รีเซต

สศช. จับตาสงครามรัสเซีย-มาตรการคว่ำบาตร - ธอส. คาดปีนี้กทม.-ปริมณฑลเปิดโครงการใหม่พุ่ง

สศช. จับตาสงครามรัสเซีย-มาตรการคว่ำบาตร - ธอส. คาดปีนี้กทม.-ปริมณฑลเปิดโครงการใหม่พุ่ง
ข่าวสด
22 มีนาคม 2565 ( 15:20 )
70

นายวิชญายุทธ บุญชิต รองเลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) กล่าวในงานสัมมนาออนไลน์ “สถานการณ์ตลาดที่อยู่อาศัย ปี 2022” จัดโดย ศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ ว่า การเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขของเศรษฐกิจโลก มีแนวโน้มให้การขยายตัวทางเศรษฐกิจไทยในปี 2565 อาจต่ำกว่าที่คาดการเดิมว่าจะขยายตัวได้ 3.5-4.5% เว้นแต่กรณีสงครามรัสเซีย-ยูเครน ยุติลง และ มาตรการคว่ำบาตรรัสเซียของสหรัฐ ไม่ได้ขยายวงกว้างจากปัจจุบัน

 

ในส่วนของผู้ประกอบการ ซึ่งในปีนี้ต้นทุนการผลิตได้รับผลกระทบจากราคาสินค้าในตลาดโลกที่สูงขึ้น และเป็นปีเริ่มต้นของอัตราดอกเบี้ยในตลาดโลกปรับตัวเพิ่มสูงขึ้น กดดันให้อัตราดอกเบี้ยในประเทศปรับเพิ่มสูงขึ้นได้เช่นกัน

 

แต่อย่างไรก็ดี ในทุกวิกฤตที่เกิดขึ้นมีทั้งโอกาสและการสูญเสีย โดยเฉพาะหากวิกฤตรัสเซียยืดเยื้อ และเงินเฟ้อรุนแรง ก็จะมีสินค้าบางรายการที่ได้ประโยชน์จากราคาที่ปรับสูงขึ้น เช่น ราคาเกษตรเป็นต้น ในส่วนของภาคธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ที่ต้องเผชิญกับภาวะต้นทุนการผลิตและอัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้น แต่จากในอดีตจะพบว่าในสถานการณ์ที่ระดับราคาที่เพิ่มสูงขึ้น ภาคอสังหาริมทรัพย์ก็อยู่ในข่ายที่ได้ประโยชน์ หากได้เงื่อนไขราคาที่เหมาะสม

 

ทางด้านนายวิชัย วิรัตกพันธ์ ผู้ตรวจการธนาคาร และรักษาการผู้อำนวยการศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) กล่าวว่า ประเมินทิศทางตลาดที่อยู่อาศัยในปี 2565 จาก 8 ตัวแปรหลัก เรียงลำดับตามความสำคัญสูงสุด ประกอบด้วย อัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจไทย อัตราเฉลี่ยของดอกเบี้ยเอ็มอาร์อาร์ ผลกระทบเชิงนโยบายและสถานการณ์ที่สำคัญ อัตราเงินเฟ้อทั่วไป อัตราดูดซับบ้านจัดสรร อัตราดูดซับอาคารชุด กรุงเทพฯและปริมณฑล และอัตราดูดซับบ้านจัดสรร อัตราดูดซับอาคารชุดในส่วนของภูมิภาค ตามลำดับ

 

ทำให้คาดการณ์การเปิดตัวโครงการที่อยู่อาศัยใหม่ในเขตกรุงเทพฯ-ปริมณฑล ปี 2565 คาดว่าจะเพิ่มขึ้น 62.2% จากปี 2564 โดยอยู่ที่ 83,608 ยูนิต และคิดเป็นมูลค่า 3.86 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้น 76.6%

 

โดยเฉพาะการเปิดตัวใหม่ของโครงการคอนโดมิเนียมจะกลับมาเคลื่อนไหวอีกครั้งหลังจากที่ชะลอตัวต่อเนื่องมาถึง 2 ปี โดยคาดการณ์ว่าจะมีการเปิดตัวโครงการใหม่ประเภทโครงการอาคารชุดเพิ่มขึ้น 111.5% หรือจำนวน 44,519 ยูนิต คิดเป็นมูลค่า 1.77 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้น 184.7% ส่วนโครงการบ้านจัดสรร เพิ่มขึ้น 28.2% หรือคิดเป็นจำนวน 39,089 ยูนิต คิดเป็นมูลค่า 2.09 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้น 33.7% และคาดการยอดขายใหม่จะเพิ่มขึ้นด้วยเช่นกัน โดยคอนโดมิเนียมขายได้ใหม่จะเพิ่มขึ้น 40.1% หรือจำนวน 41,756 หน่วย คิดเป็นมูลค่า 1.65 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้น 34% และโครงการบ้านจัดสรรขายได้ใหม่ 35,466 ยูนิต เพิ่มขึ้น 10.4% คิดเป็นมูลค่า 1.8 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้น 3.4%

 

อย่างไรก็ดี ปัจจัยที่ต้องระมัดระวัง หากมีการแพร่ระบาดของไวรัสโควิค-19 มาก จนต้องมีการล็อกดาวน์ จะส่งผลให้ตลาดอสังหาริมทรัพย์ไม่กระเตื้องขึ้นเท่าที่ควร บ้านมือสองอาจจะเป็นสินค้าทดแทนบ้านใหม่ เนื่องจากมาตรการลดค่าธรรมเนียมการโอนและจดจำนองในปีนี้ครอบคลุมบ้านมือสอง ดังนั้น ผู้ประกอบการบ้านใหม่ต้องเพิ่มความระมัดระวังหากมีบ้านมือสองอยู่ในทำเลเดียวกัน นอกจากนี้ ยังคงต้องมีปัจจัยที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะอย่างยิ่งการปรับขึ้นของอัตราดอกเบี้ย ความผันผวนของราคาน้ำมันซึ่งมีผลต่ออัตราเงินเฟ้อ ดังนั้นการเปิดตัวโครงการใหม่จำเป็นต้องมีข้อมูลรองรับเพื่อลดความเสี่ยงในการลงทุน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง