สหรัฐอเมริกาเสนอโรงไฟฟ้านิวเคลียร์แบบใหม่ ขนใส่รถบรรทุกแค่คันเดียวก็พอ !
โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ (Nuclear Power Plant) เป็นหนึ่งในโรงไฟฟ้าที่มีกำลังการผลิตสูง ให้พลังงานที่สะอาดและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม แต่ว่าหนึ่งในข้อจำกัดคือการติดตั้งซึ่งต้องใช้พื้นที่มาก ยกตัวอย่างเช่น โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ครีม (CREAM: Central Argentina de Elementos Modulares) ในประเทศอาร์เจนตินานั้นมีพื้นที่ประมาณ 18,500 ตารางเมตร หรือคิดเป็นประมาณ 11 ไร่ กับ 2 งาน สำหรับการผลิตพลังงานไฟฟ้า 30 เมกะวัตต์ (MW)
แต่ว่าบริษัทนาโน นิวเคลียร์ เอเนอจี (NANO Nuclear Energy) ในสหรัฐอเมริกา ได้เปิดเผยแผนการพัฒนาให้โรงไฟฟ้านิวเคลียร์เล็กพอจะติดตั้งในคอนเทนเนอร์ของรถบรรทุกที่มีพื้นที่ประมาณ 42 ตารางเมตร และให้กำลังการผลิตไฟฟ้าถึง 20 เมกะวัตต์ (MW) ได้เป็นที่เรียบร้อยแล้ว
สตาร์ตอัปสหรัฐอเมริกาพัฒนารถบรรทุกโรงไฟฟ้านิวเคลียร์
โครงการดังกล่าวเป็นแผนการสร้างระบบผลิตไฟฟ้าจากเตาปฏิกรณ์แบบ SMR (Small Modular Reactor) ซึ่งมีขนาดขนาดเล็กและปรับแต่งให้เข้ากับพื้นที่ใช้งานได้ มาติดตั้งให้มีขนาดใกล้เคียงกับตู้บรรทุกสินค้าหรือตู้คอนเทนเนอร์มาตรฐานในสหรัฐอเมริกา ซึ่งจากการสืบค้นข้อมูลพบว่า มาตรฐานตู้สินค้าในทวีปอเมริกาเหนือนั้นมีขนาดใหญ่ที่สุดคือรุ่นความยาว 53 ฟุต หรือยาว 16.154 เมตร กว้าง 2.591 เมตร และสูง 2.896 เมตร หรือคิดเป็นพื้นที่ภายในได้ 41.86 ตารางเมตร ปริมาตร 121.21 ลูกบาศก์เมตร
โดยรถบรรทุกดังกล่าวจะมีกำลังการผลิตระหว่าง 1 - 20 เมกะวัตต์ (MW) ซึ่งในปัจจุบัน ทางบริษัทมีเทคโนโลยี SMR อยู่สองรุ่น ได้แก่รุ่น ซีอุส (ZEUS) ที่เป็นเตาปฏิกรณ์แบบแบตเตอรี (Battery reactor - radioisotope generator) หรือรุ่นที่ใช้การคายพลังงานจากกัมมันตรังสีมาผลิตไฟฟ้า กับรุ่น โอดิน (ODIN) ที่เป็นเตาปฏิกรณ์หล่อเย็นในความดันต่ำได้ (Low-pressure coolant reactor) แต่บริษัทไม่ได้เปิดเผยข้อมูลทางเทคนิคอื่น ๆ เพิ่มเติมในปัจจุบัน
ภาพใหญ่การใช้นิวเคลียร์ผลิตไฟฟ้าในสหรัฐอเมริกา
ทั้งนี้ เตาปฏิกรณ์รุ่นโอดินยังอยู่ในสถานะการพัฒนาต้นแบบเท่านั้น แต่ว่าได้ผ่านการวิเคราะห์และให้ข้อมูลเพื่อการพัฒนา (Pre-Conceptual Review) โดยห้องปฏิบัติการแห่งชาติที่ไอดาโฮ หรือไอเอ็นแอล (Idaho National Laboratory: INL) มาแล้ว ซึ่งไอเอ็นแอลคือหน่วยงานที่สามารถสร้างมาร์เวล (MARVEL) เตาปฏิกรณ์ที่เล็กที่สุดในโลกได้ในปี 2022 ที่ผ่านมา
เป้าหมายในปัจจุบันของสหรัฐอเมริกา คือการพัฒนาแหล่งจ่ายพลังงานสะอาดอย่างนิวเคลียร์ที่มีขนาดเล็กลงจากเดิมที่ต้องใช้โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ขนาดใหญ่ ไปสู่ยุคการให้พลังงานขนาดเล็กลงแต่กระจายทั่วประเทศมากขึ้นในอนาคต ซึ่งบริษัทได้ชูจุดเด่นของรถบรรทุกเตาปฏิกรณ์ว่าจะสามารถเข้าถึงและขนส่งได้ง่ายและปลอดภัยมากขึ้น รวมถึงมีอายุการใช้งานยาวนานถึง 15 ปี
โดยกระทรวงพลังงานของสหรัฐฯ (DoE) ระบุว่า สหรัฐฯ ต้องการต้องการกำลังการผลิตจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์อย่างน้อยอีก 200,000 เมกะวัตต์ หรือประมาณ 5 เท่า ของกำลังการผลิตไฟฟ้าของประเทศไทยในปัจจุบัน เพื่อให้บรรลุเป้าหมายการผลิตพลังงานให้ปล่อยคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ หรือเน็ตซีโร่ (Net-Zero) ในปี 2050 ที่จะถึงนี้
ข้อมูลจาก Interesting Engineering, NANO Nuclear Energy
ภาพจาก NANO Nuclear Energy