รีเซต

โควิด-19 : 5 กราฟิกอธิบายการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลกหลังการระบาดของไวรัสโคโรนา

โควิด-19 : 5 กราฟิกอธิบายการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลกหลังการระบาดของไวรัสโคโรนา
บีบีซี ไทย
8 พฤษภาคม 2563 ( 16:37 )
525
3

 

คุณทราบไหมว่า เรากำลังอยู่ในห้วงเวลาที่การปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกหรือ ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ลดต่ำสุดเป็นประวัติการณ์

งานวิจัยจากหลายแหล่ง บ่งชี้ว่า ภายในระยะเวลาไม่กี่เดือนหลังจากการระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ ได้ส่งผลกระทบอย่างน่าทึ่งต่อปริมาณการปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่ลดลงอย่างหาเหตุการณ์ใด ๆ ในรอบศตวรรษที่ผ่านมามาเทียบได้ ไม่ว่าจะเป็นสงครามโลก ภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ หรือแม้แต่โรคระบาดต่าง ๆ ในอดีต

 

Getty Images
จราจรบนท้องถนนแทบจะหายไปเลยในหลายเมืองทั่วโลก อย่างในนครลอสแอนเจลิส

 

อย่างไรก็ตาม แม้จะพบว่ามีการลดลงครั้งใหญ่ในปีนี้ แต่ว่าความเข้มข้นของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในบรรยากาศและภาวะโลกร้อนจะไม่คงที่ จนกว่าการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์

 

 

หากพิจารณาแผนภูมินี้ จะพบว่านับตั้งแต่การระบาดของไข้หวัดสเปนเมื่อกว่า 100 ปีก่อน ที่คร่าชีวิตไปหลายสิบล้านคน เราก็เริ่มพบว่าการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากการใช้น้ำมัน แก๊ซ และถ่านหิน มีปริมาณพุ่งสูงขึ้นอย่างมาก

 

 


 

ในขณะที่แหล่งพลังงานเหล่านั้นได้พลิกโฉมหน้าของโลก สารประกอบคาร์บอนดังกล่าวกลับแทรกซึมเข้ามาอยู่ในชั้นบรรยากาศพร้อมกับเร่งให้อุณหภูมิของโลกสูงขึ้นมากกว่า 1 องศาเซลเซียส นับตั้งแต่กลางทศวรรษ 1850

 

หากว่าระดับของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ยังไม่ลดลงอย่างรวดเร็ว ก็มีความเป็นไปได้ที่อุณหภูมิของโลกจะเพิ่มขึ้นราว 3-4 องศาเซลเซียส ภายในศตวรรษนี้

กราฟิกนี้ บอกว่าตลอดระยะเวลา 100 ปีที่ผ่านมา มีเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์สำคัญ ๆ ที่แสดงให้เห็นว่า มีความเป็นไปได้ที่ระดับของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จะลดลงอย่างมีนัยสำคัญ

 

 

อย่างกรณีวิกฤตการเงินโลกระหว่างปี 2008-2009 ที่ในความเป็นจริงแล้ว มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลดลงเพียงประมาณ 450 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เท่านั้นในห้วงเวลาดังกล่าว

 

ขณะที่เหตุการณ์สำคัญก่อนหน้านั้นได้ทำให้การปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ลดลงมากกว่า เช่น เมื่อสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2 การปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ลดลงราว 800 ล้านตัน

 

แต่ก็ยังน้อยกว่า ผลที่เกิดขึ้นจากภาวะเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ในช่วงต้นทศวรรษ 1980 และวิกฤตการณ์น้ำมันในช่วงปลายทศวรรษ 1970 ที่ในช่วงเวลาดังกล่าวทำให้ปริมาณคาร์บอนไดออกไซด์ลดลงราว 1,000 ล้านตัน พอมาถึงปี 2020 การระบาดครั้งใหญ่ของเชื้อไวรัสโคโรนากลับทำลายทุกสถิติที่ผ่านมา เมื่อเทียบกันในระยะเวลาเท่า ๆ กัน

 

ไม่กี่เดือนที่ผ่านมา ความต้องการพลังงานของโลกลดฮวบ สำนักงานพลังงานระหว่างประเทศ (International Energy Agency : IEA) ระบุว่า ทั่วโลกใช้พลังงานลดลง 6%ในปีนี้ หากจะบรรยายให้เห็นภาพคือ เทียบเท่ากับปริมาณความต้องการใช้พลังงานของอินเดียทั้งประเทศหายออกไปจากระบบ ซึ่งนั่นหมายถึงการลดลงครั้งใหญ่ของการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์

 

Getty Images

 

มีบทวิเคราะห์หลายชิ้น รวมทั้งรายงานจากเว็บไซต์ Carbon Brief ในอังกฤษ ระบุว่าการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลดลงราว 4-8% หรือคิดเป็นราว 2,000 - 3,000 ตันคาร์บอนไดออกไซด์ ซึ่งเป็นปริมาณมากราว 6 - 10 เท่าของปริมาณที่ลดลงในช่วงภาวะถดถอยทางเศรษฐกิจของโลกครั้งที่ผ่านมา

 

เพราะพวกเรากำลังเดินทางน้อยลง

โลกตัดขาดการเดินทางไม่ว่าจะเป็นทางอากาศหรือทางบก สืบเนื่องจากมาจากมาตรการการปิดเมือง ซึ่งเป็นสาเหตุให้ความต้องการใช้ไฟฟ้าของโลกก็ลดลงด้วย สำนักงานพลังงานระหว่างประเทศคาดว่าตัวเลขน่าจะลดลงราว 20% หากพิจารณาความต้องการใช้ไฟฟ้าทั้งปี คาดว่าจะลดลงราว 5% ถือเป็นอัตราลดลงมากที่สุดนับตั้งแต่ ภาวะเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ในทศวรรษ 1930

 

BBC

 

"นี่คือภาวะช็อกครั้งหนึ่งของประวัติศาสตร์อุตสาหกรรมพลังงานของโลก" ดร.ฟาร์ตี้ ไบโรล์ ผู้อำนวยการบริหารของสำนักงานพลังงานระหว่างประเทศกล่าว ความเปลี่ยนแปลงดังกล่าวกลายเป็นผลกระทบที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ต่อความต้องการใช้ถ่านหินของโลก ซึ่งคาดว่าจะลดลงราว 8% ในปีนี้

 

ลองมาดูที่จีน ประเทศแรกที่ดำเนินมาตรการทางเศรษฐกิจรับมือกับการระบาดของไวรัสโคโรนา ปริมาณการใช้ถ่านหินลดลงอย่างฮวบฮาบในช่วงแรก แม้ว่าสถานการณ์ขณะนี้จะกระเตื้องขึ้นมาแล้วก็ตาม แต่นักวิเคราะห์ด้านพลังงาานคาดการณ์ว่า ในแง่การผลิตไฟฟ้าในปีนี้ ปริมาณคาดว่าจะลดลงเกือบ 1% เท่านั้น

 

ด้านนักวิจัยหลายคนบอกว่า สาเหตุสำคัญที่ทำให้การปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในขณะนี้คือ ภาคการขนส่งทางถนนที่ลดลง

 

Getty Images
การจราจรทางอากาศลดลงกว่าครึ่งในสหรัฐฯ

ข้อมูลด้านการขนส่งทางถนนเฉลี่ยทั่วโลกจากสำนักงานพลังงานระหว่างประเทศระบุว่า กิจกรรมดังกล่าวลดลงกว่าครึ่งหนึ่งในช่วงสิ้นเดือนมี.ค.ที่ผ่านมา เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว

 

ดูจากแผนภูมิแล้วจะพบว่า ปริมาณจราจรบนถนนในเกือบทุกประเทศที่สำคัญ ลดลงอย่างมาก ซึ่งส่งผลต่อเนื่องไปยังการใช้น้ำมันที่ลดลงเป็นปริมาณมากเช่นกัน

 

"ย้อนกลับไป ยังช่วงภาวะถดถอยทางเศรษฐกิจในปี 2009 อุปสงค์ในการใช้น้ำมันโดยเฉลี่ยลดลงราว 1.3 ล้านบาร์เรลต่อปี เมื่อเทียบกับปี 2008 แต่มาปีนี้กลับพบว่าปริมาณความต้องการน้ำมันลดลงเฉลี่ยราว 10 ล้านบาร์เรลต่อปีจากปริมาณความต้องการของปี 2009" นายเอริค โฮล์ม เรโซ จากสถาบันวิจัยอิสระ Rystad Energy กล่าว

 

 


 

การสัญจรทางอากาศก็มีสภาพไม่ต่างกัน แต่ต่างกันตรงที่จำนวนและภูมิภาค เช่น ในยุโรป จำนวนเที่ยวบินลดลงราว 90% ในขณะที่ในสหรัฐอเมริกาดูเหมือนจะยืดหยุ่นมากกว่า ทำให้จำนวนเที่ยวบินลดลงราว 50% เท่านั้นเมื่อเที่ยบกับปีก่อน

 

อย่างไรก็ตาม โดยภาพรวมของโลก ความต้องการใช้เชื้อเพลิงเครื่องบินลดลง 65% ในเดือน เม.ย. เมื่อเทียบในช่วงเดียวกันของปีก่อน

 

"นี่ถือเป็นการลดลงเชิงสัมพัทธ์ครั้งใหญ่ในการจราจรทางอากาศ" รอบบี้ แอนดรูว์ นักวิจัยอาวุโสจากศูนย์วิจัยด้านธรรมชาติและสภาวะอากาศนานาชาติ (Centre for International Climate and Environmental Research: Cicero) กล่าว

 

โลกหลังจากนี้ไม่เหมือนเดิม

มาตรการปิดเมืองกลายเป็นสิ่งที่ทุกประเทศต้องดำเนินการเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา สิ่งนี้กลับทำให้การปล่อยก๊าซเรือนกระจกลดลงเช่นกันในหลายเมืองสำคัญของโลก เช่น ในกรุงปารีสของฝรั่งเศสและนครนิวยอร์กของสหรัฐฯ ในแผนภูมิต่างแสดงผลแตกต่างกัน โดยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในกรุงปารีสลดลงราว 72% ในเดือน มี.ค. เมื่อเทียบกับในภาวะปกติ ส่วนที่นครนิวยอร์กลดลงราว 10% เทียบกับช่วงเดียวกันในปีที่แล้ว

 

Getty Images
การปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในกรุงปารีสลดลงอย่างฮวบฮาบตั้งแต่บังคับใข้มาตรการปิดเมือง

แล้วต่างกันมากไหม

นายฟิลิป ซิเอ่ส์ จาก Institut Pierre Simon Laplace จากกรุงปารีสบอกว่า "ในเขตกรุงปารีส ไม่ได้มีโรงไฟฟ้าถ่านหิน หรือ นิคมอุตสาหกรรม และอีกอย่างที่ต่างกันคือขึ้นอยู่กับว่าระบบการทำความร้อนของอาคารใช้พลังงานจากไฟฟ้าหรือเชื้อเพลิงฟอสซิล สำหรับฝรั่งเศส ราว 70% แหล่งพลังงานไฟฟ้ามาจากนิวเคลียร์"

 

ขณะที่การปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในนครนิวยอร์ก มีส่วนเกี่ยวข้องกับการทำความร้อนในอาคาร ซึ่งมาจากโรงไฟฟ้าถ่านหินภายใต้มาตรการควบคุมจากเมือง ส่วนการเผาไหม้เชื้อเพลิงจากยานยนต์ถือว่ามีสัดส่วนน้อยมากเมื่อเทียบกับการใช้พลังงานรูปแบบอื่น ๆ

BBC

 

"ถ้าจะให้เดา หากว่าพวกเราปิดทั้งเมืองแล้วจะพบว่าการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จะลดลงเพียง 10%" ศ.โรซีน คอมมาน จากมหาวิทยาลัยโคลอมเบีย ในนครนิวยอร์ก กล่าว

 

"พวกเรายังคงปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์มากกว่า 80% จากอดีต ซึ่งยังถือว่าเป็นตัวเลขที่เยอะพอสมควร ดังนั้นการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมไม่ใช่สิ่งที่จะทำให้ปัญหานี้ได้รับการแก้ไข แต่พวกเราต้องการการเปลี่ยนแปลงเชิงระบบในแง่การผลิตและการจัดส่งพลังงาน" เขาระบุ

 

การปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์แตะจุดสุงสุดแล้วหรือยัง

ย้อนหลังไปเมื่อปี 2008 อุตสาหกรรมไฟฟ้าในยุโรปได้รับผลกระทบอย่างร้ายแรงจากภาวะเศรษฐกิจตกต่ำและความต้องการใช้พลังงานลดลงอย่างฉับพลัน แต่ความต้องการใช้ไฟฟ้ากระเตื้องขึ้นอีกครั้งเมื่อพลังงานจากแสงอาทิตย์และลมมีพัฒนาการที่ดีและสามารถตอบสนองความต้องการและการเติบโตของอุตสาหกรรมได้ นี่จึงกลายเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญที่ทำให้การใช้ถ่านหินหรือเชื้อเพลิงจากฟอสซิลไม่สามารถกลับมีบทบาทสำคัญดังเดิมได้

 

ผู้เชี่ยวชายหลายคนเชื่อว่าสิ่งเหล่านี้กำลังจะเกิดขึ้นท่ามกลางการระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา

"ราวกว่าครึ่งหนึ่งของโลก ได้เห็นแล้วว่าความต้องการเชื้อเพลิงจากฟอสซิลได้ผ่านจุดสูงสุดแล้ว" นายคิงส์มิลล์ บอนด์ จากสถาบันคลังสมองทางการเงิน Carbon Tracker ระบุและว่า "นี่เคยเกิดขึ้นแล้วในปี 2005 ในยุโรป และ 2007 ในสหรัฐฯ "

 

Getty Images
มลพิษทางอากาศคลี่คลายลงในบางพื้นที่ของเนปาล เนื่องจากมาตรการจำกัดบางประการ

นั่นหมายความว่า แนวโน้มความต้องการเข้าสู่ภาวะถดถอยมาตั้งแต่ตอนนั้นเป็นต้นมา โดยนายบอนด์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ความต้องการใช้ถ่านหินทั่วโลกได้ถึงจุดสูงสุดแล้วในปี 2013 โดยพิจารณาจากปริมาณความต้องการใช้รถยนต์

 

แบบเดิม (ใช้น้ำมัน) แตะจุดสูงสุดแล้วในปี 2017

ถามต่อไปว่าแล้วไวรัสโคโรนาจะส่งผลกระทบครั้งใหญ่การปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในปีที่แล้ว และกลายเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญหรือไม่ คำตอบคือไม่ได้รวดเร็วขนาดนั้น ยกตัวอย่างกรณีหลังวิกฤตการเงินโลกในปี 2009 ทำให้การปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ลดลงในปีถัดมาเกือบ 6%

 

สถานการณ์แบบนี้น่าจะเกิดขึ้นในสองถึงสามปีข้างหน้า

"ในจุดนี้ พวกเรายังไม่พบเจอสัญญานที่ชัดเจนใด ๆ ที่บ่งชี้ว่า การระบาดครั้งใหญ่ที่กำลังเกิดขึ้นในปัจจุบัน และมาตรการเชิงสังคมจะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงอย่างถาวรในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในอนาคตของโลก" นายรอบบี้ แอนดรูว์ จาก Cicero อธิบาย

 

Getty Images
อุตสาหกรรมน้ำมันต้องยุติการผลิตเนื่องจากความต้องการลดลง

 

หากว่า CO2 ลดลงเช่นนี้ทุกปีจะเป็นอย่างไร

หากว่าเราสามารถรักษาระดับการปล่อย CO2 เช่นนี้ทุกปี มีความเป็นไปได้ที่เราจะสามารถควบคุมอัตราการเพิ่มของอุณหภูมิโลกไม่เกิน 1.5 องศาเซลเซียสภายในศตวรรษนี้

 

"ถ้าโควิด-19 นำไปสู่การลดการปล่อย CO2 ราว 5% ในปีนี้แล้ว และสามารถรักษาระดับการลดเช่นนี้ได้ทุก ๆ ปี จนกว่าการปล่อย CO2 สุทธิเป็นศูนย์ในปี 2050" นายเกลน ปีเตอร์ส จาก Cicero กล่าวและว่า

 

"สิ่งเหล่านี้จะไม่เกิดขึ้นได้เลยผ่านการปิดเมืองหรือมาตรการจำกัดใด ๆ แต่ สิ่งที่สำคัญกว่านั้นคือ นโยบายด้านสภาวะอากาศที่จะกรุยทางสู่การใช้เทคโนโลยีสะอาดไปพร้อมกับการลดอุปสงค์ด้านพลังงาน"

 

ผู้เชี่ยวชาญด้านพลังงานเชื่อว่า มีโอกาสที่ความต้องการใช้พลังงานจะดีดกลับมาในปีหน้า แต่ว่าเพื่อการพัฒนาในระยะยาวโลกจำเป็นต้องมุ่งสู่กลุ่มเชื้อเพลิงสะอาดมากขึ้น แต่ก็ไม่อาจเพียงพอสำหรับการคงอุณหภูมิให้อยู่ในระดับต่ำและในเขตปลอดภัย

 

BBC

 

"ผมว่า ดูเหมือนว่าอาจจะไม่เป็นไปตามเป้าหมายในการควบคุมไม่ให้อุณหภูมิเพิ่มขึ้น 1.5 องศาเซลเซียส แต่ความเป็นไปได้จริง ๆ คือ ไม่ให้เพิ่มขึ้นเกิน 1.8-1.9 องศาเซลเซียสก็คือว่าประสบความสำเร็จแล้วในสถานการณ์ปัจจุบัน" นาย เอริค โฮล์ม เรโซ กล่าว

 

บทเรียนที่ได้คืออะไร

นักวิจัยด้านสภาวะอากาศหลายคนมองในแง่ดีว่า การแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาได้ให้บทเรียนสำคัญแก่รัฐบาล ว่าพวกเขาสามารถออกมาตรการต่าง ๆ เพื่อจัดการปัญหาโลกร้อนได้

 

ทว่า ความท้าทายที่สำคัญคือ การรื้อฟื้นความมุ่งมั่นในการมองหาความเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ศ.เกล ไวท์แมน จากมหาวิทยาลัยแลงคาสเตอร์แห่งสหราชอาณาจักรบอกว่า เป็นเรื่องที่แทบจะเป็นไปไม่ได้ที่จะเชื่อว่ารัฐบาลทั่วโลกจะให้ความสำคัญต่อมนุษยธรรมเหนือผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ เมื่อต้องเผชิญกับภาวะฉุกเฉินทางสุขภาพ แต่พวกเขาก็ทำได้

 

"ฉันคิดว่า เหตุการณ์นี้ได้มอบพลังอันยิ่งใหญ่ ที่ตอกย้ำความคิดที่เราสามารถสร้างความแตกต่างได้ในเรื่องการแก้ปัญหาสภาวะอากาศ" เธอกล่าว

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง