอาคารเป็นสิ่งสำคัญ จึงควรให้มีการตรวจสอบความแข็งแรงหรือต้องติดตั้งโดยผู้เชี่ยวชาญที่มีความรู้หรือผ่านการอบรมแล้ว รวมทั้งควรคำนึงถึงการติดตั้งแผงเซลล์แสงอาทิตย์ที่อาจส่งผลกระทบกับอาคารข้างเคียง เช่น แสงอาทิตย์ ความร้อน เป็นต้น